แม็คโคร (3)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

แผนการแม็คโคร ภายใต้เครือซีพี สะท้อนภาพรวมการปรับตัวของธุรกิจเครือข่ายใหญ่ว่าด้วยปรากฏการณ์ที่บริษัทสยามแม็คโครฯ เจ้าของแบรนด์หลัก Makro เครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (แม้บางคนมองว่าเป็นค้าส่ง แต่รายงานประจำปีของสยามแม็คโครนำเสนอรายงานจัดตนเอง อยู่ในประเภทค้าปลีกขนาดใหญ่) ในช่วง 3 ปีที่ผานมา ซึ่งอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเครือข่ายธุรกิจใหญ่-ซีพี มีภาพสำคัญ ๆ ซ้อนกันอยู่

ภาพแรก-(นำเสนอมาแล้ว 2 ตอน) ว่าด้วยความพยายามและแผนการขยายเครือข่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตามแนวทาง 2 ประการ หนึ่ง-ตั้งบริษัทในประเทศกัมพูชา และอินเดีย ปูทางเพื่อสร้างเครือข่ายค้าปลีก เข้าใจกันว่าจะเป็นรูปแบบคลาสสิก ซึ่งต้องลงทุนพอสมควร สอง-ซื้อกิจการร้านค้าเล็ก ๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจบริการอาหาร ในฮ่องกง สิงคโปร์ และดูไบ ว่าไปแล้วสยามแม็คโคร มีร้านค้าแบบดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วอีกแห่งหนึ่งที่ประเทศเวียดนาม (ตั้งแต่ปี 2555)

ภาพข้างต้น เชื่อว่าเกี่ยวข้องในฐานะเป็น “ชิ้นส่วน” ในภาพใหญ่ ว่าด้วยยุทธศาสตร์เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีในปัจจุบัน

สร้างเครือข่ายบริหารอาหาร

ในช่วงปี 2557-2559 เครือข่ายแม็คโครในยุคซีพี ขยายตัวมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้าพอสมควร ในภาพรวมทุกรูปแบบทั่วประเทศไทย เพิ่มขึ้น จาก 82 สาขา (ปี 2557) และ 98 สาขา (ปี 2558) เป็น 115 สาขา (ปี 2559) แม้ในเชิงปริมาณประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนสาขารูปแบบคลาสสิก (“รูปแบบเพื่อผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย” ส่วนใหญ่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในแบรนด์ Makro)

เมื่อพิเคราะห์แล้ว พบว่ามีแผนการอย่างกระตือรือร้นและมีนัยมากเป็นพิเศษ คือการสร้างเครือข่ายในรูปแบบใหม่ เรียกว่า “แม็คโครฟูดเซอร์วิส (Makro Food Service)” ซึ่งนิยามว่า “รูปแบบใหม่เพื่อผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรมและธุรกิจจัดเลี้ยง (โฮเรก้า)” โดยเพิ่มจากเพียง 8 สาขา (ปี 2557) และ 12 สาขา (ปี 2558)เป็น 17 สาขา (ปี 2559) ล่าสุดในปี 2558ได้เพิ่มรูปแบบใหม่– Makro Food Shop(พื้นที่เล็กกว่า Makro Food Service)ณ สิ้นปี 2559 มี 3 สาขาแล้ว นอกจากนี้ได้เพิ่มสาขาร้านสยามโฟรเซ่น (Siam Frozen) “ศูนย์รวมอาหารแช่แข็ง” ในย่านสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่องจาก 5 แห่ง (ปี 2557) เป็น 8 แห่ง (ปี 2559) เมื่อรวมกับเครือข่ายบริหารอาหารอีก 4 แห่งในต่างประเทศ ซึ่งเพิ่งซื้อกิจการ จึงกลายเป็นภาพใหญ่ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นอีก

แนวทางธุรกิจข้างต้นเป็นเรื่องจริงจังขึ้น เมื่อปรากฏใน สารจากประธานกรรมการ (อาสา สารสิน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สุชาดา อิทธิจารุกุล) รายงานประจำปี 2559 บริษัท สยามแม็คโคร

“ในปี 2560 ภายใต้กรอบ Makro 4.0 (พ.ศ 2560 – 2563) บริษัทจะมุ่งเน้นในการปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านอาหาร โดยรูปแบบของศูนย์จำหน่ายสินค้าจะเป็นรูปแบบ แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส หรือ แม็คโครฟูดช้อป เพื่อสร้างความคล่องตัวในการเข้าถึงผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านอาหารในแต่ละพื้นที่ สำหรับศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโครรูปแบบคลาสสิกจะเน้นขยายในจังหวัดที่ยังไม่มีสาขาของแม็คโคร”

ความเคลื่อนไหวของแม็คโคร เกี่ยวกับธุรกิจบริการอาหาร เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ สอดคล้องกับธุรกิจหลักเครือซีพี

บริษัทซีพีเอฟ บริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหารของเครือซีพี ธุรกิจหลักดั้งเดิม สะท้อนบุคลิกซีพี สะท้อนความเป็นธุรกิจระดับโลก (ปี 2559 มีรายได้ 464,465 ล้านบาท) เนื่องด้วยยอดขาย (Sales) ในสัดส่วนเพียงประมาณ 38% (รวมส่งออกด้วย) เท่านั้นมาจากกิจกรรมธุรกิจในประเทศไทย ที่เหลือเป็นยอดขายจากกิจการในเครือข่ายต่างประเทศ (อ้างจาก Charoen Pokphand Foods Plc. 2016 RE-SULTS BRIEFING February 27, 2017)

