แล้วก็มาถึง Outlet


คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

เรื่องราวธุรกิจค้าปลีกไทย คึกคักและมีสีสันไม่ขาดสายเสียจริง ๆ ล่าสุดเป็นความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างน่าทึ่ง อย่างน่าบังเอิญ ดู ๆ ไปแล้วเหมือนจะตั้งใจเผชิญหน้าแข่งขันกันโดยตรงเสียด้วย

กลุ่มเซ็นทรัลกับสยามพิวรรธน์ได้เปิดฉาก เปิดแผนโครงการค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า outletเริ่มต้น (24 เมษายน 2561) โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กิจการในเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัล เรียกตนเองว่าเป็น “ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก (developer of retail property)” แถลงข่าวเปิดตัว เปิดแผนโครงการใหม่ ประกาศเปิดตัวเซ็นทรัล วิลเลจ (Central Village-Bangkok Outlet Experience) “เป็นลักเซอรี่เอาต์เลต (luxury outlet) มาตรฐานระดับโลกที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกในไทย ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจับจ่ายใช้สอยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ยังเน้นอีกด้วยว่าจะใช้ที่ปรึกษาระดับโลก ผู้มีประสบการณ์ในโครงการใหญ่ ประสบความสำเร็จระดับโลกมาแล้ว

ผ่านมาอีกเดือนเดียว (5 มิถุนายน 2561) ปรากฏความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันตามมาอย่างกระชั้นชิด-สยามพิวรรธน์ ผู้นำค้าปลีกไทยไลฟ์สไตล์รายล่าสุด เพิ่งก่อกำเนิดอย่างตั้งใจเพียง 2 ทศวรรษ แต่สามารถยึดทำเลทองใจกลางกรุงเทพฯอย่างแท้จริงได้ ใช้คำคล้าย ๆ กันว่า “ลักเซอรี่พรีเมี่ยมเอาต์เลต (luxury premium outlets) เป็นแผนการใหม่โครงการรูปแบบล่าสุดเช่นเดียวกัน ที่สำคัญเป็นโครงการร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งสหรัฐ-ไซม่อน (SIMON PROPERTY GROUP)

เรื่องราวของ SIMON น่าสนใจ อย่างที่สรุปสั้น ๆ ไว้ (http://business.simon.com/about) “ไซม่อน คือ หนึ่งในบริษัทผู้นำของโลกซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เป็นจุดหมายปลายทางทางด้านการจับจ่าย กินดื่ม บันเทิง และผสมผสาน และเป็นหนึ่งในบริษัทใน S&P 100 (ดัชนีบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ โดย Standard & Poor) มีโครงการอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย นำเสนอพื้นที่ที่เชื่อมโยงชุมชนและผู้คนนับล้าน ๆ เข้าหากันในทุกวัน และสร้างยอดขายเป็นพัน ๆ ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี”

เมื่อดูเฉพาะโครงการที่เรียกว่า premium outlet ในสหรัฐมีถึง 68 แห่ง ขณะที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเรียกว่า mall (107 แห่ง) นอกจากนั้นมี the mills (14 แห่ง) และ lifestyle center (4 แห่ง) SIMON ขยายต่างประเทศครั้งแรกใน Canada เป็นอิทธิพลต่อเนื่องในเชิงภูมิศาสตร์ ขณะที่ส่วนใหญ่ขยายเครือข่ายอย่างดีในญี่ปุ่น มีมากที่สุดถึง 9 แห่งแล้ว จากปัจจุบันเครือข่ายในต่างประเทศทั้งหมด 27 แห่งใน 11 ประเทศ

outlet รูปแบบค้าปลีกใหม่ ก่อกำเนิด เป็นโมเดล และถือเป็นปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้น ในสหรัฐ ขยายตัวอย่างมาก ๆ ในช่วงเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว

อันที่จริงเมืองไทยได้เดินตามกระแส outlet มาสักพักใหญ่ ๆ โดยเฉพาะเกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ราว ๆ ปี 2544 เป็นต้นมา ริเริ่มโดยผู้ผลิต ผู้ถือลิขสิทธิ์สินค้าเสื้อผ้าแบรนด์เนม นั่นคือ FN (Fly Now) และ Pena House Group โดยยึดพื้นที่ในต่างจังหวัด ริมถนนหลัก เส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในทำเลซึ่งมีราคาที่ดินไม่แพง เท่ากรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ และขณะนั้นก็ไม่แพงเท่าปัจจุบัน ทั้งสองขยายเครือข่าย outlet อย่างช้า ๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ละรายมีประมาณ 10 แห่งแล้ว

ทั้ง FN (Fly Now) และ Pena House Group ยุคเริ่มแรก อาจเข้าข่ายโมเดลเรียกว่า factory outlet อ้างอิงเฉพาะสินค้าตนเอง ซึ่งเผอิญแต่ละรายมีหลายแบรนด์ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามในเวลาต่อมา มีความพยายามเพิ่มแบรนด์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เพิ่มสินค้าอื่น ๆ เข้าไปด้วย ดูจะกลายเป็นบุคลิกไปตามนิยามที่เรียกว่า multistore outlet ซึ่งทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์เดินตามโมเดลนี้

