Laos Connection การไฟฟ้าลาว-ไทย (1)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

เรื่องราวที่สนใจว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ลาว ควรเริ่มต้นกรณี กฟผ.กับการไฟฟ้าลาว

“บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศไทยที่มุ่งมั่นสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำครบวงจรที่สร้างมูลค่าในเอเชีย-แปซิฟิก ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ บริษัทก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 ด้วยทุนจดทะเบียน 14,500 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 45 ปัจจุบันบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทมหาชน และจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้สัญลักษณ์ “RATCH” ในการซื้อขายหลักทรัพย์” ควรเริ่มต้นจากข้อมูลเบื้องต้น (อ้างจาก http://www.ratch.co.th) ก่อนจะไปภาพความสัมพันธ์บางมิติว่าด้วยยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

นั่นคือเรื่องราวบางตอนเชื่อมโยงกับกิจการใน สปป.ลาว โดยเฉพาะเจาะจง “ในปี 2560 บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์… ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา… ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยมีกำหนดแล้วเสร็จและจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562” บางส่วนจากสารจากประธานกรรมการ (สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์) ปรากฏในรายงานประจำปี 2560 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

เท่าที่ประมวลข้อมูลทั้ง 3 โครงการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ลงทุน (ในสัดส่วน 25%) ไปแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า เป็นแผนการลงทุนในอีกกรณีหนึ่ง “กุมภาพันธ์ปี 2559 ได้เข้าซื้อหุ้น EDL-Gen ในตลาดหลักทรัพย์ลาวจำนวน 4,514,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 5,900 กีบ ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวผ่าน RHIS และ RL เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 9.84 เป็นร้อยละ 10.11” จากรายงานประจำปี 2559

เมื่อพิจารณาเทียบเคียงข้อมูลทางการเงินสำคัญ (โปรดพิจารณาตารางประกอบ ข้อมูลจำเพาะ EDL-Generation Public Company) การถือหุ้นสัดส่วนประมาณ 10% ในกิจการซึ่งมีสินทรัพย์กว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 78,000 ล้านบาท ย่อมมีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งเมื่อศึกษาข้อมูลบริษัทดังกล่าวมากขึ้น ดูความสำคัญจะเพิ่มมากขึ้นหลายมิติ

เรื่องราวดังกล่าวมิได้มีความลึกลับซับซ้อนแต่ประการใด ข้อมูลสำคัญ ๆ ปรากฏอยู่ใน EDL-Generation Public Company Presentation Thailand Focus 2017

บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว หรือ EDL-Generation Public Company คือกิจการด้านพลังงานไฟฟ้าแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งใน สปป.ลาว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 โดยแยกกิจการมาจากการไฟฟ้าลาว (Electricite Du Laos หรือ ED) รัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว ตามแผนการระดมทุนจากโลกภายนอก จากโลกตลาดทุนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เป็นไปตามยุทธศาสตร์ประเทศที่วางใจอย่างเปิดเผย

“สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมโยงตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ได้ประโยชน์จากการเติบโตในภูมิภาค” (Lao PDR is a land-linked country strategically located to benefit from growth in the region.) “ข้อความสำคัญว่าด้วยภาพรวม (Country Overview จาก EDL-Generation Public Company Presentation Thailand Focus 2017) ให้ความสำคัญเชื่อมโยงกับอีกตอนหนึ่ง “79.2% of the country is covered by forest and woodland with rugged mountains-ideal for hydroelectric generation.” (พื้นที่ 79.2% ของประเทศปกคลุมด้วยป่าไม้และป่าไม้ที่มีภูเขาขรุขระเหมาะสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ)” ทั้งนี้บทสรุปข้างต้นอ้างอิงที่มาจาก The World Bank, 2016

เป็นที่ทราบกันดีถึงยุทธศาสตร์ดังกล่าว ด้วยเป้าหมายชัดเจน สปป.ลาวจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 6,441 MW ในปี 2559 เป็น 10,277 MW ในปี 2563 “การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเป็นตามโอกาสที่มีมากขึ้นของธุรกิจพลังไฟฟ้าลาว เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS)”

