เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (1)

คอลัน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

เรื่องราวบริษัทศตวรรษแห่งนี้ ได้รับความสนใจมากขึ้น ๆ เป็นลำดับความสนใจในวงกว้าง คงมาจากเหตุการณ์หนึ่ง ถือเป็นจุดตั้งต้นบางสิ่งบางอย่าง และบางปรากฏการณ์

“ตามที่เกิดเหตุระเบิดบริเวณนอกห้างบิ๊กซีสาขาปัตตานี ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ทรัพย์สินของบริษัทในเครือบิ๊กซี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้รับความเสียหายบางส่วนนั้น บริษัทขอเรียนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้กระทบต่อโครงสร้างอาคารของห้างบิ๊กซีสาขาปัตตานี โดยบิ๊กซี สาขาปัตตานีจะเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งประมาณวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 (7 วันหลังเกิดเหตุการณ์) ทั้งนี้ ความเสียหายจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทผู้รับประกันภัย” คำชี้แจง “สถานการณ์ระเบิดที่จังหวัดปัตตานี” ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 12 พฤษภาคม 2560 ในฐานะเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นด้วยกัน มีเนื้อหาเหมือนกัน โดย บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

 

คำชี้แจงข้างต้น ว่าด้วยธุรกิจแล้วไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก ทว่าในวงกว้าง ทั้งในทางสังคมและการเมือง ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น

ในวันเดียวกันนั้นเอง มีการประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 บริษัทพร้อมกัน จากนั้นได้มีคำชี้แจง รายงานมติที่ประชุมครั้งสำคัญมายังตลาดหลักทรัพย์ฯในวันเดียวกัน ด้วยเรื่องราว เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกันโดยตรง

“เห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอจากกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยถือหุ้นในบริษัทผ่านบริษัท บีเจซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท เสาวนีย์โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วนรวมทั้งสิ้นประมาณร้อยละ 97.94 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท” สาระสำคัญ คำชี้แจงของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ขณะที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีคำชี้แจงแสดงความเชื่อมโยงกัน แม้มีรายละเอียดแตกต่างออกไป ในหัวข้อ “คำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

นับเป็นเรื่องอันตื่นเต้นอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว สำหรับสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะแวดวงตลาดหุ้น บางคนถึงกับคำนวณมูลค่าหุ้นรวมในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งหายไปจำนวนไม่น้อย

“ความประสงค์ที่จะเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาและลดภาระค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้นจากการกระจายการถือหุ้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การดำรงสถานะของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” บางตอนของคำชี้แจง ให้เหตุผลในแผนการเพิกถอนบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ออกจากตลาดหุ้นไว้ ดูเป็นเรื่องค่อนข้างไปในทางเทคนิค ด้วยมุมมองทางธุรกิจว่าไปแล้วเป็นเรื่องเข้าใจได้ และเป็นเรื่องช่วยไม่ได้เช่นกัน หากอยู่ท่ามกลางกระแสเชิงลบในบางระดับ ด้วยมาจากมุมมองที่แตกต่างออกไป อาจผสมกันอย่างง่าย ๆ ระหว่างธุรกิจกับการเมือง หรือมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองก็แล้วแต่

ในที่สุด ภาพที่ชัดเจน ภาพที่น่าสนใจน่าติดตาม จุดโฟกัส ที่เริ่มต้นจากบิ๊กซี (Big C) ได้เคลื่อนย้ายมายังเบอร์ลี่ ยุคเกอร์แล้ว

ที่น่าทึ่ง ๆ ไม่น้อยเช่นกัน วันเดียวกันนั้นเอง (12 พฤษภาคม 2560) บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯในหลายเรื่อง รวมทั้งหัวข้อ “คำอธิบายและบทวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2560” จะขอนำเฉพาะบางส่วนโดยเฉพาะรายได้รวม

“บริษัทรายงานรายได้รวมในไตรมาส 1/60 เท่ากับ 39,232 ล้านบาท เติบโตที่ 23,991 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 157.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการรวมงบการเงินเต็มไตรมาสของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ โดยมียอดขายและรายได้ค่าบริการรวมในไตรมาส 1/60 เท่ากับ 35,677 ล้านบาท

เติบโตที่ 20,960 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 142.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากรายได้อื่น เท่ากับ 3,555 ล้านบาท เติบโตที่ 3,031 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 578.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้ค่าเช่าและบริการจากบิ๊กซีเป็นหลัก หากไม่รวมรายได้รวมจากกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (บิ๊กซี) ส่งผลให้รายได้รวมในไตรมาส 1/60 เท่ากับ 11,116 ล้านบาท ค่อนข้างคงที่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน”

ความจริงแล้ว เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กับการเติบโตอย่างโดดเด่น อย่างก้าวกระโดด ได้ปรากฏในรายงานผลประกอบการประจำปี 2559 แล้ว (โปรดพิจารณาข้อมูลทางการเงิน) ทั้งนี้เนื่องมาจากได้รวมผลประกอบการของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์เข้ามา ตั้งแต่ 21 มีนาคม 2559

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีฐานะเป็นบริษัทสำคัญของกลุ่มทีซีซี เป็นบริษัทแกนของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า 1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักในเครือข่ายธุรกิจกลุ่มทีซีซี (อ้างจาก http://www.tccholding.com/index.php?controller=business) ซึ่งมี เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นประธาน และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นรองประธาน ท่ามกลางโอกาสใหม่ ๆ ที่เปิดกว้างอย่างมาก ๆ ขณะที่บางคนเชื่อว่า ยังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว จัดสรรทรัพย์สิน และผลประโยชน์ให้กับรุ่นที่ 2 ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่าทศวรรษแล้ว และดูเหมือนยังไม่ลงตัวเสียทีเดียว

ในเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ได้พัฒนาไปอีกขั้น “ในปี 2559 บีเจซีได้มีการขยายธุรกิจในส่วนของปลายน้ำ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น รุกตลาดค้าปลีก โดยการเข้าซื้อธุรกิจค้าปลีก บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในประเทศไทย ก็เป็นอีกก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของบีเจซี” ดังคำกล่าวของผู้บริหารคนสำคัญ (อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่-อ้างจาก http://www.bjc.co.th) ทั้งนี้ไม่เพียงให้ภาพใหม่ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์เท่านั้น หากสะท้อนภาพกว้างเครือข่ายธุรกิจทีซีซี ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นไปตามกระแสธุรกิจยักษ์ใหญ่ เป็นไปตามพัฒนาการและโอกาสทางธุรกิจที่เปิดขึ้น

อันที่จริง ตำนานและเรื่องราวกว่าศตวรรษเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ให้ภาพพัฒนาธุรกิจไทยกว้างกว่านั้น และเชื่อมโยงกับบริบทสังคมไทยมากกว่าที่คิด

ขออรรถาธิบายในตอนต่อไป