กรณีกลุ่มเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์ ความหมายในเชิงธุรกิจ เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง ผู้นำค้าปลีกไทย กับความพยายามปรับตัว แสวงหาโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่ลดละ อ้างอิงสถานการณ์ กลุ่มเป้าหมาย และทำเลอย่างพลิกแพลง หลากหลาย มักมีแนวคิดไปในทางเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลสำคัญจากถ้อยแถลง “เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจับจ่ายใช้สอยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (ซีพีเอ็น)

และ “พรีเมี่ยมเอาต์เลตมีความเหมาะสมอย่างมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากร และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 35 ล้านคนเดินทางมาท่องเที่ยวและมองหาสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่า” (สยามพิวรรธน์)

ซีพีเอ็นแห่งกลุ่มเซ็นทรัล ยึดพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่สยามพิวรรธน์ระบุว่า อยู่ในพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ ในกรุงเทพฯย่านตะวันออก อาจตีความมีความเป็นไปได้ว่า ไม่เพียงมีแนวความคิดคล้ายกัน ยังยึดทำเลที่ตั้งโครงการในย่านใกล้เคียงกันด้วย

ในภาพใหญ่กว่านั้น สะท้อนความเป็นไป ธุรกิจค้าปลีกกับสังคมไทย “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซียน ด้วยการนำเสนอรูปแบบร้านค้าปลีกที่ทันสมัย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่มาก เนื่องจากการค้าปลีกรูปแบบเดิมยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น” ความคิด ความเชื่อ ผู้นำค้าปลีกในประเทศไทยข้างต้นปรากฏขึ้นอย่างมีนัย เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว (จากบทวิเคราะห์ในรายงานประจำปี 2557 บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ขณะนั้นถือหุ้นใหญ่และการบริหารอย่างเบ็ดเสร็จอยู่ในมือเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกต่างชาติ-Casino Group แห่งฝรั่งเศส

เป็นมิติความเชื่อมั่นที่น่าสนใจยังคงอยู่ มีความหมาย ควรพิจารณาอย่างน้อย 2 มิติ

มิติแรก “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซียนด้วยการนำเสนอรูปแบบร้านค้าปลีกที่ทันสมัย” เป็นบทสรุปที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้นในเวลาต่อมา ปรากฏข้อมูลสอดคล้องกันกับข้อมูลกลุ่มทีซีซี

ในปี 2559 (อ้างอิงจากข้อมูลนำเสนอและแผนการธุรกิจใหม่ต่อนักลงทุน (1Q16 Opportunity Day-Berli Jucker Public Company Limited-2 June 2016) โดยบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ บริษัทแกนของกิจการค้าปลีกในเครือข่ายกลุ่มทีซีซี เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ซื้อกิจการ เครือข่ายค้าปลีก Big C ของบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

ข้อมูลนำเสนอนั้นได้ให้ภาพธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนไว้ โดยระบุว่า ผู้นำธุรกิจค้าปลีก (พิจารณาจากยอดขายปี 2558) อันดับ 1 และ 2 อยู่ในประเทศไทย นั่นคือ ซีพี ออลล์ (เจ้าของเครือข่าย 7-Eleven) และ Tesco Lotus เมื่อพิจารณาต่ออย่างพินิจ จะพบอีกว่า เมื่อเครือข่าย Big C ในประเทศไทย ควบรวมอยู่ในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์แล้ว เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ก็จะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 แซงหน้า Dairy Farm กิจการค้าปลีกในเครือ Jardine Matheson Group แห่งฮ่องกง ทั้ง ๆ ที่ Dairy Farm นำผลประกอบการทั้งเครือข่ายในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์มารวมกัน

ข้อมูลนั้นเหมือนมองข้ามกลุ่มเซ็นทรัลไป จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ขณะกลุ่มเซ็นทรัลเพิ่งประกาศ (เมื่อต้นปี 2561) ผลสำเร็จครั้งใหญ่ในฐานะผู้นำค้าปลีกอย่างแท้จริงในประเทศเวียดนาม

อีกมิติหนึ่ง “ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่มาก เนื่องจากการค้าปลีกรูปแบบเดิมยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น” ความเชื่อมั่นข้างต้น ย่อมเป็นแรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อน และโมเมนตัม ผู้นำค้าปลีกไทย กับความพยายามค้นหา แสวงหาทางธุรกิจ ตามช่องว่างต่าง ๆ ในสังคมไทย ท่ามกลางปรากฏการณ์หลอมละลายค้าปลีกดั้งเดิม สู่โมเดลใหม่ ๆ

เป็นภาพสะท้อน พลวัตเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย กับแรงบันดาลใจ-แรงบีบคั้น ยิ่งเครือข่ายค้าปลีก ผนวกรวมกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพล ย่อมปรากฏแรงปะทะอันเปรี้ยงปร้างมากขึ้น ๆ