ห้างญี่ปุ่นผันแปร

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

เรื่องราวล่าสุดของห้างโตคิวในไทย สะท้อนความเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งญี่ปุ่นในหลายแง่หลายมุม

หัวข้อข่าวที่น่าสนใจ “พ่ายศึกค้าปลีก ! ห้างสรรพสินค้า “โตคิว” ปิดสาขาพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์” (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 6 พฤศจิกายน 2561) “ห้างสรรพสินค้าโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ที่เปิดให้บริการในปี 2558 ได้ประกาศปิดสาขาในเดือนมกราคม 2562” เท่าที่อ่านประกาศทางการของห้าง ไม่ได้แสดงเหตุผลใด ๆ อย่างที่ควร

ห้างโตคิว (Tokyu Department Store) เข้ามาเมืองไทยแล้ว 34 ปี ปักหลักที่เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ใจกลางย่านจับจ่ายใช้สอยแห่งกรุงเทพฯ ก่อนจะมีแผนการเปิดสาขาใหม่อีกแห่งที่พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ในอีก 3 ทศวรรษต่อมา เชื่อว่าเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างรอบคอบ ทั้งยึดโมเดลธุรกิจค่อนข้างอนุรักษนิยม การร่วมทุน (สัดส่วน 50 : 50) กับบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เจ้าของเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ และพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ในเวลานั้นประกาศแผนการคึกคักพอสมควร ด้วยเงินลงทุนขั้นต้น 400 ล้านบาท

ความพลิกผัน เปลี่ยนแผน เกิดขึ้นกับห้างสรรพสินค้าโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี จึงเป็นกรณีน่าสนใจในภาพกว้าง ห้างญี่ปุ่นกับสังคมไทย มีเรื่อง มีราว มีสีสันไม่น้อย

เริ่มต้นตั้งแต่ Daimaru เข้ามาเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว (ปี 2507) สาขาแรกในย่านราชประสงค์ ประสบความสำเร็จด้วยดี อ้างอิงกับกระแสและการเติบโตของสินค้าญี่ปุ่นในสังคมไทย โดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงตามมาด้วยสาขาที่ 2 ย่านพระโขนง (ปี 2524) แต่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควร ต้องตัดสินใจปิดตัวลงในอีก 6 ปีถัดมา ขณะที่ Daimaru สาขาแรกต้องเผชิญปัญหาด้วยทำเลและคู่ค้าที่เปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องดราม่าพอสมควร ตอนสุดท้ายมาจบลงที่เดียวกับโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ขณะนั้นเป็นเสรีเซ็นเตอร์ แต่แผนธุรกิจไม่เป็นอย่างที่คาด ในที่สุด Daimaru ถอนตัวจากเมืองไทยอย่างสิ้นเชิงในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (ปี 2543) และในเวลาต่อมาเสรีเซ็นเตอร์เอาตัวไม่รอดเช่นกัน ได้ขายกิจการให้กับกลุ่มเอ็มบีเค และสยามพิวรรธน์ แล้วปรับโฉมเป็นพาราไดซ์ พาร์ค (ปี 2553)

อีกกรณีหนึ่งควรกล่าวถึง Yaohan ห้างญี่ปุ่นที่มีแผนธุรกิจเชิงรุกอย่างที่ห้างญี่ปุ่นไม่เคยทำ ขยายกิจการอย่างมากมายในต่างประเทศ รวมทั้งเปิดตัวในเมืองไทยช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเมื่อปี 2534 และแล้วก็ต้องปิดตัวลงเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเอเชียในอีก 6 ปีถัดมา ไม่เพียงเฉพาะในเมืองไทย Yaohan ทั้งหมดต้องล้มละลายและขายกิจการ กิจการในญี่ปุ่นและเอเชียได้กลายเป็นของ MON เจ้าของกิจการ hypermarket และ supermarket ซึ่งมีแบรนด์ JUSCO และ MaxValu ส่วนในเมืองไทย JUSCO มีภาพลักษณ์ไม่ดีนัก จึงทั้งปรับโมเดลธุรกิจและเปลี่ยนชื่อเป็น MaxValu

มองในมิติสำคัญ Tokyu กับการปรับเปลี่ยนแผนอย่างพลิกความคาดหมายพอสมควรเพียงช่วงเวลา 4 ปี ถือเป็นกรณีที่มีความเฉพาะเจาะจงอย่างมาก ๆ โดยเปรียบเทียบกับกรณีที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นที่ดูตื่นเต้นและย้อนแย้งพอสมควร ขณะที่ Tokyu ประกาศปิดสาขา Takashimaya ห้างดังญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่ง กำลังเปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทย

Takashimaya ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นซึ่งก่อตั้งมายาวนานกว่า 180 ปี “โดยยกห้างระดับพรีเมี่ยมแบบ full-scale จากญี่ปุ่นมาเปิดตัวสาขาในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า Siam Takashimaya ณ ไอคอนสยาม (ICONSIAM) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561” เรื่องราวกำลังกลายเป็นกระแสอย่างครึกโครมเวลานี้ในบรรดาห้างญี่ปุ่นในเมืองไทยนั้น ดูไปแล้ว Tokyu มีลักษณะเฉพาะมากกว่าห้างอื่น ๆ