EDL-Generation Public Company ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 5 แห่ง โดยได้รับโอนมาจาก Electricite Du Laos หรือ EDL เพื่อบริหารและขายไฟฟ้ากลับไปยัง EDL และมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producers หรือ IPP) อีก 5 แห่ง รวมทั้งสร้างสายส่ง สถานีจ่ายไฟฟ้า เพื่อขายให้กับ EDL และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งนี้มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ในสัดส่วนประมาณ 22% กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดใน สปป.ลาว (ปี 2559) และเชื่อว่าจะเพิ่มเป็นเท่าตัวในอีก 3-4 ปีข้างหน้า (2563) และจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ

โมเดลการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานบางระดับ กรณีกิจการด้านไฟฟ้าลาว ดูเหมือนดำเนินไปตามกระแสและแนวโน้มที่เกิดขึ้นในภูมิภาคในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ อาจเทียบเคียงกับกรณี China Mobile (แยกกิจการมาจาก China Telecom) ซึ่งดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างดี

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องที่ว่าอยู่ที่รัฐบาลพยายามครอบครองหุ้นข้างมากไว้อย่างมั่นคง กรณี China Mobile กว่า 70% ใกล้เคียงกับกรณี EDL-Generation กำหนดเพดานชัดเจน สปป.ลาว (ผ่าน Electricite Du Laos หรือ EDL) ถือหุ้นไว้ถึง 75%

EDL-Generation ก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัทได้เพียงปีเดียว ปี 2555 ได้เดินตามแผนขั้นต่อไป ได้เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นลาว นับเป็นกิจการแรก ๆ ไม่กี่แห่ง ในจังหวะตลาดหุ้นลาว (Lao Securities Exchange หรือ LSX) เพิ่งก่อตั้งมาหมาด ๆ

LSX จัดตั้งและเริ่มเปิดทำการครั้งแรกเมื่อต้นปี 2555 ด้วยความร่วมมือ ได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจาก Korea Exchange (KRX) ทั้งนี้ KRX ได้เข้ามาถือหุ้นใน LSX จำนวน 49% ด้วย อย่างไรก็ดี ก็ได้รับความช่วยเหลือแนะนำอย่างเต็มที่ จากตลาดหุ้นไทย ปัจจุบัน LSX มีบริษัทจดทะเบียนและมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเพียง 7 บริษัท

ด้วยมีข้อเท็จจริงและข้อจำกัดบางประการ EDL-Generation ในฐานะกิจการสำคัญและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น การอ้างอิงกับระบบและตลาดหุ้นไทย จึงเป็นทางออกที่มีความเป็นไปได้ นอกจากบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กิจการในเครือ กฟผ. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ได้เข้าถือหุ้นใน EDL-Generation ประมาณ 10% แล้ว ยังมีธนาคารกรุงไทยถือหุ้นใน EDL-Generation ด้วยอีก 1.54%

ไม่เพียงเท่านั้น EDL-Generation ได้ระดมทุนผ่านตลาดทุนไทยแล้วถึง 2 ครั้ง เป็นจำนวนเงินเกือบ ๆ 2 หมื่นล้านบาท กล่าวคือ ในปี 2557 ออกตราสารหนี้ (debentures) เป็นสกุลเงินบาทจำนวน 6,500 ล้านบาท และในปี 2559 ออกพันธบัตร (bond) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกจำนวน 312 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้กระบวนการนั้น EDL-Generation ได้ถูกจัดอันดับเครดิต ซึ่งเป็นครั้งแรก และโดยหน่วยงานจัดอันดับเครดิตแห่งเดียว นั่นคือบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating Co.,Ltd.) แห่งประเทศไทย

กรณีความสัมพันธ์ระหว่างราชบุรีโฮลดิ้ง กับ EDL-Generation สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว มีความหมาย มีมิติมากกว่าที่คิด