แล้วก็มาถึง กลุ่มธนชาต

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

จากเรื่องราวธุรกิจค้าปลีกไทย คึกคักและมีสีสันไม่ขาดสาย สู่ความเคลื่อนไหวเครือข่ายธุรกิจใหญ่ที่น่าทึ่งในตอนที่แล้ว (“แล้วก็มาถึง Outlet” ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2561) กล่าวถึงปรากฏการณ์ธุรกิจค้าปลีกไทยอย่างตื่นเต้น โดยเฉพาะ “ปรากฏความเคลื่อนไหว (5 มิถุนายน 2561)–สยามพิวรรธน์ ผู้นำค้าปลีกไทยไลฟ์สไตล์รายล่าสุด เพิ่งก่อกำเนิดอย่างตั้งใจเพียง 2 ทศวรรษ แต่สามารถยึดทำเลทอง ใจกลางกรุงเทพฯอย่างแท้จริงได้ ใช้คำคล้าย ๆ กันว่า “ลักเซอรี่พรีเมี่ยมเอาต์เลต (luxury premium outlets) เปิดแผนการใหม่โครงการรูปแบบล่าสุด ที่สำคัญ เป็นโครงการร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งสหรัฐ-ไซม่อน (Simon Property Group)”

ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติม จากถ้อยแถลงของผู้บริหาร สยามพิวรรธน์ อีกด้วยว่า ภายใต้แผนการดังกล่าวจะอยู่ในการบริหารของบริษัทก่อตั้งใหม่ “ด้วยทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท ถือหุ้นฝั่งละ 50% โดยวางแผนภายใน 3 ปี จะมี luxury premium outlets ทั้งหมด 3 แห่ง ใช้งบฯลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยแห่งแรกอยู่ในพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ ในกรุงเทพฯย่านตะวันออก”

ด้วยแผนการใหญ่ดังกล่าวความสนใจในแวดวงธุรกิจและผู้คน จึงพุ่งเป้ามาที่สยามพิวรรธน์ เป็นไปได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจ ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าที่ควร

“กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารโครงการค้าปลีกที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของโครงการไอคอนสยาม” ถ้อยแถลงของสยามพิวรรธน์กล่าวถึงตนเองไว้ และอ้างถึงแผนการใหม่ให้มีความหมายกว้างขึ้น “สร้าง luxury premium outlets ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความหลากหลายของจุดหมายปลายทางด้านการค้าปลีกและไลฟ์สไตล์ในประเทศไทย”

อันที่จริง ผมเคยนำเสนอเรื่องราวสยามพิวรรธน์ อย่างจริงจังครั้งแรก มานานพอสมควร (ข้อเขียน 2 ตอน ในประชาชาติธุรกิจ เดือนเมษายน 2555) โดยโฟกัสตั้งแต่ช่วงเวลาปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในราวปี 2546 ในปีนั้นเอง ข้อมูลสยามพิวรรธน์ระบุไว้ว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ “สยามพิวรรธน์” เป็นชื่อใหม่ให้แก่บริษัท” (http://www.siampiwat.com/th/group/milestones) เป็นข้อต่อสำคัญตำนานกิจการซึ่งก่อตั้งและดำเนินมาอย่างช้า ๆ ก่อนหน้ากว่า 4 ทศวรรษ แล้วพลิกโฉมตามมาด้วยความเคลื่อนไหวอันคึกคัก โดยเฉพาะการเปิดศูนย์การค้าสยามพารากอน (ปี 2548)

การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นระบบขนส่งมวลชนระบบรางครั้งแรกในกรุงเทพฯ-บีทีเอส เป็นแรงผลักดันสำคัญ สร้างภูมิศาสตร์เศรษฐกิจกรุงเทพฯใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้เคลื่อนย้าย จากย่านสำนักงานธุรกิจถนนสีลม มายังศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอยอาณาบริเวณหัวถนนพระราม 1 ตัดกับสี่แยกปทุมวัน พลังที่เป็นแม่เหล็กอย่างแท้จริง คือการผนึกพลัง สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัฟเวอรี่-สยามพารากอนในนั้นมีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ

ด้วย สยามพิวรรธน์ ได้ปรับโครงสร้างบริหารโดยเฉพาะ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นประธานกรรมการ (ปี 2546) เชื่อกันว่ามีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นด้วย เท่าที่มีข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะ ในช่วงปี 2545 บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า เข้าไปถือหุ้น 31.74% ในบริษัทสยามพิวรรธน์

ขณะเชื่อว่ามีผู้ถืออีกกลุ่มหนึ่ง (อาจมีหลายราย) รวมกันมีอำนาจและบทบาทในการกำกับดูแลกิจการมากกว่า เท่าที่ปรากฏ (http://www.siampiwat.com) ในจำนวนคณะกรรมการ 14 คน มีตัวแทนซึ่งเป็นผู้บริหารเกี่ยวข้องกับเอ็มบีเค 4 คน

