“เซ็นทรัล” ต้องโต

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

ถ้อยแถลงสำคัญประจำปีของกลุ่มธุรกิจเซ็นทรัล ตื่นเต้นและน่าสนใจเสมอ

เชื่อว่าจะน่าสนใจมากยิ่งขึ้น หากย้อนไปพิจารณาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (จาก www.centralgroup.com) เนื้อหาสาระ ถ้อยแถลงแผนการธุรกิจประจำปี ซึ่งมีขึ้นในต้นเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศอย่างล้นหลามเสมอ

โดยเฉพาะในยุค ทศ จิราธิวัฒน์ เป็นผู้นำ กลุ่มเซ็นทรัลเป็นธุรกิจครอบครัว มีกิจการในเครือเพียงไม่กี่แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนย่อมมีอย่างจำกัด ถ้อยแถลงประจำปีข้างต้นซึ่งมีความสำคัญ และดูเหมือนให้ความสำคัญมากขึ้น เมื่อ ทศ จิราธิวัฒน์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ที่สำคัญมีความพยายามจัดทำข้อมูลบริษัทอย่างเป็นระบบมากขึ้น ผ่าน website (โดยเฉพาะ www.centralgroup.com) ในนั้นมีเอกสารสำคัญปรากฏอยู่–Central Group Corporate Book 2018 ในหัวข้อ Central Group : Chronicle of Magnificent (ดูภาพปกประกอบ) เอกสารภาษาอังกฤษ ให้ภาพกลุ่มเซ็นทรัลอย่างกว้าง ๆ

“บริษัทที่บริหารกิจการโดยสมาชิกภายในครอบครัว อันมีจุดเริ่มต้นธุรกิจมาจากร้านขายของชำขนาดเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 และจวบจนถึงปัจจุบันนี้ บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลมีประสบการณ์ในการบริหารงานธุรกิจค้าปลีกมากว่า 67 ปี

หนึ่งในบริษัทผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในแต่ละปี บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลมีการจ้างแรงงานมากกว่า 70,000 อัตรา ในทุกกลุ่มธุรกิจหนึ่งในบริษัทนักลงทุนระดับนานาชาติ บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเก่าแก่สุดหรูของประเทศอิตาลี “ลา รีนาเซนเต” และห้างสรรพสินค้าชื่อดังของประเทศเดนมาร์ก “อิลลุม” ในปี พ.ศ. 2554 และ 2556 ตามลำดับองค์กรบริษัทข้ามชาติ บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลได้ขยายสาขาร้านค้าปลีกออกไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมถึงเปิดให้บริการโรงแรมใหม่ ๆ ที่เกาะมัลดีฟ เกาะมอริเชียส และประเทศศรีลังกา”

ประเด็นข้างต้น (อ้างมาจาก www.centralgroup.com) มีเนื้อหาทำนองเดียวกับข้อความสำคัญใน Central Group Corporate Book 2018 ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาระตั้งใจนำเสนอ

สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ ภาพประกอบ 2 ภาพ แสดงข้อมูลสินทรัพย์และรายได้ กลุ่มเซ็นทรัลช่วง 6 ปี (2009-2014) หน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าเนื่องมาจากกลุ่มเป้าหมายผู้สนใจธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัลในต่างประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน นักลงทุน คู่ค้า-พันธมิตร ทั้งปัจจุบันและอนาคต ข้อมูลนั้นให้ภาพพัฒนาการธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล แสดงการเติบโตทางธุรกิจอย่างน่าทึ่ง อย่างต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขสองหลัก (double digit) และจากข้อมูลบางส่วนถ้อยแถลงข่าว 3 ปี สามารถสร้างชุดข้อมูลให้เห็นภาพต่อเนื่องจากนั้นอย่างสอดคล้องกัน (โปรดพิจารณาข้อมูลจำเพาะ ยอดขายกลุ่มเซ็นทรัล)

ในช่วง 3 ปีของถ้อยแถลง กลุ่มเซ็นทรัลนำเสนอประเด็นสำคัญ ๆ ที่แตกต่างกันออกไป ประเด็นสำคัญในมุมมองของผม

ปี 2559 ความสำเร็จในยุโรป

“เราต้องการสร้าง segment ที่ชัดเจนของกลุ่มห้างสรรพสินค้าระดับ luxury โดยสร้างให้เป็น luxury destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องมาเยือน เรียกว่า Central One World of Luxury แบ่งเป็น 5 ห้างสรรพสินค้าในยุโรป ได้แก่ ลา รีนาเซนเต (La Rinascente), อิลลุม (Illum), คาเดเว (KaDeWe), อัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus), โอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger)”

