จังหวะเวลาซีพีเอ็น (1)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//: viratts.wordpress.com

เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ กำลังเข้าสู่โหมดสปีดอย่างเต็มกำลัง เมื่อ “เซ็นทรัลต้องโต” ย่อมต้องมีซีพีเอ็นข้อมูลพื้นฐานผมเคยอ้างไว้ (เอกสาร-Central Group Corporate Book 2018 ในหัวข้อ Central Group : Chronicle of Magnificent กับข้อเขียนล่าสุด-เซ็นทรัลต้องโต ประชาชาติธุรกิจ เมษายน 2561)
“สะท้อนภาพเป้าหมายและแผนการเชิงรุกทางธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการมาของผู้นำคนใหม่ คนรุ่นที่ 3 ของธุรกิจครอบครัวตระกูลจิราธิวัฒน์ เมื่อ ทศ จิราธิวัฒน์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่ปลายปี 2556 ข้อมูลข้างต้นดูเหมือนตั้งใจนำเสนอ แสดงให้เห็นว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำสอดคล้องกับช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากตัวเลขโดยเฉพาะมองผ่านยอดขาย ซึ่งขยายตัวอย่างน่าทึ่ง จากระดับ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ช่วงปี 2554-2555) ใช้เวลาประมาณ 5 ปี หรือเข้าสู่ยุค ทศ จิราธิวัฒน์ เพียง 3 ปี สามารถเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทะลุ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2559)”

ภาพนั้นย่อมสัมพันธ์กับบทบาทเชิงรุกของซีพีเอ็นอย่างมิพักสงสัย ซีพีเอ็น (CPN : บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)) ก่อตั้งขึ้นพร้อม ๆ กับโครงการเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว “อีกจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ธุรกิจค้าปลีกไทย ด้วยกำเนิดของเซ็นทรัลลาดพร้าว ศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกของไทย ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ ศูนย์การประชุม…ที่ยังไม่เคยมีบริษัทใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท” ข้อมูลของเซ็นทรัลเองเคยกล่าวถึงไว้

ซีพีเอ็นก่อตั้งขึ้นในปี 2523 ก่อนเซ็นทรัล ลาดพร้าว เปิดตัวเล็กน้อย (ปี 2525) ว่าไปแล้ว “ศูนย์การค้าครบวงจร” ที่ว่า คือ โมเดล mixed-use ในปัจจุบัน ต่อมาในปี 2538 ซีพีเอ็นได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น บทบาทสำคัญปรากฏอย่างชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับในฐานะ “หัวหอก” กลุ่มเซ็นทรัลในแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีก

ซีพีเอ็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีลักษณะธุรกิจมีโฟกัสที่แตกต่าง ให้ความสำคัญธุรกิจศูนย์การค้ามากเป็นพิเศษ “ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นที่มาของรายได้มากกว่า 80% ของรายได้รวม” (http://www.cpn.co.th/) และเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า คู่ค้าหลักคือ ธุรกิจในเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัลมีหลากหลายกว่าที่คิด ไม่เพียงค้าปลีก หากรวมถึงเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารด้วย

ข้อมูลล่าสุด (CPN Investor Presentation August 2018) ซีพีเอ็นดำเนินธุรกิจหลักสำคัญที่สุด เป็นเจ้าของและบริหารศูนย์การค้าภายใต้แบรนด์หลัก -Central Plaza และอื่น ๆ อย่าง Central World และ Central Festival มีทั้งหมด 32 แห่ง ในกรุงเทพฯ 14 แห่ง และในพื้นที่จังหวัดสำคัญ ๆ และแหล่งท่องเที่ยวอีก 18 แห่ง นอกจากนั้นเป็นโครงการแบบผสม (mixed-use properties) ประกอบด้วย สำนักงาน 7 แห่ง ที่พักอาศัย 6 แห่ง โรงแรม 2 แห่ง และที่พักให้เช่าอีก 1 แห่ง

ไม่กี่ปีมานี้ ซีพีเอ็นมีบทบาทโลดโผน ตื่นเต้นมากขึ้น จากแผนพัฒนาอย่างที่ควรเป็นไป มีเป้าหมายแน่ชัดในการปรับปรุงพลิกโฉมสินทรัพย์ดั้งเดิม พร้อม ๆ กับการบุกเบิกสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ ไปสู่แผนการที่มียุทธศาสตร์ที่แตกต่าง เพื่อก้าวไปในอัตราเร่งยิ่งขึ้นร่วมทุน

