ปตท.ปรับตัว

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

ใครว่าองค์กรธุรกิจใหญ่ปรับตัวยาก กรณี ปตท.กับธุรกิจน้ำมัน น่าจะไม่ใช่เช่นนั้น

ข้อเขียนล่าสุด ผมเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ปตท.กับโครงการโรงแรมไว้ซึ่งเพิ่งผ่านมาเพียงครึ่งปี (ปตท.จะทำโรงแรม (3 ตอน) ประชาชาติธุรกิจ สิงหาคม-กันยายน 2559) จำเป็นต้องนำเสนอ (updated) อีกครั้ง ในบางมิติ บางเรื่องราว ทั้งนี้อันเนื่องมาจากมีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ เกิดขึ้นในช่วงที่เพิ่งผ่านมา ว่าไปแล้วเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน

โดยเฉพาะการเริ่มต้นจากจุดที่เล็ก หน่วยย่อย ๆ แต่มีความสำคัญ เป็นพลังอำนาจพื้นฐานของธุรกิจน้ำมัน นั่นคือแผนการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

PTT Life Station

สถานีบริการน้ำมัน ตามโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า PTT Life Station “สามารถตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างครบครัน (One Stop Service)” มีความเชื่อมโยงกับ บริบท และสังคมภาพใหญ่ รวมทั้งพัฒนาการสังคมบริโภค ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง อย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นไปตามปรากฏการณ์ สอดคล้องกับแนวคิด “เมืองรุกชนบท” (ผมเคยเสนอเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว) ที่สำคัญคือ การเกิดขึ้นเครือข่ายฟรีทีวีทั่วประเทศ

เครือข่ายร้านค้าปลีกยุค Modern Trade เข้ายึดหัวเมืองและชนบทมากขึ้นตามมาด้วยเครือข่ายสื่อสารไร้สาย พัฒนาอย่างก้าวกระโดดตอบสนองปัจเจกอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันถนนชนบทได้สร้าง

และพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับถนนหลัก กรมทางหลวงชนบทเอง เพิ่งก่อตั้งขึ้นมายังไม่ถึง 2 ทศวรรษ ถนนกลายเป็น “เส้นเลือด” หลักที่จำเป็นปตท.เพิ่งเปิดแผน (ปลายปี 2558) อีกขั้นที่สำคัญ อย่างเอาเจริงเอาจัง ว่าด้วยแผนการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน จากถนนสายหลัก สู่ถนนสายรอง ด้วยรูปแบบสถานีบริการน้ำมันที่มีขนาดและพื้นที่เล็กลง ที่เรียกว่า Compact Model ซึ่งมีร้านค้าปลีกสำคัญ ๆ อยู่ด้วย ทั้ง 7-Eleven (พันธมิตรธุรกิจ) และเครือข่ายตนเอง โดยเฉพาะ Cafe Amazon

ในเวลานั้น ปตท.เองก็ยอมรับด้วยว่า “ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปั๊ม ปตท.ค่อนข้างจะนิ่ง คือมันมีทั้งสร้างใหม่รวมกับของเดิม และด้วยโมเดลนี้ เราจะเข้าไปในพื้นที่ได้เร็วขึ้น ครอบคลุมขึ้น” (อ้างจากข่าว “ปั๊ม ปตท.ไซซ์เล็กรุกถนนสายรอง” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 21 ตุลาคม 2558)

โมเดลค้าปลีกใหม่

จากโมเดลสถานีบริการน้ำมัน เป็นศูนย์กลาง สู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่เปิดเครือข่ายร้านกาแฟ (Cafe Amazon) ต่อเนื่องด้วย ร้านค้าสะดวกชื้อ (ทั้งของตนเอง และร่วมมือกับพันธมิตร) กรณีแผนการธุรกิจโรงแรม (ประกาศเมื่อต้นปี 2558) ซึ่งผมได้เสนอบทอรรถาธิบายบางมิติ รวมทั้งตีความไว้ว่า ปตท. กำลังขยายจินตนาการกว้างขึ้น เข้าสู่ธุรกิจพัฒนาสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว ทั้งแบบค้าปลีก (Retail Developer) และ Mixed-use developer มีบางประเด็นที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยง ซึ่งได้ข้อสังเกตไว้ในตอนนั้น (สรุปความมาจากเรื่อง “ปตท. กับธุรกิจโรงแรม” ประชาชาติธุรกิจ สิงหาคม-กันยายน 2559 เช่นกัน)

หนึ่ง-ในภาพกว้าง สังคมไทยกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย บางช่วงบางเวลาเสมอ มีความเป็นไปได้ว่าเป็นธุรกิจมีโมเดล

