ชาตรี โสภณพนิช 2477-2561 (ตอน 1)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ชาตรี โสภณพนิช มีประสบการณ์ระบบธนาคารไทยอย่างยาวนาน เชื่อมต่อระหว่างยุคธนาคารกรุงเทพ สะท้อนวิวัฒนาการธนาคารไทย ยุทธศาสตร์ธนาคารเฉพาะเจาะจงและว่าด้วยสายสัมพันธ์

เขาเรียนหนังสือไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับน้อง ๆ ด้วยประกาศนียบัตรทางบัญชีจากฮ่องกง กับโอกาสศึกษาและฝึกงานการธนาคารที่อังกฤษในช่วงสั้น ๆ เวลาที่เหลือสู่ภาคสนามตั้งแต่ปี 2502 ในช่วงธนาคารกรุงเทพพัฒนาสู่อันดับหนึ่งแล้ว บุคคลที่เขาใกล้ชิดเป็นพิเศษคนแรก ๆ คือ บุญชู โรจนเสถียร (2464-2550) นักบัญชีและเป็นผู้วางรากฐานควบคุมและตรวจสอบภายใน ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบธนาคารยุคนั้น มีความสำคัญเคียงคู่กับ ชิน โสภณพนิช (2453-2531)

ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารยุคแรกด้วยความสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพถือกันว่าเป็นธุรกิจในเครือข่ายกลุ่มผิน-เผ่าแห่งซอยราชครู เมื่อถูกโค่นอำนาจโดยกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส) ประภาส จารุเสถียร เข้ามาเป็นประธานธนาคารกรุงเทพ ชิน โสภณพนิช จำต้องระเห็จไปอยู่ฮ่องกงเป็นเวลา 5 ปีเต็ม (2501-2506) บุญชูคือผู้นำธนาคารกรุงเทพในช่วงเวลานั้น จะด้วยเหตุการณ์บีบบังคับ หรือความตั้งใจก็แล้วแต่ การจัดวางบทบาทระหว่างชินกับบุญชูดังกล่าวได้ก่อผลดีต่อธนาคาร

ในช่วงชินไม่อยู่เมืองไทย ทายาทของเขามีเพียง ชาตรี โสภณพนิช เท่านั้นที่ทำงาน เรียนรู้ และสืบเนื่องสายสัมพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย

นอกจากชาตรีได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับธุรกิจจากประสบการณ์กรณีบิดา ที่สำคัญเขาได้เรียนรู้ถึงสายสัมพันธ์การบริหารธนาคารด้วย เขาค้นพบว่าในเวลานั้นผู้ทรงอิทธิพลในธนาคารกลุ่มหนึ่งมีส่วนสร้างธนาคารในยุคต้นรุ่นเดียวกับ ชิน โสภณพนิช นอกจาก บุญชู โรจนเสถียร แล้ว ยังมี ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, ประยูร วิญญรัตน์, ดำรงค์ กฤษณามระ เป็นต้น

ประสิทธิ์นักกฎหมายผู้มีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางในสังคมธุรกิจเชื้อสายจีน เป็นนักเจรจา ประนีประนอม ต่อมาเป็นนักการเมืองที่มีความยืดหยุ่นสูง ส่วนประยูรมีความรู้ด้านบัญชีในฐานะอาจารย์บัญชี ธรรมศาสตร์ยุคแรก ๆ และเคยเป็นผู้บริหารธนาคารชาติในยุคก่อตั้ง มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกสาขาอย่างจริงจัง

ส่วนดำรงค์ถือเป็นลูกหม้อคนแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2496 ในฐานะนักบัญชีเช่นเดียวกัน ทำงานด้วยความอุตสาหะ ไต่เต้าเป็นตัวอย่างของพนักงาน มีบทบาทในการบริหารยาวนาน มีบทบาททัดเทียมกับชาตรี โสภณพนิช ในช่วงหนึ่ง

ชาตรี โสภณพนิช ใช้เวลาถึง 20 ปีเต็มกว่าจะก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังอาจไม่ถึงพร้อมด้วยบุคลิกและการยอมรับในวงกว้าง ในฐานะผู้บริหารธนาคารอันดับหนึ่ง การมาของ ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นโมเดลใหม่และถือเป็นบทเรียนสืบทอดในยุคต่อมา

ปี 2526 ดร.อำนวย วีรวรรณ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร เป็นการเริ่มต้นยุคคนนอกในระบบธนาคาร
เขาเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เรื่องราวสายสัมพันธ์ในความหมายวงกว้างข้างต้น เป็นไปท่ามกลางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบธนาคารไทย โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ

เมื่อถึงเวลาทายาทที่ถูกวางตัว ชาติศิริ โสภณพนิช บุตรชายคนโตของชาตรี มีเส้นทางที่แน่ชัด เขามีโปรไฟล์ผ่านการศึกษาที่ดีมาก (ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมีจาก Worchester Polytechnic Institute ปริญญาโทสาขาเดียวกันจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ MBA จาก Sloan School of Management, MIT) แม้เส้นทางในการก้าวขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 8 ปีเท่านั้น (2529-2537) แต่ถือว่าอยู่ในโมเดลเฉพาะสืบทอดมา

