Laos Connection จากเขื่อนไฟฟ้า…ธนาคารและร้านกาแฟ (2)

DCIM100MEDIADJI_0068.JPG

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

เรื่องราวว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย-ลาว จุดประกายจากกรณีเขื่อนและกระแสไฟฟ้า ได้ขยายวงสู่มิติอื่น ๆ

“เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย มีมูลค่าโครงการ 3.24 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ มีผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งของไทยถือหุ้น 25% และบริษัทข้ามชาติเกาหลีใต้ 2 แห่ง 25% กับวิสาหกิจของลาว (Laos Holding State Enterprise) โครงการใช้เงินกู้จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท จากธนาคารไทย 4 แห่ง คือ กรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กรุงศรีอยุธยา และธนชาต” สาระสำคัญ ๆ ซึ่งขยายความต่อจากเหตุการณ์อุบัติภัย ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นใน สปป.ลาว เป็นความเชื่อมโยงมาสู่ข้อวิตกวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

อันที่จริง มีมิติสำคัญอื่น ๆ ควรอรรถาธิบาย ว่าไปแล้วเป็นความต่อเนื่องจากข้อเขียนชิ้นก่อนหน้า (Laos Connection (1) การไฟฟ้า ลาว-ไทย ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2561)

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ไทย-ลาวดำเนินไปอย่างที่ควร ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน พรมแดนติดต่อกันมากที่สุด ส่วนใหญ่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดนเชื่อมไว้ ภูมิศาสตร์ทางความสัมพันธ์แดนต่อแดนซึ่งเข้าถึงกันง่ายและสะดวกอย่างยิ่ง มีมานาน ด้วยเรื่องราวมากมายในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญเชื้อสายและวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกันมากที่สุดอีกด้วย

ย่อมจะเป็นไปเช่นนั้น ในฐานะไทยมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ยุทธศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ เชื่อมโยงพื้นที่ธรรมชาติ ป่าเขากับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ยุทธศาสตร์ซึ่งมีความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มแห่งยุคสมัย ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานทดแทนสำคัญในภูมิภาค

ยุทธศาสตร์การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ “การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า…เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS)” (อ้างจากตอนที่แล้ว) ทั้งนี้ “จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของ สปป.ลาว ในปี 2559-2568 ยังคงเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเป็นหลัก และมีการเสริมระบบจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่น เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบให้มากขึ้น โดยทางรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL)” บทวิเคราะห์ของบริษัทโรงไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งว่าไว้ด้วย (ปรากฏในรายงานประจำปี 2560)มีการเปิดเผยข้อมูลว่าธุรกิจไทย เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใน สปป.ลาวมากกว่า 10 โครงการ ดูเหมือนมีบทบาทอย่างมาก ๆ ด้วยช่วงเวลาความสัมพันธ์นั้น ต่อเนื่องมาตั้งแต่การสร้างเขื่อนแห่งแรก-โครงการน้ำงึม 1 ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อเกือบ 5 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2514) หากเปรียบเทียบกับข้อมูลทั้งชุดแล้ว บทสรุปอาจเปลี่ยนไป

โครงการเขื่อนใน สปป.ลาวทั้งหมดซึ่งเปิดดำเนินการแล้วมีถึงประมาณ 23 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกจำนวนพอ ๆ กัน ท่ามกลางกระแสในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลง ดูเหมือนบทบาทธุรกิจไทยในยุทธศาสตร์สำคัญของ สปป.ลาวข้างต้น ได้ลดลงไปพอสมควร ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ว่าไปแล้วเป็นกระแสและทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจไทย-ลาวซึ่งกำลังดำเนินไปด้วย

ภาพควรขยายเพิ่มเติมด้วยว่าธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นกิจการจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เริ่มจากธุรกิจก่อสร้างอย่างบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบริษัท ช.การช่าง บริษัทด้านพลังงาน อย่างบริษัทบ้านปู บริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ และกิจการในเครือ กฟผ. ทั้งราชบุรีโฮลดิ้ง และ EGCO ไปจนถึงกิจการเก่าในยุคอาณานิคม ซึ่งปรับตัวเข้ากับโอกาสใหม่ ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งมีความสำคัญกับการสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็ก

เนื่องด้วยลักษณะโครงการใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับความชำนาญหลายด้าน ย่อมเกี่ยวกับบริษัทไทยอื่น ๆ รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษา มองในแง่การลงทุน โครงการดังกล่าวใช้เงินจำนวนมาก โครงการซึ่งธุรกิจไทยย่อมเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปยังตลาดเงินไทยทั้งในตลาดหุ้นและเงินกู้ธนาคาร

ขณะที่ธนาคารไทย มีบทบาทในสังคมลาววงกว้างไม่มากนัก มีธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียวในฐานะที่เป็นบริษัทในเครือ (subsidiary bank) คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่เหลือมีฐานะสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (foreign commercial bank branch) ทั้งหมดตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