ปัจจุบันกรุงเทพฯเป็นที่ที่อยู่ห้างญี่ปุ่น (ในที่นี้อ้างเฉพาะ department store) 3 แห่ง นอกจาก Tokyu (เอ็มบีเค เซ็นเตอร์) กลายเป็นห้างที่อยู่มานานที่สุด Isetan (เซ็นทรัลเวิลด์) ตามมาเปิดในเมืองไทยปี 2535 และรายล่าสุด Takashimaya เพิ่งเปิดตัว เท่าที่ติดตาม พบว่า Takashimaya กับ Isetan ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าอย่างโฟกัส ทั้งมีเครือข่ายในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

“Takashimaya ก่อตั้งร้านเสื้อผ้าในเมืองเกียวโตเมื่อปี ค.ศ. 1831…ตลอด 180 ปี และดำรงไว้เป็นวิถีปฏิบัติของบริษัท ซึ่งกลายมาเป็นตัวตนของเราจวบจนปัจจุบัน ณ ปัจจุบันมีทั้งหมด 19 สาขาในประเทศญี่ปุ่น และอีก 3 สาขาในสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และเวียดนาม รวมถึง Siam Takashimaya สาขากรุงเทพมหานคร ร่วมกับโครงการไอคอนสยามที่จะเป็นสาขาล่าสุด” (อ้างจาก https://www.siamtakashimaya.co.th/about) โดยระบุแผนการขยายสาขาต่างประเทศไว้ด้วย “เริ่มจากสาขาแรกในต่างประเทศ ทาคาชิมายะ สิงคโปร์ เปิดในปี ค.ศ. 1993 Takashimaya เป็นผู้เช่าหลักในศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางถนนสายหลักออร์ชาร์ด ปี ค.ศ. 2012 เปิดสาขาที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และในปี 2017 ได้เปิดสาขาที่ 3 โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้เช่าหลักในศูนย์การค้าไซ่ง่อน เซ็นเตอร์”

ขณะที่ Isetan ก่อตั้งในปี 1886 เปิดสาขาแห่งแรกที่ Shinjuku ต่อมาได้ขยายสาขาในเมืองสำคัญทั่วญี่ปุ่น รวมทั้งได้ขยายสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากเมืองไทยแล้วก็มีอีกหลายเมืองในประเทศมาเลเซีย อีกหนึ่งในสิงคโปร์และจีนแผ่นดินใหญ่อีก 3 แห่ง

ทว่า ห้างญี่ปุ่นต้องเผชิญความผันแปรพอสมควร อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 20 ต้องมีการควบรวมปรับโครงสร้างกิจการ ทั้งมีการปิดสาขาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรณี Isetan ได้ควบรวมกิจการกับ Mitsukoshi กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีการปิดสาขาไปหลายแห่ง เช่น ในฮ่องกง ลอนดอน และเวียนนา ขณะที่ Takashimaya มีความพยายามจะควบกิจการเหมือนกันแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

Tokyu นั้นมีโครงสร้างธุรกิจที่แตกต่างกับทั้ง Takashimaya และ Isetan อย่างมาก ๆ

Tokyu Department Store มีสาขาไม่กี่แห่งในญี่ปุ่น ส่วนเครือข่ายในต่างประเทศก็มีเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากอยู่ในเครือข่ายธุรกิจอันหลากหลาย ภายใต้ชื่อ Tokyu Group กลุ่มธุรกิจที่เริ่มต้นกับธุรกิจหลัก ดำเนินกิจการรถไฟเชื่อมโยงกับเมืองหลวง-โตเกียว กับพื้นที่รอบนอก แผนการธุรกิจอื่น ๆ จึงตามมาด้วยอ้างอิงและต่อยอดจากธุรกิจหลักอย่างหลากหลาย ไม่ว่าธุรกิจก่อสร้าง ขนส่ง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก สื่อสาร สันทนาการ และเกี่ยวกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม และอื่น ๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในภาพที่ใหญ่มาก ๆ

โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ Tokyu Construction กิจการก่อสร้างยักษ์ใหญ่ซึ่งดำเนินกิจการในเมืองไทยมานานพอสมควร ด้วยผลงานโครงการใหญ่ ๆ อย่างการสร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายสำคัญในกรุงเทพฯ “สายเฉลิมรัชมงคล ความยาว 21 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 18 แห่ง เปิดดำเนินมาแล้วเมื่อปี 2547…” (http://www.tokyu-con.co.th) ยังระบุด้วยว่า มีบทบาทโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจโครงการดังกล่าวได้กู้เงินธนาคารญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation หรือ JBIC) ด้วย นอกจากนี้ ยังร่วมมือบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ก่อตั้งบริษัทร่วมทุน–Ch.Karnchang-Tokyu Construction ซึ่งมีผลงานมากมาย (หากสนใจดูจาก http://www.chtokyu.co.th)


อย่างไรก็ตาม กรณี Tokyu กับการปิดสาขาห้างสรรพสินค้าชานเมืองกรุงเทพฯ สะท้อนสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกบางอย่างที่น่าติดตามต่อไป