ไม่ซับซ้อน หากถูกจังหวะเวลา ผลตอบแทนมากกว่า เร็วกว่าธุรกิจอื่น ๆ อีกมุมหนึ่ง เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง เมื่อสถานการณ์ กระแส และแนวโน้ม เปลี่ยนแปลง เช่น มีการพัฒนาการขนส่งระบบอื่น โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน และการขนส่งสินค้าโดยระบบราง ในภาพย่อยเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก อ้างอิงกรณีปรากฏการณ์ธุรกิจในสหรัฐ ศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้าดั้งเดิม กำลังทยอยปิดตัว ปิดสาขากันอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากการเติบโตของการค้าปลีกออนไลน์

สอง-ธุรกิจโรงแรม ณ สถานีบริการน้ำมัน เป็นโมเดลใหม่ ว่าไปแล้วไม่มีความเชื่อมโยง และต่อเนื่องโดยตรงกับสถานีบริการน้ำมัน ดูจะไปไกลกว่า โมเดลเดิมสถานีบริการน้ำมันกับจุดแวะพักช่วงสั้น ๆ

(ร้านอาหาร-ร้านกาแฟ -ร้านสะดวกซื้อ) อีกทั้ง ธุรกิจโรงแรมเป็นงานบริการอันละเอียดอ่อน มีความเกี่ยวข้องกับเวลาแวะพัก ระยะทาง ทำเลที่ตั้ง และโดยเฉพาะเรื่อง ความปลอดภัย ซึ่งได้เน้นไว้ “PTT Life Station ตามรูปแบบทั่วไปที่พบเห็น จุดบริการน้ำมันอยู่ในตำแหน่งเป็นใจกลาง แวดล้อมด้วยร้านค้าปลีก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร) นับวันจะมีจำนวนร้านมากขึ้น แออัดมากขึ้น ผมยินดีกับ ปตท.ด้วยว่าในช่วงที่ผ่านมา สามารถทำให้ผู้เดินทาง ใช้รถ ใช้ถนน ใช้บริการ PTT Life Station ด้วยความปลอดภัย ด้วยความมั่นใจเป็นอย่างดีตลอดมา”

ในที่สุด (พฤศจิกายน 2559) ปตท.ได้ยุติแผนการธุรกิจโรงแรม บางเสียงว่าเป็นการชั่วคราว ผมเชื่อว่า คงมาจากมุมมองของ ปตท.เอง เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เป็นสำคัญ อาจเป็นสถานการณ์ซึ่งเชื่อว่า เกี่ยวข้องกับพลังอันถดถอยของ “หัวเมืองและชนบท” ไม่เพียงเฉพาะทางการเมือง หากรวมทางเศรษฐกิจด้วย แนวโน้มดังกล่าว มีความเป็นไปอย่างสัมผัสได้มากขึ้น ๆ

อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นเล็ก ๆ ที่น่ายินดี เป็นผลพวงต่อมา ซึ่งเพิ่งผ่านไปไม่นาน (30 มีนาคม 2560) ปตท.ได้เปิดตัวสถานีบริการน้ำมันรูปแบบ Friendly Design “พัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด Care & Safety For All ด้วยความห่วงใยผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย ให้สามารถใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ด้วยความสะดวก และปลอดภัย”

แท้จริงแล้วความเป็นไปเกี่ยวกับกรณีโรงแรม คงเป็นเรื่องเล็กทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องที่ใหญ่กว่า สำคัญกว่า ซึ่ง ปตท.กำลังเผชิญหน้า ว่าไปแล้วเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับปรับตัวเกี่ยวข้องธุรกิจน้ำมัน เช่นกัน

องค์กรธุรกิจใหม่

ในช่วงเดียวกันนั้น (18 พฤศจิกายน 2559) ปตท.นำเสนอแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ (อ้างจากหนังสือที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่วันเดียวกัน) โดยมีสาระสำคัญซึ่งควรบันทึกไว้

“ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท. ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTT Oil and Retail Business Company Limited, “PTTOR”) และการให้ PTTOR เป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ของกลุ่ม ปตท.ในการดำเนิน

ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก และแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเบื้องต้นของ PTTOR ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเห็นชอบให้ ปตท.นำเสนอการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ดังกล่าว ต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะรัฐมนตรี และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป”

แผนการใหญ่ข้างต้น ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตามจังหวะ มีความชัดเจนมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ มีรายงานว่าได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว ขั้นต่อไปทางเทคนิค กำลังผ่านกระบวนการสำคัญอีกขั้น คือมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (28 เมษายน2560) ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีปัญหา แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ครั้งสำคัญ ท่ามกลางแรงเสียดทานต่างๆ เข้าใกล้เป้าหมายแล้ว

“การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความชัดเจน โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในสายตาสาธารณชน อีกทั้งยังช่วยให้หน่วยธุรกิจน้ำมันมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และสามารถปรับตัวกับสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้นได้ทันท่วงที”


สาระสำคัญอีกตอนหนึ่งของหนังสือ (อ้างไว้แล้ว) นำเสนอเหตุผลในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจไว้อย่างย่อ ๆ แต่มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ควรแก่การตีความ และติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป จะขอนำเสนออย่างเฉพาะเจาะจงอีกครั้ง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม