Pepsi-Suntory (1)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

เรื่องราว Pepsi แห่งสหรัฐ กับ Suntory แห่งญี่ปุ่น ในสังคมไทย มีแง่มุมที่น่าสนใจมากกว่าที่คิดโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวซึ่งปรากฏขึ้นอย่างครึกโครมตามสื่อหลัก ๆ ทั่วไป ที่ยกมานี้ตามหัวข่าว “เป๊ปซี่” จัดทัพขายทิ้งโรงงาน ผนึก “ซันโทรี่” ทวงบัลลังก์แชมป์น้ำดำ (ประชาชาติธุรกิจ 25 สิงหาคม 2560)

และตามมาด้วย “เป๊ปซี่” เปลี่ยนทิศลดลงทุน เปิดทาง “ซันโทรี่” ถือหุ้นใหญ่ (ประชาชาติธุรกิจ 23 ตุลาคม 2560) เมื่อว่าข่าวจะยังไม่ปรากฏเป็นทางการ หรือได้รับการยืนยันจากต้นแหล่ง แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปมากทีเดียว

ความเคลื่อนไหวมีประด็นสำคัญ ๆ ที่อ้างไว้ข้างต้น สะท้อนการเปลี่ยนแปลงบางมิติที่ควรพิจารณา

–Pepsi ปรับยุทธศาสตร์การลงทุน และดำเนินธุรกิจในเมืองไทยด้วยการลดบทบาท การเป็นผู้ผลิต บรรจุ และจำหน่าย หรือที่เรียกว่า bottler เพื่อหันมาโฟกัส การวิจัย พัฒนาสินค้า กลยุทธ์ทางการตลาด และสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

–Pepsi ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและแผนการดำเนินธุรกิจและการลงทุนครั้งสำคัญ โดยมีแผนการแสวงหาและแต่งตั้ง bottler ซึ่งเชื่อว่าเน้นไปเครือข่ายธุรกิจรายใหญ่เพียงรายเดียว ให้รับผิดชอบแผนการลงทุน ขยายเครือข่าย ในแต่ละพื้นที่ที่ครอบคลุม

กรณีประเทศไทย สาระข่าวข้างต้นอ้างว่า ได้บรรลุข้อตกลงในการขายโรงงานที่มี 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมหนองแค สระบุรี ให้กับ Suntory แห่งญี่ปุ่น

–ตามโมเดลธุรกิจที่มีรายละเอียดมากขึ้น เชื่อว่า Suntory ได้ตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเครือข่าย Pepsi ในประเทศไทยแล้ว คาดว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เป๊ปซี่ ซันโทรี (ประเทศไทย) จำกัด

โดย Suntory จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% และอีก 49% เป็นของฝ่าย Pepsi โดยอ้างด้วยว่า Suntory ได้เริ่มทยอยเข้ามาดูแลกิจการ ทั้งด้านการผลิต การตลาด และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

ยุทธศาสตร์และแผนการของ Pepsi ข้างต้น สะท้อนการปรับตัวของธุรกิจอเมริกัน โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจที่มีแบรนด์อันโดดเด่น ฝั่งรากในสังคม ในตลาดผู้บริโภคนั้น ๆ มายาวนานพอสมควร เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะขออรรถาธิบายในแง่มุมต่าง ๆ อย่างมีความละเอียดมากขึ้นตอนต่อ ๆ ไป

ในเบื้องต้นอาจเทียบเคียงกับกรณี KFC ในไทยและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเคยนำเสนอมาแล้ว (โปรดกลับไปอ่านเรื่อง Thaibev-KFC ซึ่งมี 3 ตอน ประชาชาติธุรกิจ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560)

ความสัมพันธ์ Pepsi-Suntory

ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง Pepsi กับ Suntory มีมานานทีเดียว Suntory หรือ Suntory Holdings Limited เครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อเกือบๆ 120 ปีที่แล้ว มีฐานอยู่ที่เมืองโอซากา เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เก่าแก่ของญี่ปุ่น รวมทั้งวิสกี้ญี่ปุ่น

มาระยะหลัง ๆ ขยายสู่ธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้น ๆ หลายคนบอกว่า ภาพรวมมองผลิตภัณฑ์ Suntory ดูได้จาก Vending machines ซึ่งเป็นตู้ของ Suntory โดยเฉพาะ อยู่ตามริมถนนหลักและรองในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในโตเกียว

อันที่จริงแบรนด์ Pepsi-Cola เกิดขึ้นก่อนการก่อตั้ง Suntory เพียงทศวรรษเดียว หลังจากเปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น Pepsi (2504) ในอีกเกือบ 2 ทศวรรษต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่าง Pepsi กับ Suntory จึงเริ่มต้นขึ้น และเกิดที่สหรัฐอเมริกาเสียด้วย

โดยฝ่าย Pepsi Bottling Ventures (PBV) ถือเป็น bottler รายใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์ Pepsi ในอเมริกาเหนือ มีโรงงานมากกว่า 20 แห่ง จัดจำหน่ายในหลายมลรัฐ คือ North Carolina, South Carolina, Virginia, Maryland และ Delaware โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Raleigh, North Carolina

