ไทยพาณิชย์ กลับหัวตีลังกา จริงหรือ (2)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

แผนการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ “กลับหัวตีลังกา” เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ สะท้อนความพยายามปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งระบบธนาคารไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเก่าแก่ที่สุดของไทยสร้างความฮือฮาด้วยแถลงข่าวครั้งใหญ่ “22 มกราคม 2561-ผ่ายุทธศาสตร์ไทยพาณิชย์ “Going Upside Down” (กลับหัวตีลังกา) เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มแบงก์ใหม่ หวังครองใจลูกค้าทุกกลุ่ม “หัวข้อข่าวซึ่งนำเสนอไว้ใน website (www.scb.co.th) ดูเหมือนเจาะจงไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ๆ เนื้อหาสาระซึ่งสะท้อนสะเทือนวงกว้างสังคมธุรกิจไทยเลยก็ว่าได้

จากถ้อยแถลงผู้บริหารธนาคารซึ่งทั้งสื่อไทยและเทศพร้อมใจกันนำเสนอ “เป้าหมายการมีเครือข่ายสาขาเหลือเพียง 400 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ที่ 1,170 สาขา ที่สำคัญ ตั้งเป้าจำนวนพนักงานไว้ที่ 15,000 คน จากปัจจุบันทั่วประเทศมีมากถึง 27,000 คน”

นั่นคือสาระสั้น ๆ ได้ใจความ ให้ภาพรูปธรรมจับต้องได้ ท่ามกลางถ้อยแถลงอันยืดยาวด้วยภาษาบริษัทที่ปรึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจ และดูเหมือนได้ให้ภาพที่เป็นจริงเป็นจัง เกี่ยวกับ “Going Upside Down” (กลับหัวตีลังกา) จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ตามมาด้วยแรงกระเพื่อมอีกเล็กน้อย จากปฏิกิริยาของพนักงานธนาคารเอง และความพยายามผู้บริหารธนาคารอย่างกระตือรือร้น ชี้แจงว่าจะไม่มีการปลด (lay off) พนักงานครั้งใหญ่

อันที่จริงแผนการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นภาพบทบาทสำคัญในฐานะ “ผู้นำ” ระบบธนาคารไทย ด้วยบทวิเคราะห์อันหลักแหลม ตามมาด้วยแผนการปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง เข้าทำนอง “Must change before have to” คำพูดยอดนิยมของ Jack Welsh อดีตซีอีโอ GE และเชื่อว่าจะกลายเป็นทิศทางสำคัญว่าด้วยพัฒนาการธนาคารไทย และเป็นแผนการบุกเบิกอันมีพลังอย่างมาก ๆ ถือได้ว่า มีความสำคัญกว่าหลายกรณีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าธนาคารไทยพาณิชย์เอง เคยเป็นผู้บุกเบิกบริการเอทีเอ็ม เมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว หรือกรณีธนาคารกสิกรไทยเปิดฉาก (เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน) ด้วยแผนการ re engineering เสียด้วยซ้ำ

ว่าไปแล้ว แผนการธนาคารไทยพาณิชย์สอดคล้องกับการปรับตัวของธนาคารระดับโลก เช่น กรณีธนาคารญี่ปุ่น ดังข่าว

ล่าสุดนำเสนอโดยสื่อญี่ปุ่นเอง (Japan’s staff-heavy banks downsize and turn to technology for survival : JAPAN TIMES, FEB 12, 2018)

ปัญหาธนาคารญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายอย่างซับซ้อน สื่อญี่ปุ่นรายนี้อ้างว่า ธุรกิจหลัก (core business) และช่องว่างอัตราดอกเบี้ย (interest margins) ระหว่างเงินกู้และเงินฝากที่แคบลงมาก ๆ ส่งผลให้ผลประกอบการธนาคารใหญ่ 5 แห่ง (Japan’s five big banks) ตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะกำไรลดลงถึง 22.4% ในช่วงครึ่งปีหลังปีที่ผ่านมา

แผนการแก้ปัญหาของธนาคารญี่ปุ่นที่ตามมานั้น เรียกกันว่า downsize กรณี MUFG (Mitsubishi UFJ Financial Group) สถาบันการเงินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีแผนลดงานภายในประเทศ จำนวน 6,000 ตำแหน่งในปี 2566 (พนักงานทั้งหมดประมาณ 110,000 คน) ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วก็เคยประกาศไว้ว่า ปรับลดพนักงานลง 9,500 ตำแหน่ง ภายใน 10 ปีข้างหน้า แสดงว่าแผนการกระชับมากขึ้นอีก ขณะที่ Mizuho Financial Group มีแผนลดพนักงานมากทีเดียว 19,000 ตำแหน่ง (พนักงานทั้งหมดประมาณ 60,000 คน) ในสิ้นปี 2569 และ SMFG (Sumitomo Mitsui Financial Group) ลดพนักงานลง 4,000 ตำแหน่ง (พนักงานทั้งหมดประมาณ 80,000 คน) ใน 3 ปีข้างหน้า