โมเดลการร่วมทุนที่สำคัญที่น่าสนใจ กรณีซีพีเอ็นบรรลุข้อตกลงร่วมทุนราว ๆ ปี 2556 กับ I-Bhd แห่งมาเลเซีย ในแผนการสร้างเมืองใหม่ โครงการ mixed-use ขนาดใหญ่ ที่สำคัญ คือ ศูนย์การค้าแห่งแรกของซีพีเอ็นในต่างประเทศ และเป็นก้าวแรกในการนำพาธุรกิจสู่อาเซียน (ASEAN) ภายใต้ชื่อ Central Plaza I-City มูลค่าโครงการเกือบ ๆ หนึ่งหมื่นล้านบาท

จากนั้นปี 2558 ซีพีเอ็นได้บรรลุข้อตกลงร่วมมือกับ IKEA เครือข่ายร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังระดับโลก เพื่อเปิดสาขาที่ 2 ในเมืองไทยที่ Central Plaza Westgate แทนที่แผนการเดิมในโครงการ Mega Bangyai ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน เป็นดีลที่มีความสำคัญเช่นกัน เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนคู่แข่งทางธุรกิจให้เป็นพันธมิตร ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีความหมาย

IKEA เครือข่ายธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกแห่งสวีเดน มีสาขาทั่วโลกมีบางเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ IKANO ซึ่งเป็น holding company ครอบครัว Ingvar Kamprad ผู้ก่อตั้ง IKEA ทั้งนี้ IKANO มีธุรกิจหนึ่งที่เรียกว่า Retail Asia ถือสิทธิ์ในการสร้างเครือข่าย IKEA ในภูมิภาคอาเซียน เปิดฉากขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โครงการศูนย์การค้าแห่งแรกในภูมิภาคนี้ของ IKANO เปิดตัวขึ้นในปี 2549 ก่อนจะมาที่ปักหลักเมืองไทยครั้งแรกที่ Mega Bangna เมื่อปี 2555

ในปี 2560 มีดีลสำคัญอีก ซีพีเอ็นบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มดุสิตธานี ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการ mixed-use มูลค่าโครงการกว่าสามหมื่นล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ เป็นแผนการปรับโฉมโรงแรมดุสิตธานีเดิมให้เข้ากับกรุงเทพฯสมัยใหม่ โดยมีเครือข่ายธุรกิจห้างสรรพสินค้ากลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเปิดพื้นที่ด้วย

เป็นดีลที่น่าสนใจเช่นกัน เป็นความร่วมมืออย่างเฉพาะเจาะจง ทั้ง ๆ ที่เครือเซ็นทรัลกับดุสิตธานี เป็นคู่แข่งกันในธุรกิจโรงแรม ดีลใหม่เอื้อต่อกลุ่มเซ็นทรัลพอสมควร ในความพยายามสร้างและผนึกเครือข่ายค้าปลีกในสมัยใหม่ใจกลางกรุงเทพฯให้มีพลังมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่มีคู่แข่งน่าเกรงขามหลายราย

โมเดลหลากหลาย

อันที่จริง ความร่วมมือกับ IKEA เป็นส่วนหนึ่งในแผนการสร้างโมเดลใหม่ ๆ เป็นตามกระแส ซึ่งเซ็นทรัลมาทีหลัง–super regional mall จากนั้นเมื่อต้นปีนี้ (เมษายน 2561) ซีพีเอ็นมีความพยายามก้าวสู่โมเดลใหม่อีกครั้ง เปิดแผนโครงการใหม่–เซ็นทรัล วิลเลจ (Central Village-Bangkok Outlet Experience) “เป็นลักเซอรี่ เอาต์เลต (luxury outlet) มาตรฐานระดับโลกที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกในไทย ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจับจ่ายใช้สอยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นจังหวะเดียวกันกับคู่แข่งรายใหญ่บางรายเข้าสู่เกมเผชิญหน้า

ซื้อกิจการ

แล้วก็มาถึงดีลครึกโครมที่สุดในประวัติศาสตร์ซีพีเอ็นก็ว่าได้ กรณีเข้าถือหุ้นใหญ่ในกิจการอสังหาริมทรัพย์ไทยรายสำคัญ ซึ่งเป็นกิจการในตลาดหุ้น

แผนการล่าสุดของซีพีเอ็น “หัวหอก” เครือข่ายธุรกิจเซ็นทรัล ย่อมมีสาระและความหมาย