Pepsi Bottling Ventures (PBV) เป็นธุรกิจครอบครัว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2496 จากกิจการเล็ก สู่กิจการที่ใหญ่มากขึ้น มีภาระมากขึ้น

ต่อมาในปี 2523 ครอบครัว ซึ่งเป็นเจ้าของได้ตัดสินใจขายหุ้นให้กับ Suntory แห่งญี่ปุ่น เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจของประวัติศาสตร์สังคมเศรษฐกิจ-ธุรกิจอเมริกันเลยทีเดียว

เวลานั้นสหรัฐกำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งใหญ่ เงินดอลลาร์ตกต่ำอย่างมาก คลื่นการลงทุนธุรกิจญี่ปุ่นพาเหรดเข้ามาอย่างครึกโครม เข้าซื้อกิจการธุรกิจอเมริกัน และยึดตลาดสหรัฐ อย่างมั่นคงค่อนข้างรวดเร็ว ตั้งแต่กิจการรถยนต์ไปจนถึงการถือครองธุรกิจบันเทิง ส่วนในญี่ปุ่น Suntory มีความสัมพันธ์กับ Pepsi เมื่อไม่นานมานี้เอง

Pepsi เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นเมื่อปี 2528 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีบทบาทในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ น้ำผลไม้ และอาหารขบเคี้ยว ส่วนเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีบทบาทพอสมควร เชื่อว่าจะมีบทบาทมากขึ้น เมื่อมีข้อตกลงทางธุรกิจ (master franchise agreement) กับ Suntory เมื่อปี 2541 ที่ผ่านมานี้เอง

Suntory ในไทย

Suntory เข้ามาเมืองไทยอย่างเงียบ ๆ นานพอสมควร บทบาทสำคัญไม่ได้อยู่ที่สินค้าหลักอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากอยู่ที่สินค้าอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่ Suntory กำลังขยายสู่ธุรกิจข้างเคียงอย่างคึกคัก

ทั้งนี้เป็นปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากมุมมองและแผนการทางธุรกิจระดับภูมิภาค มาจากแผนการเข้าซื้อกิจการใหม่ ๆ เกี่ยวข้องกับ Cerebos Pacific Limited (CPL) กิจการซึ่งก่อตั้งขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อปี 2524 ขึ้นมาเพื่อผนึกและหลอมรวมกิจการซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักด้านอาหารเสริม ภายใต้

แบรนด์ BRAND’S

BRAND’S ซุปไก่สกัด มีตำนานยาวนานเชื่อมโยงไปถึงราชวงศ์ ราชสำนักอังกฤษ เมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้ว ต่อมากลายเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งขยายตัวไปตามเขตอาณานิคมอังกฤษต่าง ๆ โดยมาถึงเอเชียเมื่อศตวรรษที่แล้ว

ด้วยการทยอยตั้งกิจการในนาม Cerebos ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ก่อนจะมาถึงเมืองไทยในปี 2517 ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสงครามเวียดนาม ซึ่งเมืองไทยยังถูกมองว่าเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

Cerebos Pacific Limited (CPL) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 เพื่อเข้าถือหุ้นในกิจการ Cerebos ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกอย่างกระจัดกระจาย เพื่อแต่งตัวเข้าระดมทุนตลาดหุ้นสิงคโปร์ (Stock Exchange of Singapore) ในปี 2526 การผนึกหลอมรวมเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ดำเนินไป จนมีผลิตภัณฑ์หลากหลายพอสมควร แต่แล้วในปี 2533 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อ Suntory แห่งญี่ปุ่นเข้าซื้อกิจการ Cerebos Pacific ซึ่งมีผลต่อเมืองไทยด้วย

“ปี 2533 มีการก่อตั้งบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) โดยบริษัท ซันโทรี จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น” ข้อมูลประวัติทางการของบริษัทเซเรบอส (ประเทศไทย) ซึ่งสอดคล้องกัน ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แบรนด์ ซันโทรี (ประเทศไทย) จำกัด (อ้างจาก www.brandsworld.co.th)

ปัจจุบัน Cerebos Pacific Limited (CPL) ได้กลายเป็น Suntory Beverage & Food Asia Pte Ltd (SBFA) มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุมทั้งเครื่องดื่ม (beverages) อาหารเสริม (health supplements และอาหารกับกาแฟ (food & coffee) มีเครือข่ายธุรกิจใน 11 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ มีโรงงานมากถึง 28 แห่ง มีแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย

ส่วนใหญ่ไม่ใคร่เป็นที่รู้จักหรือยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย นอกจาก BRAND’S ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าหลักสำคัญที่อยู่ในตลาดเมืองไทยอย่างมั่นคง

SBFA ถือเป็นเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นในเอเชีย-แปซิฟิก ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมีโมเดลธุรกิจถือว่าเป็นคู่แข่ง เทียบเคียงกับกลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำของเจริญ สิริวัฒนภักดี

ความเคลื่อนไหวข้างต้น คงอยู่ในสายของบรรดาที่ปรึกษา บุตร บุตรี และบุตรเขย ของเขาอย่างมิพักสงสัย