แม็คโคร (2)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

ห้างแม็คโคร ภายใต้เครือข่ายธุรกิจซีพี เดินหน้าแผนการธุรกิจสู่ภูมิภาคอย่างจริงจังแล้ว

แม็คโคร (Makro) ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น “มุ่งเป็นที่หนึ่งในอาเซียนเรื่องการจัดหาสินค้าเพื่อธุรกิจอาหารแบบครบวงจร สำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ” ปรากฏหลักฐานครั้งแรกอย่างเป็นการเป็นงานใน รายงานประจำปี 2557 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

จากนั้น แผนการแม็คโครค่อย ๆ ดำเนินไปตามโมเดลและประสบการณ์ธุรกิจที่ผ่านมา ทั้งบุกเบิกใหม่และซื้อกิจการ

บุกเบิก

งานบุกเบิกสาขา เป็นไปตามจังหวะก้าวและขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลา นั่นคือยุทธศาสตร์หลัก แผนการหลัก เป็นผลึกประสบการณ์ 3 ทศวรรษของแม็คโครในประเทศไทย กำลังเข้าสู่ก้าวใหม่ ประยุกต์เข้ากับระบบเศรษฐกิจอื่น (ประเทศเพื่อนบ้าน) เชื่อว่าคงมีความแตกต่างกันบ้าง

ในปี 2557 นั่นเอง แม็คโครได้จัดตั้งย่อย–บริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช จำกัด ขึ้นมาอย่างเงียบ ๆ (ไม่ปรากฏในรายงานประจำปี 2557 และ 2558) จนถึงปี 2559 บริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช เริ่มมีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง

“เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์…บริษัทได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศอย่างรอบด้านโดยเน้นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจโดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ พร้อมกันนี้ในปี 2557 บริษัทได้จัดตั้งบริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช จำกัด เพื่อการลงทุนธุรกิจรูปแบบศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโคร ดังนั้นบริษัทจึงมีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาสู่การเป็นองค์กรระดับสากล และขยายธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ ต่อไป” รายงานประจำปี 2559 (เผยแพร่ในต้นปี 2560) ได้กล่าวย้ำแผนการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

ภาพความเคลื่อนไหวอันคึกคัก เกี่ยวกับแผนการขยายเครือข่าย ศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโครในต่างประเทศ ลั่นระฆังขึ้นอย่างแท้จริงในปลายปี 2559 (ต่อจากนี้ คือสาระโดยย่อ อ้างอิงรายงานบริษัทสยามแม็คโคร นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

 

ภาพจาก : www.prmatter.com

—-16 กันยายน 2559 บริษัทแม็คโคร อาร์โอเอช (บริษัทย่อยที่บริษัทสยามแม็คโครถือหุ้น 100%) ได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ จดทะเบียนใน ประเทศกัมพูชา-Makro (Cambodia) Company Limited ทุนจดทะเบียน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านบาท โครงสร้างการถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช จำกัด ถือหุ้น 70% และนักลงทุนท้องถิ่นชาวกัมพูชาถือหุ้น 30%

กรณีการลงทุนธุรกิจในประเทศกัมพูชา ดูเผิน ๆ แล้วมีโมเดลไม่ได้แตกต่างจากอีกหลายกรณี ในบางประเทศ นั่นคือมีความจำเป็นต้องร่วมมือกับนักลงทุนท้องถิ่น แต่กรณีกัมพูชาอาจแตกต่างออกไปบ้าง ด้วยมีเครือข่ายธุรกิจท้องถิ่นอิทธิพล มีบุคลิกเฉพาะ มีสายสัมพันธ์เฉพาะตัวมาก ๆ เชื่อว่าคงเป็นโมเดลไม่แตกต่างจากกรณี เอสซีจี (ลงทุนสร้างโรงงานซีเมนต์) หรือ ทีซีซี (เกษตรแปลงใหญ่ อุตสาหกรรมเกษตร และท่าเรือ)

—-29 พฤศจิกายน 2559 บริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช (“เป็นบริษัทย่อยในรูปแบบสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่บริษัท สยามแม็คโครถือหุ้น 99.99%” เจาะจงอ้างถ้อยคำจากเอกสารของสยามแม็คโคร รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ) ได้ตัดสินใจเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวน 1,620 ล้านบาท เป็น 1,745 ล้านบาท “โดยวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และรองรับการขยายธุรกิจและการลงทุนในต่างประเทศในอนาคตตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช”

เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทแม่แล้วมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ บริษัทสยามแม็คโคร เจ้าของเครือข่ายร้านค้าแม็คโครในประเทศไทย (ณ สิ้นปี 2559 มีเครือข่ายสาขารูปแบบต่าง ๆ ทั้งสิ้นรวมกัน 115 สาขา โดยเพิ่มจากปีที่แล้ว 17 สาขา) ทุนจดทะเบียนในปัจจุบัน ถือว่าไม่มากกว่าบริษัท แม็คโคร อาร์โอเอชนัก สยามแม็คโคร ปัจจุบันมีทุนทะเบียนและเรียกชำระแล้ว 2,400 ล้านบาท เชื่อว่าบริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช กับแผนการลงทุนสร้างเครือข่ายร้านค้าแม็คโครในต่างประเทศ จะเป็นแผนการขยายเครือข่ายสาขาอย่างต่อเนื่อง หลังจากเริ่มต้นแห่งแรกที่ประเทศกัมพูชา

