ดัชนีแอลกอฮอล์

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

บางกรณี ภาพใหญ่ๆ มีภาพสะท้อนมาจากภาพเล็กเรื่องราวมาจาก บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ของ กลุ่มทีซีซี ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2546 ด้วยการหลอมรวมกิจการสุราและเบียร์ของกลุ่มทีซีซีซึ่งมีอยู่ก่อน เพื่อจะเข้าตลาดหุ้น เมื่อไม่สามารถเข้าตลาดหุ้นไทยได้ จึงหันไปเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ หรือ SGX (พฤษภาคม 2549)

ข้อมูลนำเสนอต่อนักลงทุนและตลาดหุ้นสิงคโปร์ จึงให้ภาพธุรกิจของกลุ่มทีซีซีอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก อย่างที่รู้กัน ไทยเบฟฯไม่เพียงเป็นบริษัทหลักที่สำคัญมากๆ ของกลุ่มทีซีซี หากพัฒนาการไทยเบฟฯ ได้สะท้อนภาพเรื่องราวและตำนานกลุ่มธุรกิจซึ่งทรงอิทธิพลตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาในประเทศไทย

ธุรกิจของไทยเบฟฯ แบ่งกว้างๆ ออกเป็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (รวมธุรกิจอาหารซึ่งมี Portfolio ไม่มากเข้าไปด้วยก็ได้) ภาพจากข้อมูล (โปรดพิจารณาข้อมูลและกราฟประกอบข้อเขียน) พบว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในยุทธศาสตร์ใหม่ เชื่อมโยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดูเหมือนจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดนัก ในภาพรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สุราและเบียร์) ในช่วงที่ผ่านมา (ข้อมูลเสนอเพียง 3 ปี 2557-2559) ยังมีสัดส่วนรายได้ของไทยเบฟฯถึงประมาณ 90% ทีเดียว

ดัชนีในช่วงเวลาดังกล่าว มีเรื่องราวและบริบทที่สัมพันธ์และสำคัญ ในแง่กลุ่มทีซีซี มีความพยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นเครือข่ายธุรกิจ เพื่อเข้าสู่เวทีระดับภูมิภาค ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย จนเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย (พฤษภาคม 2557) ซึ่งสะท้อนความกังวลผ่านถึงไทยเบฟฯด้วย “ในปี 2557 ปัจจัยทางการเมืองได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” บางตอนของสารประธานกรรมการ (เจริญ สิริวัฒนภักดี) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ฐาปน สิริวัฒนภักดี) ปรากฏในรายงานประจำปี 2557 (บริษัทไทยเบฟเวอเรจ)

นอกจากนี้ในระดับภูมิภาคมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจครั้งสำคัญ “ในปี 2558 เป็นปีที่เริ่มก้าวสู่การควบรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสะท้อนถึงหลักชัยอันยิ่งใหญ่สําหรับเศรษฐกิจในภูมิภาค และนับเป็นอีก 1 ปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย” (รายงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทยเบฟฯ ในรายงานประจำปี 2558) เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ผู้คนมักประเมินสถานการณ์ และความเป็นไปในมิติต่างๆ เชื่อว่าทั้งในมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และซึ่งเชื่อว่ากำลังทำกันอย่างจริงจัง อย่างคึกคักในเวลานี้

ผมมีมุมมองที่ย่อและย่อยกว่านั้นว่าด้วยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอ้างอิงรายงานนำเสนอ (Presentation) ของไทยเบฟฯในช่วงคาบเกี่ยว 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในรายงานมิได้แบ่งแยกตลาดในประเทศกับต่างประเทศอย่างชัดเจน แต่พอจะประเมินได้ว่า เป็นดัชนีสะท้อนภาพความเป็นไป ทั้งประเทศและภูมิภาคได้ไม่มากก็น้อย

