ThaiBev-KFC

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

อีกฉากหนึ่งที่น่าสนใจของสังคมธุรกิจไทย เมื่อมองผ่านความเคลื่อนไหวรายใหญ่

ถ้อยแถลงของ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ (ไทยเบฟ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 สิงหาคม 2560) ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ทั้งนี้คงมาจากสาระเนื้อหา เอกสาร (announcement) ที่แจ้งต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ในหัวข้อ Entering into Asset Sale and Purchase Agreement with Yum Restaurants International (Thailand) และเอกสารแถลงข่าว (MEDIA RELEASE) ฉบับภาษาอังกฤษในหัวข้อ ThaiBev to Expand Food Business with the Acquisition of KFC Stores in Thailand

“ไทยเบฟฯได้บรรลุข้อตกลงซื้อขายสินทรัพย์กับ Yum Restaurants International (Thailand) เพื่อเข้าซื้อกิจการ KFC กว่า 240 แห่งในประเทศไทย ประมาณการว่าจะใช้เงิน 11,300 ล้านบาท  เพื่อขยายกิจการธุรกิจอาหาร และตามทันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เครือข่ายอันกว้างขวางของ KFC จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เข้าใจแนวโน้ม และรักษาตำแหน่งผู้นำธุรกิจ…

KFC เป็นแบรนด์ร้านอาหารจานด่วนที่มีส่วนแบ่งการตลาดและร้านสาขามากเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 30 ปี มีอัตราขยายตัวเร็วที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าดีลนี้จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2560” สาระสำคัญของเอกสารทั้งสอง ซึ่งถ่ายทอดผ่านสื่อต่างประเทศ ก่อนที่สื่อไทยแปลมาอีกทอดหนึ่ง

มุมมองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้น เร้าใจข้างต้น อาจมีหลายมิติ

มุมมองกว้าง ๆ ประการหนึ่ง สอดคล้องและต่อเนื่องกับกรณีและเรื่องราวเคยเสนอมาแล้ว

“ปรากฏการณ์ที่ใหญ่ที่สุด (เมื่อ 3 เมษายน 2560) กลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำของ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ประกาศโครงการ One Bangkok บนที่ดิน 104 ไร่หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mix-used) ตามแบบฉบับ ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน เช่นเดียวกัน พร้อมกับแผนการที่น่าสนใจยิ่งขึ้น การสร้างตึกสูงที่สุดในไทยถึง 90 ชั้น” (อ้างจากข้อเขียนของผมเอง มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อ 14 เมษายนที่ผ่านมา เรื่อง “ว่าด้วยกรุงเทพฯ”) เมื่อรวมกับกรณี (2559) ซื้อเครือข่าย Big C (ต้นปี 2559) ดีลธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มูลค่าถึงกว่า 200,000 ล้านบาท กับกรณี KFC ด้วยแล้ว นับเป็นแผนการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกลุ่มทีซีซี เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย ทั้งนี้เชื่อว่ามาจากมุมมองว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจ ด้วยความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์และความเป็นไปของสังคมไทย ทั้งนี้ได้นำบทสรุปแนวคิดไว้ด้วยว่า

“บางปรากฏการณ์ในกรุงเทพฯ สะท้อนพลวัตที่มีพลังอย่างล้นเหลือ…ในช่วงเวลาสำคัญของกรุงเทพฯ ช่วงเวลาคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ (การชุมนุมใหญ่ของ กปปส.ปี 2556) ตามมาด้วยการรัฐประหารและรัฐบาลทหาร (2557-ปัจจุบัน)”

แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างเฉพาะเจาะจง ควรเป็นแผนการทางธุรกิจของไทยเบฟฯ ในฐานะกลุ่มธุรกิจหลักและรากฐานสำคัญมาก ๆ ของกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี

จากเอกสารทั้ง 2 ฉบับข้างต้น มีคำและถ้อยความสำคัญ (key word) ควรกล่าวถึงและขยายความ

มีการกล่าวถึงบริษัทใหม่ในเครือไทยเบฟฯซึ่งเป็นคู่สัญญาในดีลครั้งสำคัญ คือ QSR of Asia Co.,Ltd. (QSA) เข้าใจว่ามีความหมายเกี่ยวกับธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในเครือข่ายไทยเบฟฯ เรียกว่า ร้านอาหารบริการด่วน (quick service restaurant)

ทั้งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทใหม่ข้างต้นอยู่ภายใต้เครือข่ายบริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อ Food of Asia Co.,Ltd. ซึ่งระบุไว้ด้วยว่า เป็นบริษัทหลักในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร (Food of Asia Co.,Ltd., ThaiBev’s wholly-owned subsidiary and food product group Flagship Company)

ในภาพที่กว้างขึ้น แผนการดังกล่าว คงเกี่ยวข้องโดยตรงกับพัฒนาการธุรกิจอาหาร (food business) ของกลุ่มไทยเบฟฯ

