ธนาคารกสิกรไทย-จีน (1)

ภาพจาก : www.kasikornbank.com

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

กรณีการเปิดธนาคารท้องถิ่นจีน กว่าจะประสบความสำเร็จใช้เวลามากกว่าทศวรรษ สำหรับธนาคารไทยแล้ว ถือว่าเป็นความพยายามที่มีความหมายอย่างมาก ๆ

เรื่องราวการเปิด ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เมื่อ 1 ธันวาคม 2560 ณ นครเสิ่นเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะการแถลงข่าวโดย บัณฑูร ล่ำซํา ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่สาระได้เบี่ยงเบนไปพอสมควร

บทสนทนาของ บัณฑูร ล่ำซํา ผู้ซึ่งมี “ตัวตน” บางกรณีได้แยกออกจากบทบาทและความเป็นไปของธนาคารกสิกรไทย ในกรณีนี้ ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น

“กสิกรไทยได้รับอนุมัติจากทางการจีนให้ตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง พร้อมเปิดสาขาเซี่ยงไฮ้เพื่อยกระดับเครือข่ายการบริการในจีน รองรับการเติบโตทางด้านการค้าและการลงทุนจากเศรษฐกิจจีนที่กำลังจะก้าวมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในทศวรรษหน้า โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนระหว่างจีนและประเทศไทย รวมทั้งต่อยอดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค ในฐานะธนาคารดิจิทัลแห่งภูมิภาค AEC+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) พร้อมตั้งเป้าปริมาณธุรกิจสาขาต่างประเทศของธนาคารมียอดสินเชื่อในปี 2561 ที่ 29,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% และยอดปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่ 150,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2560” (อ้างจากข่าวทางการของธนาคารกสิกรไทย ในหัวข้อ “กสิกรไทยเปิดธนาคารท้องถิ่นในจีน” เมื่อ 4 ธันวาคม 2560-www.kasikornbank.com ) สาระเชิงสรุปข้างต้น ควรเป็นสาระสำคัญของความเคลื่อนไหว ว่าด้วยบทบาทธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีความหมายกว้าง เชื่อมโยงภาพรวมธนาคารไทยด้วย

ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะธนาคารใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ก่อตั้งในเมืองไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ถือหุ้นใหญ่และบริหารโดยคนไทย กับบทบาทและความพยายามเปิดธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (LII : Locally Incorporated Institution) ในจีนแผ่นดินใหญ่ นับเป็นความมุ่งมั่น ความพยายามที่ใช้เวลามากทีเดียว

แม้ว่าบางตอนในการแถลงข่าว ณ นครเสิ่นเจิ้น บัณฑูร ล่ำซํา กล่าวว่า แนวความคิดและความพยายามข้างต้น มีจุดเริ่มขึ้นมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ทว่าปรากฏการณ์ที่เด่นชัดควรเริ่มต้นเมื่อธนาคารกสิกรไทย ปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจ จนแน่ใจได้ผ่านวิกฤตการณ์นั้นไปแล้ว

บัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน หรือสิ่งที่เขาต้องการ เขาเรียกว่า “China card” อย่างจริงจัง ควรถือว่าเริ่มต้นอย่างจริงจังในราวปี 2546 “เมื่อเขาเปลี่ยนนามบัตร มีชื่อจีนด้วย เพิ่มชื่อภาษาจีนในป้ายชื่อธนาคาร ทั้ง call center และ website ภาษาจีน” (อ้างจากข้อเขียนของผม ในนิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2546)

หากนับตั้งแต่ปี 2546 ถือได้ว่าเป็นความพยายามอันยาวนานถึง 15 ปีทีเดียว

ในช่วงเวลานั้นผมมีโอกาสได้สนทนากับบัณฑูร ล่ำซำ หลายครั้ง รวมทั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ (อ้างจากนิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2549) เรื่องราวพรั่งพรูและมีสีสัน

“เขาเดินทางไปประเทศจีนประมาณเดือนละ 1 ครั้ง การศึกษาเรื่องจีนเป็นความท้าทาย เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ และสร้างสายสัมพันธ์ที่ขาดหายไปประมาณครึ่งศตวรรษ ขณะเดียวกันก็ “ยืนพูด” กับสังคมจีนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้คนที่ทรงอิทธิพล… เขาให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าว Xinhua ของทางการ

จีนซึ่งแผนการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีน ซึ่งได้ตีพิมพ์ทั้งภาษาจีน และ website ภาษาอังกฤษของสำนักข่าวที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน รวมทั้งการเดินทางไปยัง Tsinghua University มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ร่วมงานและปาฐกถา “Managing Risk in Asia” Case Study of Thailand’s Banking Sector” ที่ School of Economics and Management ต่อกลุ่มนักศึกษา MBA ซึ่งกำลังเป็นชนชั้นใหม่ที่มีอนาคตของสังคมจีนยุคใหม่”

