หนุ่มเมืองจันท์: ปลาไม่รู้เป็น-รู้ตาย

คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เคยคุยกับนักธุรกิจโรงแรมคนหนึ่งเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว

เขาบอกว่าเจ้าของโรงแรมที่ “รอด” จากสถานการณ์โควิดมีอยู่ 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง คือ อึดไปจนฟ้าเปิด

จะลดค่าใช้จ่าย ควักทุนเก่าเพิ่ม หรือเอากำไรจากธุรกิจอื่นของตัวเองมาโปะ

เลี้ยงตัวไปเรื่อย ๆ จนโควิดจาง

เพราะวันหนึ่ง “โควิด” จะต้องหายหรือกลายเป็นโรคประจำถิ่น

วันนั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเหมือนเดิม

อาจไม่เยอะเหมือนในอดีต

แต่ก็มากพอที่จะขับเคลื่อนธุรกิจโรงแรมได้

โรงแรมเหล่านี้จะฟันกำไรมโหฬารเมื่อฟ้าเปิด

ถ้าถึงวันนั้น โรงแรมจะเหลือน้อยลง

เพราะล้มหายตายจากไปเยอะมาก

“ดีมานด์” กลับมา แต่ “ซัพพลาย” น้อยลง

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ตัดสินใจปิดตัวเองไปตั้งแต่โควิดระบาดใหม่ ๆ โควิดเริ่มมีผลต่อการท่องเที่ยวไทยประมาณต้นปี 2563

แต่ตอนระบาดระลอกแรก เมืองไทยผ่านไปได้อย่างสวยงามนักธุรกิจส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอีกไม่นานฟ้าจะเปิด

ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดระลอก 2-3-4 ตามมา และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากฟ้าจะไม่เปิดแล้ว

ฟ้ายังปิดแน่นกว่าเดิมอีก

ช่วงปี 2563 ถ้าโรงแรมไหนตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราว

หากมองย้อนกลับไปจากวันนี้

นักธุรกิจกลุ่มนี้คงชมตัวเองว่าตัดสินใจถูกต้อง

ปิดก่อน เจ็บก่อน

แต่เจ็บไม่มาก

ถ้าขายกิจการได้ก็ดี แต่ถ้าขายไม่ได้ก็ยังดีกว่ายื้อต่อ

โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็ก

หากใครยังเปิดกิจการอยู่ เขาจะขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลาปีกว่า

เพราะอัตราการเข้าพักก็ต่ำ

ค่าห้องก็ต่ำ

รายได้ไม่คุ้มกับรายจ่าย

พอวันนี้เจอระลอกที่ 5 “โอมิครอน” ซ้ำอีก บางคนก็ไปไม่ไหวแล้ว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ “รังสรรค์ ต่อสุวรรณ” นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ในอดีต

เขาเคยบอกว่า จุดที่แย่ที่สุดของธุรกิจ คือ ตอนที่อุ้มปลา “ไม่รู้เป็น-ไม่รู้ตาย”

เพราะถ้าตาย เราจะโยนทิ้งไป

แต่ถ้ารู้ว่าไม่ตายแน่ ๆ หรือ “ปลาเป็น”

เราจะได้ปล่อยให้ว่ายน้ำต่อ

แต่เมื่อไม่รู้ว่าปลาตัวนี้จะรอดหรือไม่รอด

ช่วงนี้จะเจ็บหนัก

เพราะเราต้องแบกปลาต่อไปเรื่อย ๆ

ใส่เงินเข้าไป เพราะคิดว่ามีโอกาสรอด

จะขาดทุนต่อเนื่องจนอาจทำให้ล้มละลายได้

ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ปลาตัวนี้จะรอดหรือไม่รอด

ผมเคยถามคำถามนี้กับนักธุรกิจใหญ่หลายคน

อยากรู้หลักการตัดสินใจว่า อะไรควรเลิก อะไรควรทำต่อ
ไม่มีใครตอบได้

ผมเชื่อว่ามันเป็นสัญชาตญาณที่มาจากประสบการณ์ของแต่ละคน

รวมทั้ง “ความลึก” ของกระเป๋าด้วย

ใครที่สายป่านยาว หรือมีกำไรจากธุรกิจอื่น

เขาก็พร้อมจะทนอุ้มปลาตัวนี้ได้นาน

แต่ถ้าเป็นคน “กระเป๋าตื้น”

แบบนี้อาจต้องตัดสินใจเร็วหน่อย

ไม่เช่นนั้น “กระเป๋า” อาจทะลุ