ไทยพาณิชย์ กลับหัวตีลังกา จริงหรือ (1)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

ถ้อยแถลงธนาคารไทยพาณิชย์กับข้อความอันตื่นเต้นที่ว่า “กลับหัวตีลังกา” คงไม่เพียงเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ หากเป็น “แรงสั่นสะเทือน” ทั้งระบบทีมผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงข่าวครั้งใหญ่ เป็นข่าวครึกโครมไปทั่ว “22 มกราคม 2561-ผ่ายุทธศาสตร์ไทยพาณิชย์ ‘Going Upside Down’ (กลับหัวตีลังกา) เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มแบงก์ใหม่ หวังครองใจลูกค้าทุกกลุ่ม”

หัวข้อข่าวทางการซึ่งเก็บความโดยธนาคารไทยพาณิชย์เอง (อ้างจาก www.scb.co.th) สร้างความตื่นเต้นไม่น้อย โดยมีเนื้อหาสรุปเพียงหน้าเดียว เน้นถ้อยแถลง อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

วันเดียวกันธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนด้วย ในหัวข้อ-2017 Financial Results : Analyst Meeting Presentation 22 January 2018 นำเสนอด้วยข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ จำนวน 34 หน้า (ข้อมูลปรากฏใน www.scb.co.th ด้วยเช่นกัน) รายการหลังถือว่ามีการจัดระบบข้อมูลที่มีรายละเอียดมากขึ้นอย่างสอดคล้องกัน หากจะให้ดี ควรอ่านและศึกษาข้อมูลทั้งสองส่วนประกอบกัน ว่าไปแล้วเป็นแผนการยังไม่ให้ภาพชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขอสรุปไว้ (โปรดอ่านในล้อมกรอบ–สรุปถ้อยแถลงธนาคารไทยพาณิชย์ 22 มกราคม 2561)

ทว่า สิ่งที่ผู้คนสนใจกลับเป็นบางตอนของแผนการ 3 ปี ในหัวข้อเพิ่มประสิทธิภาพธนาคาร หรือที่เรียกว่า Lean the Bank โดย “เป้าหมายการมีเครือข่ายสาขาเหลือเพียง 400 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ที่ 1,170 สาขา ที่สำคัญ ตั้งเป้าจำนวนพนักงานไว้ที่ 15,000 คน จากปัจจุบันทั่วประเทศมีมากถึง 27,000 คน”

ถือเป็นเรื่องและประเด็นที่จับต้องได้มากที่สุดของถ้อยแถลงข้างต้นเลยทีเดียว แม้แต่สื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น (Asian Nikkei Review) ก็สนใจประเด็นเดียวกันนี้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขามากกว่าธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น (Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ) ถึง 1.5 เท่า โดยอ้างสถิติไว้ด้วยว่า ณ สิ้นปี 2560 ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขา 1,153 แห่ง ขณะที่ Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ มีเพียง 766 แห่ง (สาขาในญี่ปุ่น) ทั้ง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรมากถึง 127 ล้านคน

ขณะที่ไทยมี 69 ล้านคนแต่ที่สื่อญี่ปุ่นไม่กล่าวถึงก็คือ Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก มีเครือข่ายสำนักงานนอกประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 80 แห่ง สิ้นปี 2559 มีรายได้ 49 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท) มีกำไร 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือมากกว่า 2.5 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่าธนาคารไทยพาณิชย์หลายเท่านัก จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ณ สิ้นปี 2559 ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีรายได้รวม 164,055 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 47, 612 ล้านบาท

แม้ว่าผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์พยายามเน้นว่า จะไม่มีแผนการปลดพนักงานครั้งใหญ่ โดยเชื่อจำนวนพนักงานจะลดลงไปเอง โดยอ้างว่าที่ผ่าน ๆ มามีพนักงานลาออก (turn over) ถึง 3,000 คนในแต่ละปี อย่างไรก็ดี ถือว่าการมีถ้อยแถลงน่าจะสะท้อนปรากฏการณ์ใหม่วงการธนาคารไทย หรือจะเรียกว่า เป็นแก่นสำคัญในปรากฏการณ์ “Going Upside Down” (กลับหัวตีลังกา) ของระบบธนาคารไทยทั้งระบบ ก็ว่าได้ความจริงแล้ว ตำนานพัฒนาการธนาคารไทยในยุครุ่งเรือง ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม เป็นต้นมา