ซีพีเอฟ มีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ 2 กรณีเกี่ยวกับธุรกิจอาหารที่เชื่อมโยง ควรอ้างอิง หนึ่ง-การสร้างแบรนด์สินค้าเพื่อผู้บริโภคอย่างหลากหลาย ที่สำคัญคือ CPbrand, Kitchen Joy, Five Stars, BK, BKP สอง-กิจการค้าปลีกและร้านอาหาร ในหลายระดับหลายรูปแบบ อาทิ ไก่ย่างห้าดาวเครือข่ายร้านฟาสต์ฟู้ด Chester”s ร้านอาหารCP Kitchen ร้านค้าปลีก CP FreshMart ไปจนถึงศูนย์อาหาร CP Food World

เครือข่ายอันกว้างใหญ่

“ซีพี มีสินค้าและเครือข่าย ที่เข้าถึงสังคมมากที่สุด อย่างไม่มีใครปฏิเสธได้” ผมเคยนำเสนอประเด็นนี้ไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว (เรื่องอิทธิพลซีพี มติชนสุดสัปดาห์ ช่วงปลายปี 2552)

โดยกล่าวถึง สินค้าและบริการเพื่อผู้บริโภค จากอาหารพื้นฐาน อาหารกึ่งสำเร็จ และสำเร็จรูป ทั้งมีแบรนด์ และไม่มี ทั้งในตลาดแบบดั้งเดิม และตลาดแบบใหม่ (Modern trade) ไปจนถึงบริการพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่ มี ระบบสมาชิกมากที่สุด ครอบคลุมตั้งแต่ โทรศัพท์บ้าน มือถือ ทีวีบอกรับอินเทอร์เน็ต สินค้าข้างต้นได้นำเสนอผ่าน เครือข่ายร้านค้า ซึ่งมีมากที่สุดในประเทศ ไม่เพียงเครือข่ายร้าน 7-Eleven เท่านั้น ยังมีเครือข่ายอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เช่น True shop, True coffee, CP fresh mart แม้กระทั่งร้านค้าเล็ก ๆ เคลื่อนที่–ไก่ย่างห้าดาว

การผนึกรวม เครือข่ายร้านค้ากับระบบสมาชิกแม็คโคร โดยเฉพาะมีกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 3 ล้านราย ถือเป็นยุทธศาสตร์ซีพี ซึ่งดำเนินอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง

“การเชื่อมโยงและเกื้อกูลระหว่างธุรกิจจะดำเนินไปเข้มข้น ทั้งการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ด้วยแนวคิดข้ามพรมแดน ทั้งมิติสถานที่จริง (Places) และสถานที่ในโลกใหม่ (Cyber Spaces) ผสมผสานกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบการบริหารการขนส่งสินค้า (Logistics)” ผมได้คาดการณ์บางสิ่งที่สำคัญไว้ด้วยในขณะนั้น

ดูเหมือนแนวคิดข้างต้น มีเค้าโครงเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง ซึ่งแม็คโคร มีบทอรรถาธิบายที่แตกต่างและน่าสนใจเช่นกัน

“บริษัทได้ลงทุนระบบปฏิบัติการใหม่ที่ทันสมัยมาสนับสนุนการขยายธุรกิจของแม็คโคร…ภายหลังการวางรากฐาน ติดตั้งและทดสอบการใช้งานระบบในช่วงระยะเวลากว่า 2 ปี โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทได้นำระบบปฏิบัติการใหม่มาใช้เป็นที่เรียบร้อย ….ระบบนี้เมื่อได้รับการพัฒนาต่อยอดในเรื่องการใช้งานด้านการวางแผนการสั่งซื้อสินค้า การวิเคราะห์ จะเป็นฐานรากในการขยาย การดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในอนาคต และสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ…” ส่วนหนึ่งจากสารจากประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสยามแม็คโคร ในรายงานประจำปีก่อนหน้า (ปี 2558)

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน แม็คโครได้ทำสัญญาธุรกิจเกี่ยวโยงกับเครือซีพี อาทิ กับ ซีพี ออลล์ (เจ้าของเครือร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศไทย) ในการ “ใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวในการบันทึกรายการขายสินค้าการบันทึกการรับสินค้า การเคลื่อนไหวของสินค้าและระบบข้อมูลลูกค้าของสาขาของบริษัท โดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวทําข้อมูลของสาขาใหม่และข้อมูลรวมของทุกสาขาได้โดยต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์เอง” (มกราคม 2558) และกับบริษัทในกลุ่ม ทรูคอร์ปอเรชั่น (บริษัทหลักในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของซีพี) ในสัญญา “ขอใช้บริการการเช่าศูนย์ระบบคอมพิวเตอร์หลักและสํารอง” (กุมภาพันธ์ 2559)

“ในปี 2559 บริษัทร่วมมือกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์วางแผนในการพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบการผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปออฟไลน์ O2O (Online to Offline) เป็นของตนเอง และพร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2560 โดยผู้ประกอบการจะสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีวางจำหน่ายในสาขาของแม็คโคร รวมถึงสินค้าที่คัดสรรไว้ในแค็ตตาล็อกผ่านช่องทาง Makroclick.com ซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของแม็คโครมากขึ้น” เนื้อหาอีกบางส่วนปรากฏในรายงานประจำปีล่าสุด (2558) สะท้อนแผนการตามทิศทางที่ควรเป็นไป

เป็นบทสรุปของแม็คโครที่น่าตื่นเต้น เชื่อว่าสัมพันธ์กับภาพใหญ่บางภาพของซีพีด้วย