เรื่องราวเอ็มบีเคค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นต้องเท้าความอีกครั้ง เท่าที่พิจารณาอย่างกว้าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกับอีก 2 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) หรือ PRG และบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ด้วยถือหุ้นกันไปมา และถือว่ามีทีมกรรมการและผู้บริหารอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่าอยู่ภายใต้การนำของ บันเทิง ตันติวิท ในฐานะประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) มีความชัดเจนอีกว่า เป็นเรื่องราวธุรกิจ 2 กลุ่ม ก่อตั้งในยุคปลาย ๆ สงครามเวียดนาม ซึ่งมาบรรจบกัน นั่นคือ “ธนชาต” กับ “มาบุญครอง” ช่วงปี 2522 วิกฤตการณ์สถาบันการเงิน ถือกันว่าได้ทำลายโอกาส

“ผู้มาใหม่” กลุ่มใหญ่ที่มาจากสถาบันการเงินชั้นรอง ขณะเดียวกันได้สร้างโอกาส อย่างเฉพาะเจาะจงให้กับบางคน โดยเฉพาะ บันเทิง ตันติวิท มืออาชีพทางการเงิน อาจจะเป็นคนเดียวก็ได้ในเวลานั้น สามารถฟื้นฟูสถาบันการเงินเล็ก ๆ จนในเวลา 3 ทศวรรษต่อมา สามารถยกระดับเป็นธนาคารที่เกิดใหม่

ขณะที่บางคนเผชิญโลกที่เป็นจริงไม่เป็นไปอย่างที่คิด ในช่วงก่อนหน้าไม่นาน ศิริชัย บูลกุล ทายาทนักธุรกิจเก่า บุกเบิกสร้างไซโลและท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย

ในช่วงเวลาการส่งออกสินค้าพืชไร่เติบโต อาศัยจังหวะตลาดหุ้นเกิดใหม่และเฟื่องฟูช่วงสั้น ๆ ระดมทุน ตามมาด้วยแผนการใหญ่กว่า โครงการศูนย์การค้ามาบุญครอง ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในกรุงเทพฯ ทว่าต้องเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการบริหาร จนมีหนี้สินมากมาย ดิ้นรนอยู่เกือบสิบปี ในที่สุดเจ้าหนี้เข้ายึดกิจการ ราวปี 2530-2532 แล้วก็มาบรรจบกัน ตกอยู่ในเงื้อมมือเครือข่ายการเงินธนชาตศูนย์การค้ามาบุญครอง เปลี่ยนมาเป็น เอ็มบีเค อันที่จริง กลุ่มบริษัทเอ็มบีเค มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางหลากหลายทีเดียว ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ต่าง ๆ “ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจอื่น ๆ และธุรกิจสนับสนุน” อย่างที่ว่าไว้ในข้อสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ

“กลุ่มธนชาตมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากกว่าเครือข่ายบริการการเงินครบวงจร มาจากภาพเชื่อมโยงกับกิจการสำคัญบางแห่งในตลาดหุ้นไทย เป็นการเชื่อมโยงกับธุรกิจที่ผู้คนรู้จักอย่างดีแบบแยกส่วน แม้ภาพรวมดูเหมือนตั้งใจไม่แสดงให้ชัดเจน แต่ก็ถือว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่” ผมเคยสรุปภาพกลุ่มธนชาตไว้

เรื่องราวสยามพิวรรธน์กับกลุ่มธนชาต (ผ่านเอ็มบีเค) ได้กลับมาตื่นเต้นอีกครั้ง มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้ากันกรณี luxury premium outlets เพียงเล็กน้อย เพียงแต่ได้รับความสนใจไม่มากเท่าที่ควร

บริษัท เอ็ม บี เค จํากัด (มหาชน) (MBK) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 วันติดต่อกัน (เมื่อ 30 พฤษภาคม 2561 และ 1 มิถุนายน) เรื่องรายงานการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท สยามพิวรรธน์ จํากัด โดยระบุว่า บริษัท เอ็ม บี เค จํากัด (มหาชน) (MBK) และบริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จํากัด (MBK-HR) ได้ซื้อจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับที่ 3 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับที่ 4 และผู้ถือหุ้นรายย่อย มูลค่ารวมกันเกือบ ๆ 1,500 ล้านบาท มีผลทำให้ บริษัท เอ็ม บี เค จํากัด (มหาชน)

มีสัดส่วนการถือหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นจาก 31.86% เป็น 48.53% และบริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จํากัด ซึ่งไม่เคยมีหุ้นมาก่อน ได้ถือหุ้นในสัดส่วน 2.59% พิจารณาโดยรวม กลุ่มเอ็มบีเค ถือครองหุ้นสยามพิวรรธธน์ ในสัดส่วนมากที่สุด มากกว่าครึ่งหนึ่ง

ที่สำคัญ ในเอกสารดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า “บริษัท สยามพิวรรธน์ จํากัด คงมีฐานะเป็นบริษัทร่วมของ MBK เนื่องจากบริษัทไม่มีอํานาจควบคุม”


ความสนใจเริ่มจาก luxury premium outlets แล้วค่อย ๆ เชื่อมต่อโดยตรงมายังบทบาท สยามพิวรรธน์ และแล้วก็มาถึง เอ็มบีเค และกลุ่มธนชาต ในที่สุด