สาระสำคัญถ้อยแถลงในปี 2559 ถือเป็นบทสรุปแผนการซึ่งดำเนินมาในช่วง 5 ปีก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2554 จุดเริ่มต้นกลุ่มเซ็นทรัลได้ขยายธุรกิจไปยังทวีปยุโรป โดยการเข้าซื้อกิจการกลุ่มห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศอิตาลี–La Rinascente แผนการเชิงรุกอย่างจริงจัง ในยุทธศาสตร์ขยายเครือข่ายต่างประเทศ กรณี La Rinascente เป็นดีลใหญ่ มีความสำคัญสำหรับกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะเครือข่ายห้างสรรพสินค้าเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี ด้วยสาขา 10 แห่งในเมืองสำคัญของอิตาลี และกลายเป็นฐานของแผนการใหญ่ ในความพยายามขยายเครือข่ายยุโรปให้กว้างขึ้น

ปี 2556 กลุ่มเซ็นทรัลรุกต่อเข้าสู่ภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ซื้อกิจการ Illum ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่สุดในประเทศเดนมาร์ก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง Copenhagen ตามมาด้วย ปี 2558 กลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่เยอรมนี ด้วยแผนการที่แตกต่างออกไปบ้าง เข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตร (SIGNA Group กลุ่มบริษัทใหญ่ในยุโรป ถือครองอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก) เพื่อเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ใจกลางเมืองใหญ่ในประเทศเยอรมนี 3 แห่ง KaDeWe (Berlin) Oberpollinger (Munich) และ Alsterhaus (Humburg)

ปี 2560 Digital Centrality

“Digital Centrality ยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายเชื่อมโยงลูกค้าบนโลกดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงในทุกมิติ…พัฒนาออนไลน์ แพลตฟอร์ม และประสบการณ์ออมนิแชนเนล ของกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้นำในตลาดค้าปลีก เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” สาระสำคัญจากถ้อยแถลงกลุ่มเซ็นทรัล ต้นเดือนมีนาคม ปี 2560ความเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ใหม่ อ้างอิงกับ “ความพร้อมของกลุ่มเซ็นทรัล” จะขอยกประเด็นที่สำคัญ ๆ ดูมีเหตุมีผลอันควร

หนึ่ง– “ฐานธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยาวนานกับ 9,000 คู่ค้า ซัพพลายเออร์ และผู้เช่าร้านค้า 4,000 ราย” ด้วยเครือข่ายห้างเซ็นทรัลได้แผ่ขยายไปในหลายประเทศ ภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย เวียดนาม และยุโรป นอกจากนี้ เชื่อมโยงกับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต ภายใต้เครือข่าย Centara Hotels & Resorts มีประมาณ 70 แห่ง และกลุ่มธุรกิจอาหารซึ่งมีเครือข่ายร้านกว่า 800 ร้าน

สอง–“ฐานลูกค้ากลุ่มเซ็นทรัล” ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับ The 1 Card โดยอ้างว่า ในเวลานั้นมีสมาชิกคนไทยถึง 3 ล้าน

อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงล่าสุดไม่มีการกล่าวถึง Digital Centrality หากนำเสนอแผนการใหม่ (ยุทธศาสตร์ 5 ปี 2561-2565) ดูกว้างขึ้น–NEW CENTRAL, NEW E-CONOMY แสดงถึงแผนการธุรกิจข้างต้นอย่างไม่ลงตัว อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน ซึ่งไม่สามารถแถลงถึงผลสำเร็จอย่างเป็นจริงเป็นจังในเวลานี้ ภายใต้ผู้เกี่ยวข้องสำคัญ ๆ ใหม่ ๆ อย่างกรณี ญนน์ โภคทรัพย์ ในฐานะ president (ผู้มีประสบการณ์จากธุรกิจ consumer product และธนาคาร)

ผู้บริหารใหม่กลุ่มเซ็นทรัล ในตำแหน่งใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ตลอดจนความร่วมมือใหม่ที่สำคัญกับพันธมิตรระดับโลก อย่าง JD.com

ปี 2561 ความสำเร็จในเวียดนาม

“5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) ยอดขายของกลุ่มเซ็นทรัลในประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 340% กลุ่มเซ็นทรัลถือเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม (Largest Foreign Retailer in Vietnam) ใน 5 ธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจศูนย์การค้า 31 แห่ง : บิ๊กซี ธุรกิจอาหาร 59 แห่ง ธุรกิจแฟชั่น 49 แห่ง ธุรกิจฮาร์ดไลน์ 78 แห่ง และธุรกิจออนไลน์ 3 แพลตฟอร์ม” สาระสำคัญจากถ้อยแถลงกลุ่มเซ็นทรัลครั้งล่าสุด (มีนาคม 2561)

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกลุ่มเซ็นทรัล ย้ำเน้นเป้าหมายอัตราการเติบโตธุรกิจ 14% ในปี 2561 ถือเป็นแผนการธุรกิจเชิงรุกเช่นเดียวกับปีก่อน ๆ

แผนการขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล ดูมีพลังอย่างน่าทึ่ง