ภาพที่น่าสนใจ เริ่มด้วยเกี่ยวกับสุรา (หนึ่งในสองธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) เป็นที่ทราบกันว่า ไทยเบฟฯดำเนินธุรกิจสุราอย่างเข้มข้นในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ผูกขาดเลยทีเดียว แม้ไม่ใช่อยู่ในระบบสัมปทาน แต่อาจกล่าวได้เช่นกันว่า เป็นภาวะตกทอดจากระบบสัมปทาน และความเป็นไปของกลไกตลาด

จากข้อมูลของไทยเบฟฯเอง ผลิตภัณฑ์สุรา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ สุราขาว สุราสี และ สุราผสม มีหลากหลายแบรนด์อย่างไม่น่าเชื่อ รวม ๆ กันมากถึงประมาณ 30 แบรนด์ โดยเฉพาะสุราขาว เข้าใจว่าครอบคลุมตลาดไทย โดยเฉพาะหัวเมืองและชนบทอย่างแน่นหนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ชื่อไทย อาทิ รวงข้าว ไผ่ทอง นิยมไทย เสือขาว หมีขาว มังกรท่าจีน ไชยา เจ้าพระยา แม่วังวารี พญานาค พญาเสือ บางยี่ขัน ส่วนสุราสีมีแม่โขง หงส์ทอง มังกรทอง แสงโสม รวมทั้งแบรนด์ฝรั่งที่ผลิตในประเทศ และนำเข้า อาทิ BLEND MERIDIAN CROWN99 DRUMMER นอกจากนี้ยังมีสุราผสม (หัวเชื้อสมุนไพรไทย-จีน กับสุราขาว) ยี่ห้อสุราเสือดำ เชียงชุน ชูสิบนิ้ว

จากภาพรวม (โปรดพิจารณา ยอดขายสุรา-เบียร์-ลิตร) ซึ่งอ้างอิงจำนวนลิตร แทนที่จะเป็นจำนวนเงิน ทั้งนี้เชื่อว่าให้ภาพที่ชัดเจน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีปรับภาษีสรรพสามิต และปรับราคาอย่างต่อเนื่อง จะได้ภาพหนึ่งที่เป็นแนวโน้มสำคัญว่าการบริโภคสุราลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟฯ แบรนด์หลัก ๆ คือ เบียร์ช้าง เบียร์อาชา และ FEDERBRAU ภายใต้โครงสร้างตลาดที่ไทยเบฟฯไม่ใช่ผู้นำอย่างเบ็ดเสร็จเช่นสุรา ภาพการเติบโตยอดขายเบียร์ของไทยเบฟฯในช่วงที่ผ่านมา ควรพิจารณาอย่างมีเงื่อนไขหนึ่ง-การเติบโตยอดขายเบียร์ มาจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ (เบียร์ช้างคลาสสิก) เพื่อเปิดทางการตลาดเชิงรุก เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งยอดขายจากเบียร์สิงห์ ซึ่งตามรายงานผลประกอบการของไทยเบฟฯเองอ้างว่า ได้ผลพอสมควร สอง-การเติบโตธุรกิจเบียร์ มาจากการบุกเบิกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อยอดขายสุราค่อย ๆ ลดลง ยอดขายเบียร์ แม้จะดูเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีเงื่อนไข อย่างไรเสียในภาพรวม สะท้อนข้อจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อว่าให้ภาพเชื่อมโยงความเป็นไปได้หลายมิติ ทั้งสังคมไทยและระดับภูมิภาค ที่สำคัญเป็นความกังวลของไทยเบฟเวอเรจด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งนี้ได้สะท้อนผ่านรายงานประจำปีในช่วงปีที่ผ่านๆ มา

“ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนพัฒนานักการกีฬาแห่งชาติ มีส่วนทําให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น ประกอบกับกําลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง” (รายงานประจำปี 2558)

“เศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย อาทิ ประเทศจีนและประเทศในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยยังคงหดตัว ภาพรวมการบริโภคนอกบ้านของผู้บริโภคในปีนี้ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก” (รายงานประจำปี 2559)


ว่าไปแล้ว ดัชนีแอลกอฮอล์ น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว