อีกฉากที่น่าสนใจ เมื่อมองผ่านความเคลื่อนไหวรายใหญ่ มองผ่านความสัมพันธ์ทางธุรกิจในภาพกว้าง เรื่องราวกรณี Thaibev-KFC ควรมีภาพเชิงขยายให้มาก ทั้งนี้ ควรเริ่มต้นด้วยภาพรวม KFC ในประเทศไทย
ข้อมูลพื้นฐาน “Yum Restaurants International (Thailand) Co., Ltd. หรือ Yum ! Thailand เป็นบริษัทในเครือข่าย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นําด้านธุรกิจอาหารระดับโลก ซึ่งบริหารร้านอาหาร KFC Pizza Hut และ Taco Bell กว่า 38,000 สาขา ใน 120 กว่าประเทศทั่วโลก” ((http://yum.co.th/th/our_story.php)
สำหรับ Yum ! Thailand เป็นผู้บริหารและผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ Pizza Hut ในประเทศไทย ทั้งนี้ระบุว่า “ดำเนินกิจการร้านอาหาร KFC ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี”
KFC ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นด้วยความสัมพันธ์กับกลุ่มเซ็นทรัล มีการบันทึกไว้อย่างสอดคล้องกัน
“สำหรับประเทศไทย KFC เป็นแบรนด์ร้านอาหารบริการด่วนที่บริหารงานโดยบริษัท ยัมเรสเตอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (จำกัด) โดยมีบริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ได้รับลิขสิทธิ์รายแรกในประเทศไทย ร้าน KFC สาขาแรกเปิดที่ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในปี 2527” ข้อมูลบางตอนปรากฏในรายงานประจำปี 2559 บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน)
ทั้งนี้ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา กิจการสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล ดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ โรงแรม และธุรกิจอาหาร (food business) ที่สำคัญคือ เป็นบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อมูลธุรกิจเกี่ยวข้องค่อนข้างครบถ้วน พอจะให้ภาพย่อย ๆ ต่อเป็นภาพใหญ่เกี่ยวกับ KFC ในประเทศไทย ได้อย่างน่าทึ่ง
เรื่องราว KFC กับกลุ่มเซ็นทรัล มีบางมิติควรกล่าวถึงไว้ในเบื้องต้นเสียก่อน เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG มีบทบาทเพียงในฐานะผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) เครือข่ายร้าน KFC ในประเทศไทย ขณะที่เครือข่ายสาขา KFC อีกส่วนหนึ่ง ดำเนินการเองโดยเจ้าของแบรนด์ จนมาถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงแนวทางธุรกิจครั้งสำคัญ
“Yum Restaurants เจ้าของแบรนด์ KFC ประกาศขายสาขาที่ลงทุนเองในไทยทั้งหมด เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารมาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 100% ตามทิศทางของบริษัทแม่” คำกล่าวยืนยันของผู้บริหารในประเทศไทย ถือเป็นที่มาของดีลสำคัญ Thaibev-KFC (อ้างจากข่าว เปิดใจ “ยัม เรสเทอรองตส์” ดีลร้อนหมื่นล้าน…ทำไมต้องไทยเบฟ -ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 สิงหาคม 2560)
ความจริงแผนการข้างต้นดำเนินมาสักพักแล้ว โดย KFC ได้ขายสาขากับคู่สัญญาถือสิทธิ์อีกรายหนึ่ง นั่นคือ Restaurants Development (RD) บริษัทอีกแห่งหนึ่ง เท่าที่มีข้อมูล เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยและอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหนึ่งที่ชื่อ Asian Industrial Growth Fund Pte Ltd (AIGF) กองทุนซึ่งก่อตั้ง ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2548 โดย
ธนาคารญี่ปุ่น Mitsubishi Corporation และ Development Bank of Japan ร่วมมือกับกลุ่มธนาคารมาเลเซีย CIMB Group มีข้อมูลด้วยว่า RD ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2549 เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกันเข้าดำเนินงาน KFC ในประเทศไทย “อาร์ดีเป็นกลุ่มนักลงทุนที่สนใจธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีลูกหม้อของยัมฯเป็นซีอีโอดูแลการบริหาร” ผู้บริหาร Yum Thailand กล่าวไว้เป็นการเพิ่มเติมข้อมูลให้ครบถ้วนขึ้น (อ้างแล้ว)
ส่วนดีล Thaibev-KFC มาจากแผนการขายสาขาลอตสุดท้าย เพื่อปรับการบริหารร้าน KFC เป็นระบบแฟรนไชส์ (Franchise) 100% ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ดังนั้นตั้งแต่ต้นปีหน้า KFC กับคู่ค้า 3 รายในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มกำลังขยายสาขาให้เติบโต “ตามเป้าหมายกว่า 800 สาขา ภายในปี 2563”
ทั้งนี้ ผู้บริหาร Yum Thailand คนเดิมเชื่อว่า “คิวเอสเอของค่ายไทยเบฟนั้น เป็นบริษัทใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุน ซึ่งต้องการขยายธุรกิจร้านอาหารให้เข้าถึงผู้บริโภคในระดับกว้าง (mass) มากขึ้น” (อีกบางตอน
“เปิดใจ” ยัม เรสเทอรองตส์” ดีลร้อนหมื่นล้าน…ทำไมต้องไทยเบฟ” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 16 สิงหาคม 2560) ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นอีก ว่าด้วยธุรกิจ KFC ในประเทศไทย เชื่อว่าสามารถอ้างอิงข้อมูลของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทในตลาดหุ้นไทย ภาพกว้าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาการทางธุรกิจ (พิจารณาจาก รายงานประจำปี 2559 บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL)
“KFC พัฒนาเพิ่มการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานภายในร้าน ซื้อกลับบ้าน ดีลิเวอรี่ทั้งช่องทางออนไลน์และ 1150 รวมถึงช่องทางร้านไดรฟ์ทรู เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าเพื่อให้ได้รับบริการที่รวดเร็ว อร่อยกับเคเอฟซีได้ง่ายโดยไม่ต้องลงจากรถ ซึ่งในปี 2559 ร้านเคเอฟซี ติวานนท์-ปากเกร็ด 36 เป็นร้านที่เปิดให้บริการแบบไดรฟ์ทรูสาขาแรก ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” บางตอนกล่าวถึงพัฒนาการกว้าง ๆ ซึ่งดำเนินการตามแบบแผนเดียวกันโดย Yum Thai-land
ขณะเดียวกัน CENTEL ได้รายงานผลประกอบการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) ถือได้ว่าเป็นเวลาที่ดีพอสมควร รายได้แยกเฉพาะธุรกิจอาหาร (ซึ่งมากกว่าธุรกิจโรงแรม) เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จากระดับ 7,141 ล้านบาท ในปี 2555 มาเป็น 8,374 ล้าน 8,492 ล้าน 9,121 ล้าน และ 9,309 ล้านบาท ในปี 2559 ตามลำดับ รายได้ดังกล่าวมาจากรายได้โดยรวมของธุรกิจอาหาร ซึ่ง CENTEL ถือลิขสิทธิ์เครือข่ายร้านค้าระดับโลกมากกว่า 10 แบรนด์ ทั้งนี้ ล่าสุด CENTEL (ปรากฏใน Central Plaza Hotel Public Company Limited Opportunity Day Presentation : Q217 28 August, 2017 รายละเอียดเพิ่มเติมดูจาก centel.listed company.com) ตั้งใจรายงานอย่างเจาะจงว่า เฉพาะ KFC ในปี 2558 และ 2559 มีรายได้สัดส่วนมากที่สุด มีสัดส่วนถึง 56% ของรายได้ธุรกิจอาหาร
ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า KFC กับมีสาขา 225 แห่ง (ข้อมูลล่าสุด สิงหาคม 2560) เทียบเคียงกับดีล Thaibev-KFC กับ KFC สาขาประมาณ 240 แห่ง (ด้วยดีลมูลค่า 11,300 ล้านบาท) ย่อมจะให้ภาพเทียบเคียง ใกล้เคียงกันอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือภาพรายได้ของธุรกิจใหม่ที่ปรากฏข้างหน้า ธุรกิจอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant) ถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร (food business) ในเครือข่าย
ไทยเบฟ (Thaibev) เชื่อว่า คาดว่าจะมียอดขายปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างน้อยถึงเท่าตัวกับธุรกิจอาหารของไทยเบฟปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนรายได้เพียง 3.5% (การคำนวณคร่าว ๆ กับข้อมูลปัจจุบัน–Thai Beverage PLC 9M17 Financial Results (Nine-mount Ended 30June 2017 (Presentation) โปรดพิจารณารายละเอียดที่ thaibev.listedcompany.com) มีอีกบางแง่มุมข้อมูลของ CENTEL (Central Plaza Hotel Public Company Limited Opportunity Day Presentation : Q217 28 August, 2017) ควรใส่ใจเช่นกัน
CENTEL มีความพยายามขยายสาขา KFC มากเป็นพิเศษ มากที่สุดกว่าทุกแบรนด์ที่ CENTEL มี โดยระบุว่าในปีต่อปีขยายสาขาเพิ่มขึ้นถึง 7.2% (จากรายงานประจำปี 2559 ระบุว่ามี 218 สาขา และรายงานล่าสุดที่อ้างข้างต้นระบุว่ามี 225 สาขา) เชื่อว่าเป็นความพยายามในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การเปิดประมูลสาขาลอตสุดท้ายของ KFC ในประเทศไทย
ทว่า ผลประกอบการกลับมีแนวโน้มไม่ค่อยดี ไม่สอดคล้องกับสาขาที่เพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (2560) เมื่อเทียบครึ่งปีก่อนหน้า (2559) รายได้ธุรกิจอาหารเรียกว่าไม่มีอัตราการเติบโตเลย ในขณะที่ไตรมาสที่ 2 ซึ่งกำลังผ่านพ้น มีแนวโน้มไม่ดีมากขึ้น มีรายได้ลดลง 3% โดย CENTEL ให้เหตุผลไว้ว่า มาจากรายได้ที่ลดลงของ KFC และ Mister Donus
มีบางคนถึงขั้นเทียบเคียง Thaibev-KFC ในประเทศไทย กับ Yumchina-Alibaba Group ในจีนแผ่นดินใหญ่ ในเบื้องต้นเชื่อว่ารายละเอียดที่แตกต่าง มีหลายมิติต้องพิจารณา คงไม่อาจกล่าวสรุปอย่างง่าย ๆ หยาบ ๆ เช่นนั้นได้