Market-think: ความไม่รู้

ชัชชาติ สุทธิพันธุ์
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคุณเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ “แสนสิริ” ในงานเสวนาของ “มติชน”

คลิปและเนื้อหาการเสวนาดูได้จากทางเว็บไซต์ “มติชน” และ “ประชาชาติธุรกิจ”

รับรองว่า 1 ชั่วโมงกว่าของการเสวนาเปี่ยมไปด้วยความรู้และความหวัง

มีประเด็นเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากในการเสวนาครั้งนี้

คือ เรื่องที่ “ชัชชาติ” นำแอพพ์ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” มาใช้เพื่อเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับ กทม.

กลายเป็นมิติใหม่ทางการเมือง

“ชัชชาติ” บอกว่า ระบบในอดีตจะเป็นแบบ “ไปป์ไลน์”

มีเรื่องร้องเรียนมาที่ผู้ว่าฯ

ผู้ว่าฯส่งเรื่องต่อให้รองผู้ว่าฯ

ผ่านไปทางปลัด กทม. ไปเรื่อย ๆ จนถึงเจ้าหน้าที่

เหมือนมีท่อเชื่อมโยงระหว่างคนที่มีปัญหา กับคนแก้ปัญหา

ข้อต่อเยอะไปหมด

“ใครเส้นใหญ่ก็มีท่อใหญ่ พรวดเดียวถึง ส่วนคนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีท่อก็ติดอยู่ตรงนั้น”

แต่ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” เป็นระบบ “แพลตฟอร์ม” เหมือนแกร็บ อูเบอร์ ฯลฯ

เป็นกระดานใหญ่ ๆ ใครมีปัญหาก็เขียนลงบนกระดาน

คนที่รับผิดชอบ เมื่อเห็นคนเขียนปัญหาบนกระดานก็หยิบไปแก้ไข

ผู้ว่าฯ ไม่ต้องสั่งการ

ผู้อำนวยการเห็น มาล้วงลูกจากแพลตฟอร์มเองได้เลย

สิ่งที่ “ชัชชาติ” ไม่ได้พูดก็คือ บนกระดานนี้ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยการเขต และประชาชนเห็น

อีกคนสำคัญคนหนึ่งที่ยืนมองอยู่ คือ “ชัชชาติ”

เขาเหมือนเป็นเงาของ “ฉลาม”

เจ้าหน้าที่ของ กทม.ก็เหมือนกับ “ปลา”

จากที่อยู่นิ่ง ๆ พอเห็นเงาฉลามปั๊บ ก็ว่ายอย่างเร็วทันที

แพลตฟอร์มแบบนี้จึงทลายระบบ “ไซโล” ในองค์กรที่แต่ละคนทำงานแบบตัวใครตัวมัน

เพราะปัญหาอยู่บนกระดานดำแล้ว

“ชัชชาติ” เชื่อว่าต่อไป “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” จะทะลุทะลวงออกไปนอก กทม.

เพราะปัญหาเรื่องประปา ไฟฟ้า อาชญากรรม ฯลฯ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ

“สุดท้ายทุกฝ่ายต้องส่งคนมาร่วมกับเรา”

การนำแพลตฟอร์ม “ทราฟพี่ ฟองดูว์” มาใช้ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการ “ทำน้อยได้มาก” ซึ่งเป็นหลักคิดในการทำงานของ “ชัชชาติ”

อีกเรื่องหนึ่งที่เขาพูดบนเวทีเสวนา คือ การชื่นชมทีมงาน

“ผมมีทีมงานที่ดี และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สำเร็จ คือ ทีมงานของผมไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยทำการเมือง ไม่เคยเป็นข้าราชการมาก่อน”

เพราะถ้าเป็นนักการเมือง หรือรับราชการมาก่อน

ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจะเป็น “กรอบ” แบบเดิม ๆ

แต่เพราะคนรุ่นใหม่ ทีมงาน “ชัชชาติ” ไม่เคยมี “กรอบประสบการณ์” มาก่อน

ทุกคนจึงกล้าคิดนอกกรอบ

นำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ที่คนเก่า ๆ ไม่เคยทำ

ความสำเร็จในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างของการเปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” ได้คิด

และยอมรับแนวคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม

เหมือนการทำธุรกิจ มีคนเคยบอกว่า “คู่แข่ง” ที่น่ากลัวที่สุด คือ รายใหม่ที่ไม่เคยทำธุรกิจนี้มาก่อน

ถ้าเป็นคู่แข่งเดิม นอกจากเราจะรู้มือกันแล้ว

คู่แข่งยังติดกรอบความคิดแบบเดิม ๆ เหมือนกับเรา

รับมือไม่ยาก

แต่ถ้าเจอ “คู่แข่งรายใหม่” เหมือนคนต่างถิ่นที่เดินเข้ามา

เขาจะไม่มีกรอบ

เพราะไม่เคยทำธุรกิจนี้มาก่อน

แบบนี้น่ากลัว

เพราะไม่รู้ว่าจะเดินเกมแบบไหน

เรามี “ความรู้” เก่าที่สั่งสมจากประสบการณ์

แต่เขามี “ความรู้” ใหม่ ที่เรียกว่า “ความไม่รู้”

ไม่มีประสบการณ์

ไม่ติดกรอบอะไร

ครับ “ความไม่รู้” คือ “ความรู้” อย่างหนึ่ง