—19 มกราคม 2560 บริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช ได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่จดทะเบียนใน ประเทศอินเดีย –CP Wholesale India Private Limited ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 100,000 รูปีอินเดีย หรือประมาณ 50,000 บาท โครงสร้างการถือหุ้นบริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช จำกัด ถือหุ้น 99.99%

ซื้อกิจการ

แผนการเดินตามเส้นทางที่เชื่อกันว่าอาจจะสั้นกว่าการบุกเบิกด้วยตนเองซึ่งอาจไม่ได้เช่นนั้นทุกกรณี ด้วย เครือซีพี มีบทเรียนอันอุดมว่าด้วยกรณีซื้อและควบรวมกิจการ (Merger & acquisition) ทั้งในประเทศและระดับโลก จึงเชื่อว่าจะมีจังหวะก้าวเดินไปอย่างที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับกรณี ซีพี ออลล์ ซื้อแม็คโคร (ปี 2556 ) ซึ่งมีจังหวะก้าว และใช้เวลาในแผนการปรับตัวและหลอมรวมพลังอย่างสมเหตุสมผล ก่อนมาสู่ยุทธศาสตร์หลักซึ่งกำลังกล่าวถึง แม็คโครเองเคยซื้อกิจการบริษัทสยามฟูด (ปี 2548) ซึ่งถือว่าเป็นกรณีและบทเรียนที่ประสบความสำเร็จ นำพากิจการก้าวสู่บทบาทใหม่ ๆ เป็นก้าวครั้งสำคัญเข้าสู่ธุรกิจให้บริการ จัดหาผลิตภัณฑ์อาหาร บริการจัดเก็บ และจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างครบวงจร

จังหวะก้าวแม็คโครจากกรณีซื้อกิจการบริษัทสยามฟูด นอกจากสร้างโมเดลธุรกิจเฉพาะขึ้นมาเป็นการเพิ่มเติม (ดูไปแล้วมีความแตกต่างจากโมเดล Makro ทั่วโลก พอสมควร) ยังได้ต่อยอดสร้างเครือข่ายร้านค้ารูปแบบใหม่ แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส (Makro Food Service)

อีกด้านหนึ่ง บริษัท สยามฟูด เซอร์วิส (บริษัทเดิมก่อตั้งเมื่อปี 2527 แม็คโครซื้อกิจการในปี 2548) กลายเป็นบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจพื้นฐานสำคัญของสยามแม็คโคร “ธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าพร้อมบริการจัดส่งประเภทอาหารสดและอาหารแช่แข็งคุณภาพ….เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มธุรกิจบริการด้านอาหาร…”

ในรายงานประจำปีล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่สยามแม็คโครได้กล่าวถึงจังหวะก้าวสำคัญของบริษัทสยามฟูดเซอร์วิส ไว้ “สยามฟูด เซอร์วิส เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ กลยุทธ์หนึ่งในการยกระดับธุรกิจให้บริการด้านอาหารของแม็คโครสู่สากล”

การสร้างฐานการค้า และเครือข่ายธุรกิจของสยามฟูด เซอร์วิส ในต่างประเทศ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นแผนการคู่ขนานกับเครือข่ายร้านค้าแมคโคร ซึ่งกำลังเกิดขึ้นและขยายตัวในภูมิภาค

“ในปลายปี 2559 สยามฟูด เซอร์วิสได้เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นบริษัทจำนวน 4 แห่งซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจให้บริการด้านอาหารในต่างประเทศมานานกว่า 30 ปี ได้แก่ Indoguna(Singapore) Pte Ltd (บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์) IndogunaDubai LLC (บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) LordlyCompany Limited (บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง) และ Just MeatCompany Limited (บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจแม็คโครให้โดดเด่นในตลาดการจัดหาสินค้าเพื่อธุรกิจอาหารแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน”(อีกตอนหนึ่งของรายงานประจำปี2559)

นั่นคือแผนการขยายธุรกิจระดับภูมิภาคของแมคโครถือว่ากิดขึ้นอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง หลังจากเครือซีพีได้เข้าซื้อกิจการแม็คโคร ทั้งประกาศยุทธ์ศาสตร์ขยายเครือข่ายระดับภูมิภาคมาแล้ว 3 ปีเต็ม เป็นจังหวะก้าวอย่างสอดคล้องกันกับแผนการที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือการลงทุนสร้างเครือข่ายร้านค้าแม็คโคร ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างแล้ว


เมื่อไม่นานมานี้ สยามแม็คโครได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยบทสรุป “สยามฟูด เซอร์วิส ได้ดำเนินการตามสัญญาซื้อขายหุ้นและได้รับโอนหุ้นของกลุ่มบริษัทเป้าหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ซึ่งมีมูลค่ารายการรวมทั้งสิ้นประมาณ 110.58 ล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 2,743.44 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ 24.81 บาท ต่อ 1.00 เหรียญดอลลาร์สิงคโปร์)”