ความพยายามเริ่มมาจากมุมมองที่น่าสนใจ ไม่เพียงสะท้อนมุมมองในฐานะเป็นผู้บริหารธุรกิจไทยคนสำคัญ มุมมองธนาคารไทยซึ่งจำเป็นต้องมีบทวิเคราะห์สถานการณ์อย่างเข้มงวดอยู่เสมอ และเชื่อว่ามุมมองนั้นมีอิทธิพล กลายเป็นทิศทางและแนวโน้มความเคลื่อนไหวของสังคมธุรกิจไทยด้วย

“พวกเราทั้งหลายในเมืองไทยจะอยู่โดยคำนึงถึงว่ามีจีนอยู่ด้วย ไม่เหมือนกับตอนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยคิดว่าโลกมีสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจในช่วงนั้น ทุกคนต้องเตรียมตัวที่จะอยู่กับสหรัฐอเมริกา เรียนหนังสือที่อเมริกา พูดภาษาอเมริกัน ทำความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์กับทุกภาคของอเมริกา ขณะนี้มาอีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่ว่าสหรัฐอเมริกาจะหายไป แต่ดันมีจีนโผล่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นคนไทยต้องอยู่กับโลกที่มีทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนให้ได้” บทสนทนาอีกตอนหนึ่งที่สำคัญ สะท้อนมุมมองและแนวความคิดที่สำคัญของ บัณฑูร ล่ำซำ (อ้างจากเรื่อง “ว่าด้วยเครือข่ายธุรกิจจีน” โดย วิรัตน์ แสงทองคำ นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2549)

ความจริงแล้ว ธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 แล้ว โดยเริ่มต้นจากยกระดับจากบริษัทการเงินที่ชื่อ Thai Farmer Finance and Investment ที่ฮ่องกงเป็นสาขาธนาคาร (ปี 2534) จากนั้นได้เปิดเครือข่ายในจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงเวลาเศรษฐกิจไทยขาขึ้นช่วงหนึ่ง พร้อม ๆ กับมุมมองเชิงบวกของสังคมธุรกิจไทยเกี่ยวกับจีนในยุคแรก ด้วยการเปิดสำนักงานตัวแทนที่เสิ่นเจิ้น (ปี 2537) เซี่ยงไฮ้ (ปี 2538) ปักกิ่ง (ปี 2538) และคุนหมิง (ปี 2538) แล้วตามมาด้วยการยกระดับสำนักงานตัวแทนเสิ่นเจิ้น เป็นสาขา (ปี 2539)

ในช่วงความพยายามไปสู่เป้าหมายธนาคารท้องถิ่นประเทศจีน (LII) ซึ่งยังไม่บรรลุผล และดูจะใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้ ธนาคารกสิกรไทยได้ปรับแผนการ จาก “ยุทธศาสตร์จีน” อันเข้มข้นไปบ้าง อันเนื่องมาจากมุมมองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะแผนการหลอมรวมเศรษฐกิจอาเชียน (AEC) เดินหน้าไป จึงปรากฏแผนการใหม่ที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์โฟกัสตลาดเออีซี+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้)”

ในช่วงใกล้ ๆ ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้อง ธนาคารกสิกรไทยได้ขยายเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาคดังกล่าวอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในปี 2556 ขณะที่ความพยายามสร้างเครือข่ายธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ดำเนินไปอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง มีการเปิดสาขาใหม่ที่เฉิงตู และสาขาย่อยที่หลงกั่ง พร้อม ๆ กับได้โอกาสครั้งสำคัญ สามารถจดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นในประเทศลาว ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นแห่งแรกจากไทย ในเวลาเดียวกันกับการเปิดสำนักงานผู้แทนที่ฮานอยและโฮจิมินห์ในประเทศเวียดนาม และที่พนมเปญในประเทศกัมพูชา

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ว่า “ธนาคารดิจิทัลแห่งภูมิภาค AEC+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้)” (ตามสรุปข่าวอ้างไว้ตอนต้น) ดูเหมือนจะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ล่าสุด เท่าที่ตรวจสอบจากเอกสารอื่น ๆ ของธนาคาร ไม่ว่ารายงานประจำปี การนำเสนอข้อมูล (investor presentation) ในช่วงใกล้ ๆ ยังไม่มีความชัดเจน เพียงแต่ว่าในถ้อยแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของธนาคารกสิกรไทย ปรากฏเนื้อหาบางตอนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง

“การที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) อยู่ที่เมืองเสิ่นเจิ้นซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” และเป็นสถานที่ตั้งของบริษัทฟินเทคสตาร์ตอัพ รวมถึงยูนิคอร์นต่าง ๆ ธนาคารจึงอยู่ในจุดที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านนวัตกรรม โดยธนาคารวางแผนจะร่วมมือกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และ/หรือ บริษัทฟินเทค ในการพัฒนา digital banking platform หากเชื่อมโยงบริการของกสิกรไทยในประเทศจีน และบริการของธนาคารกสิกรไทยในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน จะทำให้ธนาคารก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการชำระเงินในภูมิภาค AEC+3″

โปรดติดตามตอนต่อไป