ยุทธศาสตร์ธุรกิจเติบโต พร้อม ๆ กับแผนการเพิ่มสาขาอย่างไม่หยุดยั้ง และการเพิ่มสาขาในต่างจังหวัด กลายเป็นกฎกติกาของทางการอย่างสำคัญในขณะนั้นด้วยจนมาถึงช่วงธนาคารไทยปรับตัวเอง ตามแผนการบุกเบิกที่น่าสนใจโดยเฉพาะ

การริเริ่มโดยธนาคารกสิกรไทย ในยุคบัณฑูร ลำซ่ำ แผนการปรับกระบวนการบริการสาขา หรือที่เรียกว่า reengineering (ปี 2536-2537) สร้างแรงกระตุ้นต่อวงการธนาคารให้ตื่นตัวระดับหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นการปรับตัวของธุรกิจไทยไปสู่มาตรฐานสากล พยายามทำความเข้าใจในเรื่องประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่ระบบธนาคารไทยอยู่ภายใต้ความคุ้มครองโดยรัฐอย่างเข้มแข็ง

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งธนาคารได้รับผลกระทบอย่างมาก ด้วยโฉมหน้าธุรกิจธนาคารในสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไม่หวนกลับ แผนการปรับตัวได้รับการตอบสนองมากขึ้น แม้แต่ธนาคารเก่าแก่ที่สุดอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ change program กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานใหม่ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดฉากเมื่อปลายปี 2544 โดยการนำของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ผู้เพิ่งเข้ามามีบทบาทนำในธนาคาร ถือเป็นยุคใหม่ตั้งแต่บัดนั้น ยุคผู้นำซึ่งไม่ได้มาจาก “สายสัมพันธ์ดั้งเดิม” ตามโมเดลดั้งเดิม ตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารในช่วงเวลาต่อเนื่องกันนั้น ผมเองเคยเสนอว่า ช่วงปี 2542-2547 ธนาคารเป็นธุรกิจไทยซึ่งค่อย ๆ กลับมาตั้งหลัก มีลงทุนด้านเทคโนโลยีมากที่สุด เพื่อมุ่งหน้าสู่ e-Banking

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบริบทใหม่ มีธนาคารต่างชาติเข้ามาปักหลัก “ยึดแย่งพื้นที่” ในสังคมไทยมากขึ้น ธนาคารไทยผู้อยู่รอดคงยังดำเนินไปค่อนข้างเฉื่อยเนือย มีถ้อยแถลงอยู่เนือง ๆ ถึงแผนการปรับปรุงภายใน แต่ไม่มีกล่าวถึง “สาขา” (ย่อมเกี่ยวกับจำนวนพนักงานด้วย) อย่างจริงจัง

กระทั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการลดลงของสาขาเป็นครั้งแรก แต่ถือว่าจำนวนน้อย จากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งระบบธนาคารมี 7,061 สาขา (สิ้นปี 2558) ได้ลดลงมาเป็น 6,786 สาขา (ปี 2560) จนถึงกรณีข้างต้น สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือแนวความคิดเบื้องหลัง

“สถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และการไหลบ่าเข้ามาของธุรกิจ patform ระดับโลกที่กำลังจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของธุรกิจธนาคาร ในการนำเสนอบริการทางการเงินและการลงทุน กอปรกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้การบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก” อาทิตย์ นันทวิทยา ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวไว้ ดูแล้วเป็นสถานการณ์ใหม่ เป็นเรื่องจริงจัง จะอรรถาธิบายเพิ่มเติมในตอนต่อไป