หากย้อนไปพิจารณาภาพรวมความเป็นไปของไทยเบฟฯ เกี่ยวกับโครงสร้างธุรกิจ (อ้างจาก Presentation-Thai Beverage PLC 2008 FY Financial Results เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552) จะพบว่ามีการกล่าวถึงธุรกิจอาหารเป็นครั้งแรกในปี 2551 โดยมีส่วนแบ่ง (พิจารณาจากยอดขาย) เพียง 2.5% ของทั้งหมด ในขณะที่ธุรกิจสุราและเบียร์ มีส่วนแบ่งอย่างมากถึง 56.6% และ 36.5% ตามลำดับ ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีเพียง 3.8%

ในช่วงเวลานั้นมีดีลสำคัญซึ่งน่าจะเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ ความเคลื่อนไหวใน 2551 ไทยเบฟฯเข้าซื้อและถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวข้อง (ในมุมมองของไทยเบฟฯ) บันทึกในข้อมูลบริษัท (http://www.thaibev.com/)

“2555 เมษายน โออิชิในฐานะผู้นําในธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ได้ขยายสายผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจขนมขบเคี้ยว โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์สาหร่ายทอดกรอบ ภายใต้ตราสินค้า “โอโนริ” เป็นอันดับแรก เพื่อเสริมศักยภาพและสร้างความหลากหลายของสินค้าให้ครอบคลุมทุกสายผลิตภัณฑ์ในธุรกิจอาหาร

2557 กรกฎาคม โออิชิเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ “ชาบูชิ” (Shabushi by OISHI) ในต่างประเทศเป็นสาขาแรก ณ ย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และเปิดสาขาที่สอง ณ มัณฑะเลย์ ในเดือนตุลาคม 2557″

ปัจจุบันกลุ่มโออิชิดำเนินธุรกิจสำคัญ 2 ประเภท นั่นคือ อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน (Ready to cook and Ready to eat products)

“ในปี 2559 บริษัทได้พัฒนาและออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็ง ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แซนด์วิชและเกี๊ยวซ่า รสชาติใหม่ ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน ประเภทข้าวหน้าและเส้นราเมนแบบแช่แข็ง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจดังกล่าวโดยรวมเติบโตสูงขึ้นจากปี 2558 ประมาณร้อยละ 7” (อ้างจาก http://www.oishigroup.com/index.php)

ที่สำคัญควรสนใจคือข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารในภาพกว้าง ๆ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2559)

“ร้านอาหารรวมทั้งสิ้น 244 สาขา โดยเป็นสาขาที่เปิดดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมการให้บริการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จำนวน 239 สาขา และสาขาที่เปิดดำเนินการในประเทศเมียนมา จำนวน 3 สาขา นอกจากนี้ ร้านอาหารจำนวน 2 สาขา เป็นสาขาที่ให้บริการในรูปแบบของแฟรนไชส์ ได้แก่ ร้านชาบูชิ สาขาเอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และร้านนิกุยะ สาขาบุรีรัมย์ คาสเซิล จังหวัดบุรีรัมย์”

อีกดีลสำคัญอีกกรณีหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการธุรกิจอาหารของไทยเบฟฯพอสมควร คือในดีลปี 2555 กลุ่มไทยเบฟฯเข้าซื้อหุ้น Fraser and Neave, Limited (“F&N”) แห่งสิงคโปร์ ซึ่งมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอยู่ด้วย

มีดัชนีบางประการ เชื่อว่าเป็นแรงขับเคลื่อนไม่มากก็น้อยให้ดีลไทยเบฟฯ-KFC เกิดขึ้น

ดัชนีที่หนึ่ง-เมื่อพิจารณาข้อมูลผลประกอบการล่าสุด อ้างจาก Presentation-Thai Beverage PLC 9M17 Financial Results (Nine-mount Ended 30 June 2017) ให้ภาพโครงสร้าง

ธุรกิจซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเมื่อเกือบ ๆ ทศวรรษที่แล้ว นั่นคือธุรกิจอาหาร (พิจารณาจากยอดขาย) ยังคงอยู่ มีสัดส่วนเพียง 3.5% เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจอื่น โดยเฉพาะธุรกิจหลักสำคัญยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ พยายามดำเนินยุทธศาสตร์ ไปยังธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มากขึ้น นั่นคือธุรกิจสุรา ยังคงมีส่วนแบ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเมื่อ 8 ปีที่แล้วคงอยู่ที่ 56.7% ธุรกิจเบียร์ส่วนแบ่งลดลงบ้างมาอยู่ที่ 31.1% ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นไม่มากเป็น 8.8%

ดัชนีที่สอง-เมื่อพิจารณาผลประกอบการกิจการซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ปรากฏว่า ทั้ง Fraser and Neave กลุ่มโออิชิและกลุ่มเสริมสุข ล้วนมียอดขายลดลง โดยเฉพาะในช่วงปี 2558-2559 ที่ผ่านมา