กรณีธนาคารญี่ปุ่นข้างต้นดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ กับแผนการ going upside down (กลับหัวตีลังกา) ดำเนินไปด้วยแผนเชิงรุกอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นแผนการปรับตัวทางธุรกิจใหญ่ครั้งแรก ๆ ของระบบธนาคารไทย

สิ่งที่เชื่อว่าจะสอดคล้องกันอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อทิศทาง และแนวโน้มธุรกิจธนาคารเผชิญปัญหา ผู้คนในสังคม ผู้คนซึ่งแสวงหางานทำ มักจะออกห่างจากธุรกิจธนาคารมากขึ้น ๆ เช่นเดียวกัน ผู้คนในวงการธนาคารพยายามหาทางเลือกใหม่ ๆ สู่อาชีพและแวดวงอื่น ๆ มากขึ้น ภาพดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ในสังคม และการจ้างงานในญี่ปุ่น และเชื่อว่ากำลังมาถึงอย่างคึกคักในสังคมธุรกิจไทย

การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มดังกล่าวค่อยเป็นค่อยไปมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว ภาพใหญ่สังคมไทยพลิกโฉมหน้าไปแล้ว ได้สั่นสะเทือนวิถีชีวิตชนชั้นกลางกันมากขึ้น เคลื่อนย้ายไปสู่สิ่งที่เรียกว่า startup และเป็นผู้ประกอบการหนุ่มสาวแล้ว แรงขับดันอันเข้มข้นในการปรับตัวของธนาคารไทยพาณิชย์นั้นมาจากไหธนาคารไทยเผชิญแรงเสียดทาน เผชิญการเปลี่ยนแปลงอันยุ่งยากและท้าทายมาตลอด 2-3 ทศวรรษ ครั้งร้ายแรงอย่างมาก ๆ คงหนีไม่พ้นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ไม่มีครั้งใดที่ธนาคารไทยนับสิบแห่งมีอันเป็นไป ธนาคารผู้อยู่รอด คิดว่าพื้นที่คงว่างลงบ้าง และโอกาสเปิดกว้างขึ้น กลับต้องมาเผชิญปัญหาคู่แข่งทางธุรกิจหน้าใหม่ที่น่าเกรงขาม คู่แข่งเป็นเครือข่ายธนาคารระดับภูมิภาค-ระดับโลก ถือเป็นการพลิกโฉมระบบธนาคารไทยครั้งใหญ่ตั้งแต่ยุคอาณานิคมเลยทีเดียว

การแบ่งพื้นที่กับยุทธศาสตร์ธนาคารเหล่านั้นที่แตกต่างกับธนาคารไทยดั้งเดิม ธนาคารเหล่านั้นมองสังคมไทยเป็นเพียงที่ตั้งเครือข่ายหนึ่งในภาพรวม การแข่งขันทางธุรกิจซึ่งเปิดหน้าให้มองเห็นอย่างชัดเจน ไม่เพียงไม่ทำให้ธนาคารไทยผู้อยู่รอดสั่นคลอน หากยังสามารถกลับมายืนได้อย่างมั่นคงระดับหนึ่งได้อีกครั้ง ผลประกอบการธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นเช่นนั้น (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบข้อมูลจำเพาะธนาคารไทยพาณิชย์ : กำไรในรอบทศวรรษ)

สถานการณ์ที่ “มองเห็น” ย่อมน่ากลัวกว่า สถานการณ์ซึ่ง “มองไม่เห็น” อย่างชัดเจน ภาพหนึ่งนั้น (นำมาจากข้อมูลนำเสนอต่อนักลงทุน-2017 Financial Results : Analyst Meeting Presentation 22 January 2018 โปรดดูภาพประกอบ) บอกเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน บอกเล่าถึงแรงกดดันต่อธุรกิจธนาคารไทยอย่างรุนแรง นั่นคือบทวิเคราะห์อย่างจริงจังของไทยพาณิชย์ ว่าด้วยโฉมหน้าใหม่ธุรกิจ ซึ่งเคยได้รับการปกป้องอย่างดี

และยังมีการปกป้องอยู่ระดับหนึ่ง มิอาจต้านทานกระแสโลกอันเชี่ยวกราก อันเนื่องจากการปรากฏตัวคู่แข่งขันทางธุรกิจอย่างไม่ชัดเจน แต่มากมายเหลือเกิน ธุรกิจมีเส้นแบ่งอย่างเลือนราง ข้ามพรมแดนธุรกิจอย่างซับซ้อน ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ซึ่งมักลงทุนซื้อหาจากต่างประเทศด้วยต้นทุนสูงเสมอมา
(นี่คือมุมมองเวอร์ชั่นธนาคารไทยพาณิชย์ “The new business paradigm : Boundaries between industries are becoming blurred and will eventually disappear in the context of digital”)

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์นั้นส่งสัญญาณสะท้อนแนวโน้มอย่างชัดเจนต่อผลประกอบการธุรกิจในช่วง 2-3 ปีมานี้ (โปรดพิจารณา ธนาคารไทยพาณิชย์ : กำไรในรอบทศวรรษ) อีกครั้ง

สิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์เชื่อและทำจากนี้ กำลังจะเป็นการ “แผ้วถาง” เส้นทางอันขรุขระ ให้ธนาคารไทยทั้งระบบด้วย