บทบาทธนาคารไทยในลาวดำเนินไปตามกระแสธุรกิจไทยลงทุนในลาว ซึ่งมีกรณีความเคลื่อนไหวพอสมควรมาสักพักใหญ่ ๆ เป็นไปอย่างเงียบ ๆ

“กลุ่ม ซี.พี.เข้าไปสนับสนุนให้ชาวลาวปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยพันธุ์เฉพาะของ ซี.พี.ในแขวงไซยะบุลี บริษัทสยามน้ำมันละหุ่ง เข้าไปส่งเสริมการปลูกและรับซื้อเมล็ดละหุ่งในแขวงเวียงจันทน์และไซยะบุลี กลุ่มแอ๊ดวานซ์ อะโกร เจ้าของผลิตภัณฑ์กระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ส่งเสริมและรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสในแขวงสะหวันนะเขต คำม่วน และเวียงจันทน์ บริษัทไทยฮั้วยางพารา ผู้นำธุรกิจยางพารา ร่วมทุนกับฝ่ายลาวนำกล้ายางไปทดลองปลูกและส่งเสริมเกษตรกรในแขวงสะหวันนะเขต และบริษัทเจียเม้ง ธุรกิจค้าข้าวเก่าแก่ของไทย เข้าไปทดลองปลูกข้าวทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ใหม่ ๆ ในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ ไปจนถึงกลุ่มน้ำตาลมิตรผล เริ่มต้นธุรกิจในประเทศลาว ตามแผนการปลูกอ้อยประมาณ 1 แสนไร่ และตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลมากถึงล้านตัน/ปี ในแขวงสะหวันนะเขต” ผมเคยนำเสนอไว้เมื่อ 5-6 ปี จะนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดในโอกาสต่อไป

ขณะที่กลุ่มทีซีซี ดูครึกโครมกว่าโครงการอื่น ๆ ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานใช้พื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่ในโครงการครบวงจรจากการปลูกกาแฟในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร บริเวณที่ราบสูงบอละเวนในแขวงจำปาสัก ผลผลิตกำลังออกมาสู่ตลาดผู้บริโภควงกว้าง ซึ่งไม่ได้โฟกัสที่ สปป.ลาว ในขณะที่กลุ่มทีซีซีมีธุรกิจค้าปลีก ลักษณะร้านสะดวกซื้อ (convenience store) หลายแห่งในเวียงจันทน์ ซึ่งเปิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เป็นไปตามความพยายามเข้าถึงผู้บริโภคลาวมากขึ้น ๆ

ที่น่าสนใจกรณีเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้บริโภคชาวลาวมากเป็นพิเศษ ถือเป็นการบุกเบิกนั้น มาจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ ปตท.

ปตท.บุกเบิกธุรกิจใน สปป.ลาวมานานพอสมควร ราว ๆ 25 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะเปิดสถานีบริการน้ำมัน ใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะมาถึงจุดเปลี่ยน จุดเชื่อมโยงกับผู้บริโภคชาวลาวอย่างเป็นจริงเป็นจัง คงต้องนับเนื่องเมื่อปี 2555 เมื่อเปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบเดียวกันในเมืองไทย ที่เรียกว่า PTT Life Station พร้อม ๆ กับการเปิดตัวร้านกาแฟ Cafe Amazon

ความเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น ด้วยมุมมอง ด้วยโอกาส การขยายตัว สถานีบริการน้ำมันซึ่งมีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ Jiffy ของ ปตท.เอง พร้อมกับการขยายเครือข่ายร้านกาแฟ Cafe Amazon ออกนอกสถานีบริการน้ำมัน ตามโมเดล franchise มากขึ้นเรื่อย ๆ

ตามแผน ปตท.เฉพาะ Jiffy Convenience Store ในปัจจุบัน 2560 ใน สปป.ลาว ซึ่งมีประมาณ 20 สาขา จะเพิ่มจำนวนร้าน เป็น 97 สาขาภายในปี 2565 ขณะที่ Cafe Amazon ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากผู้บริโภคชาวลาว มีทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน มากกว่า 20 แห่งแล้วในปัจจุบัน ก็มีแผนการจะเพิ่มขึ้นเป็น 75 แห่งในช่วงเดียวกัน


เชื่อกันว่า ความสัมพันธ์ทางธุรกิจไทย-ลาว มีปรากฏการณ์ 2 ด้านที่แตกต่างกัน กรณีโครงการใหญ่ เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของรัฐ คงดำเนินไปตามยุทธศาสตร์ เป็นไปตามสายสัมพันธ์แห่งอดีต กับกระแสความสมดุลทางภูมิภาค อีกด้านหนึ่ง ว่าด้วยธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนลาว อาจกล่าวได้ว่าโอกาส ธุรกิจไทย กับสินค้าแบรนด์ไทยเปิดกว้างทีเดียว