ชาติศิริอยู่ท่ามกลางผู้มีบทบาทในธนาคารรุ่นราวคราวเดียวกับบิดา ทำงานธนาคารมานาน มีบารมี อาทิ ปิติ สิทธิอำนวย และ เดชา ตุลานันท์ เมื่อชาติศิริเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งสองขึ้นเป็นรองประธานกรรมการบริหาร โครงสร้างการบริหารธนาคารกรุงเทพ สะท้อนความเชื่อมั่นโครงสร้างและวัฒนธรรมที่สืบทอด ธนาคารกรุงเทพมีโครงสร้างการบริหารช่วงหนึ่ง (ราวปี 2527-2535) มีประธานกรรมการ (ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์) ประธานกรรมการบริหาร (อำนวย วีรวรรณ) กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ชาตรี โสภณพนิช)

และกรรมการผู้อำนวยการ (ดำรงค์ กฤษณามระ) ถือว่าเป็นช่วงสำคัญมาก หนึ่ง-ชิน โสภณพนิช ได้ลาออกจากประธานกรรมการ วางมือการบริหาร สอง-เป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังก้าวผ่านความยุ่งยากไป และความรุ่งโรจน์ช่วงหนึ่ง ที่สำคัญถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคชินสู่ชาตรีอย่างแท้จริง

ช่วงเวลาที่ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีการกล่าวถึงบุคคลสำคัญอย่างน้อย 2 คน โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (2486-2559) เริ่มต้นเป็นประธานคณะทำงานวางระบบของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในปี 2533 ด้วยประสบการณ์ในภาคราชการมาประมาณ 30 ปี เขาได้รับการยอมรับทั้งในแวดวงวิชาการและเทคโนแครตด้วยประสบการณ์

ในหน่วยงานวางแผนของรัฐจากธนาคารโลกและงานพัฒนาชนบท โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เชื่อกันว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับมหภาค เข้าใจปัญหาระดับโครงสร้าง ต่อมาปี 2542

เขาก็มาเป็นประธานกรรมการบริหาร ดูเป็นไปตามโมเดลคล้ายยุคต้น ๆ ชาตรี โสภณพนิช ที่แตกต่างอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการปรับตัวครั้งใหญ่ของระบบธนาคาร ดูหนักหนากว่าช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันและลดค่าเงินบาทเมื่อเกือบ ๆ 2 ทศวรรษที่แล้ว

จากยุคนักบัญชียุคก่อตั้ง เพื่อฟื้นฟูและการพัฒนาระบบธนาคารไทยอย่างจริงจังครั้งแรก ๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มาสู่ยุคของการเสริมสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ สร้างภาพลักษณ์เปิดกว้างในช่วงการขยายอาณาจักรธนาคารอย่างกว้างขวาง ตลาดการเงินและทุนเปิดกว้างขึ้น แล้วก็มาสู่ยุคระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายในยุคธนาคารไทยเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้น

สิงห์ ตังคสวัสดิ์ (เลยวัย 70 ปีแล้ว) เป็นอีกคน เข้ามาธนาคารกรุงเทพในปี 2548 ดูเหมือนเข้ามาเติมช่องว่าง และวัยระหว่างคนรุ่นบิดา-บุตร เขามีประสบการณ์ในแวดวงเศรษฐกิจการเงินการคลัง รับราชการในกระทรวงการคลัง มีบทบาทบริหารเงินกู้ต่างประเทศ จากนั้นเข้าร่วมงานกับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีในช่วงขยายกิจการครั้งใหญ่
(2523-2539) มีบทบาทด้านการเงินและการปรับโครงสร้างกิจการ ต่อจากนั้นมาเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงตกต่ำช่วงหนึ่ง (2539-2542) และต่อด้วยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย (2542-2544)

และแล้วมาถึงคนล่าสุด ถือเป็นคนรุ่นเดียวกับ ชาติศิริ โสภณพนิช (วัยประมาณ 60 ปี) ด้วยวัยมากกว่าแค่ 2-3 ปี และเป็นจังหวะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าสนใจ จรัมพร โชติกเสถียร นักบริหารผู้มีโปรไฟล์ที่ดีมากอีกคนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์กับธนาคารไทยพาณิชย์มาประมาณ 2 ทศวรรษ ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งบริหารสำคัญ โดยเฉพาะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ (2553-2557) และผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (2557-2560)

ก่อนจะเข้ามาเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพเพียงปีเศษ ๆ และต่อมาเป็นกรรมการบริหารธนาคารด้วย พัฒนาการธนาคารกรุงเทพสามารถก้าวผ่านยุคสมัยมาได้ย่อมเชื่อมโยงกับบทบาท ชาตรี โสภณพนิช มองผ่านโครงสร้างการบริหาร คงสืบทอดอย่างไม่ลดละด้วยปรากฏการณ์คนรุ่นเขาเป็นส่วนใหญ่


ท่ามกลางคนรุ่นหลังจำนวนน้อย ทั้งในคณะกรรมการธนาคารและคณะกรรมการบริหาร จึงน่าสนใจและติดตาม เมื่อพ้นยุคชาตรี โสภณพนิช แล้วจะเป็นเช่นไร