สรกล อดุลยานนท์ : ความเสี่ยง

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

จำประโยคนี้ได้ไหมครับ

“ผมรู้ดีว่าการตัดสินใจของผมวันนี้ มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง

แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์ และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเปิดประเทศภายใน 120 วัน

ถ้านับจากวันนั้น 120 วันก็จะตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม

หรืออีก 33 วัน

แต่ถ้าคิดแบบ คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีบอกว่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม

120 วันก็ตรงกับวันที่ 25 ตุลาคม

แต่ถ้าคิดแบบโฆษกรัฐบาลคนก่อน คือ คุณอนุชา บูรพชัยศรี ที่บอกว่า 120 วันเป็นแค่หลักการ ค่อย ๆ ทยอยเปิด

ก็คือ ไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ จะเปิดประเทศให้ได้

คนไทยต้องอยู่กับโควิด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า

แต่ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเปิดประเทศ ยอดคนติดเชื้อใหม่แค่ 2,331 คน และเสียชีวิต 40 คน

วันนี้ตัวเลขคนติดเชื้อใหม่เกินกว่า 15,000 คน เสียชีวิตเกิน 200 คนต่อวัน

ส่วนตัวเลขคนฉีดวัคซีนวันนี้ เข็มแรกแค่ 27 ล้านคน เข็มที่สองประมาณ 12 ล้านคน เข็มที่ 3 ประมาณ 6 แสนคน

ถ้าคิดตามหลักความปลอดภัย คือ คนในประเทศต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ประมาณ 50 ล้านคน

การเปิดประเทศคงไม่ได้

แต่ถ้าดูจากมาตรการผ่อนปรนทางเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เปิดศูนย์การค้า ร้านอาหารให้นั่งกินได้ ฯลฯ

ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังสูงถึง 16,000 คน

อย่าลืมว่าตอนที่ล็อกดาวน์ครั้งที่แล้ว เกิดจากตัวเลขคนติดเชื้อแตะเข้า 10,000 คน ในวันที่ 17 กรกฎาคม

รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 19 กรกฎาคม

แต่วันนี้ตัวเลขยังสูงกว่าตอนล็อกดาวน์ แต่รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนแล้ว

แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ และทีมเศรษฐกิจประเมินแล้วว่า ถ้ายังใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อไป เศรษฐกิจไทยพังแน่

ต้องค่อย ๆ ผ่อนปรน

และหาวิธีอยู่กับโควิดให้ได้

การเปิดประเทศก็คงคิดแบบเดียวกัน เริ่มจาก “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” แล้วค่อย ๆ ทยอยเปิดเป็นจุด ๆ

ที่รัฐบาลอยากได้ที่สุดน่าจะเป็น กทม. เพราะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ

รัฐบาลจึงระดมฉีดวัคซีนใน กทม.มากที่สุด และตอนนี้ตัวเลขก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ยอดฉีดเข็มที่ 1 ประมาณ 7.5 ล้านคน เข็มที่สอง 2.6 ล้านคน และเข็มที่สาม 1.8 แสนคน

ประชากรใน กทม. 7.6 ล้านคน

ถ้าดูอัตราการฉีดวัคซีนต่อวัน คือ ประมาณ 60,000 โดสต่อวัน กทม.น่าจะพร้อมที่สุดเมื่อถึงวันที่จะเปิดประเทศ

น่าสนใจมากนะครับ ว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันกำหนดเดิมที่จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน

ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

ในมุมของภาคเอกชน แม้ว่าอยากให้เปิดประเทศ อยากให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

แต่ทุกคนก็เห็นบทเรียนจากต่างประเทศ ที่เกิดโควิดระลอกใหม่ขึ้นมาเวลาที่ผ่อนปรนมาก ๆ ในขณะที่ตัวเลขคนฉีดวัคซีนยังไม่ถึงระดับที่มีภูมิคุ้มกันหมู่

สมมุติว่าวันที่เปิดประเทศตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 5,000 คน คนเสียชีวิตต่ำกว่า 100 คน
แบบนี้ค่อยลุ้นหน่อย

แต่ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงเกิน 10,000 คน และเสียชีวิต 200 คนขึ้นไป

ผมไม่รู้ว่าภาคเอกชนยังจะอยากให้เปิดประเทศไหม


และ พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าเสี่ยงเปิดประเทศหรือเปล่า