ธนาคารกสิกรไทย-จีน (2)

ภาพจาก : www.kasikornbank.com

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

กรณีการเปิดธนาคารท้องถิ่นจีน สำหรับธนาคารไทยแล้ว ถือว่าเป็นความพยายามที่มีความหมายอย่างมาก ๆ สะท้อนมุมมองและยุทธศาสตร์ที่ปรับเปลี่ยนเรื่องราวความพยายามกว่าทศวรรษ กรณีการเปิดธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เมื่อ 1 ธันวาคม 2560 ณ นครเสิ่นเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์กับการปรับตัวครั้งสำคัญ ว่าด้วยเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ

“เล่นเกมอย่างที่โลกสากลเล่นกัน มันมวยคนละรุ่น ไม่มีทางที่จะไปสู้กับโลกตะวันตก …ที่เคยไปเปิดสาขาที่ลอนดอน นิวยอร์กไม่ได้เป็นกลุ่มที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ตอนนั้นว่าฉันยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ก็ควรเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์ มีสาขา มีจินตนาการกันแบบนั้นซึ่งใช้เวลา 10 กว่าปีที่พิสูจน์ว่า เป็นภาพที่ยืนไม่อยู่ …เสียหายกันทั้งนั้น ปิดกันเรียบ อาศัยโอกาสเกิดวิกฤต รู้สึกไม่เสียหน้า”

อีกบางตอนที่สำคัญ บัณฑูร ล่ำซำ กล่าวไว้ เกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน (อ้างจากข้อเขียนของผม ในนิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2546) ให้ภาพยุทธศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น การปรับตัวของธุรกิจธนาคารไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ว่าไปแล้วแผนการว่าด้วยเครือข่ายต่างประเทศของธนาคารไทย มีพัฒนาการแตกต่างกัน ตามบริบทและช่วงเวลาที่สำคัญ ๆ หากพิจารณาลงลึกพอประมาณ พบว่าแต่ละธนาคารก็มีมุมมอง มีแผนการที่มีความแตกต่างกันไปบ้าง

ยุคแรกในภาพกว้าง ๆ ธนาคารกรุงเทพบุกเบิกสาขาต่างประเทศก่อนใคร ๆ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ ทำให้ ชิน โสภณพนิช ผู้บริหารคนสำคัญธนาคารกรุงทพยุคแรก ๆ ต้องระเห็จไปอยู่ฮ่องกงพักใหญ่ ในเวลานั้นการเมืองไทยเปลี่ยนขั้ว เริ่มก่อตั้งสาขาฮ่องกง (ปี 2497) เป็นการสร้างรากฐานเครือข่ายต่างประเทศ พร้อมกับความสัมพันธ์เครือข่ายธุรกิจ “ชาวจีนโพ้นทะเล” ยังอยู่อย่างเหนียวแน่นต่อไป จากนั้นไปจุดหมายสำคัญในภูมิภาคเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะไปยังโตเกียว (ปี 2498) และสิงคโปร์ (ปี 2500)

ในเวลานั้นเครือข่ายธุรกิจฮ่องกงกำลังเติบโตจากโอกาสและความสัมพันธ์กับอังกฤษ ในฐานะฮ่องกงเป็นฐานสำคัญของอังกฤษในตะวันออกไกล และอังกฤษเป็นศูนย์กลางการเงินโลก ธนาคารกรุงเทพและ ชิน โสภณพนิช เดินตามแผนการเปิดสาขาในโลกตะวันตกครั้งแรก ที่ลอนดอน อังกฤษ (ปี 2500)

ธนาคารกสิกรไทยมีแนวทางที่แตกต่างไปค่อนข้างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากประวัติศาสตร์และโอกาสทางธุรกิจของเครือข่ายตระกูลล่ำซำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกอย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ตั้งแต่ยุคสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทยในยุค บัญชา ล่ำซำ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น American connection เข้ามาสืบทอดการบริหารต่อจาก เกษม ล่ำซำ ผู้ผ่านการศึกษาวิชาการธนาคารจากอังกฤษ

ธนาคารกสิกรไทยเปิดสาขาต่างประเทศครั้งแรกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2510 ซึ่งถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวล่าช้ากว่าธนาคารกรุงเทพมากทีเดียว อย่างไรก็ตามนับเป็นธนาคารไทยแห่งที่สอง มีความกระตือรือร้นในการสร้างเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ “ต่อมาจึงได้เปิดสาขาที่ฮัมบูร์ก (ประเทศเยอรมนี) และนิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) เป็นสาขาธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

ระหว่างปี 2510-2521…และในช่วงระยะต่อมา ก็ได้เปิดสำนักงานตัวแทนขึ้นที่ลอสแองเจลิส และที่ฮุสตัน เมืองน้ำมันในรัฐเทกซัสของสหรัฐ” (อ้างจากหนังสือ บัญชา ลำซ่ำ /ประวัติและผลงาน, สิงหาคม 2535)

ธนาคารกสิกรไทยมุ่งสู่โลกตะวันตก นอกจากด้วยสายสัมพันธ์อันยาวนานแล้ว ถือเป็นจังหวะเวลาแห่งยุคซึ่งโลกตะวันตก

โดยเฉพาะสหรัฐเข้ามามีบทบาทในช่วงสงครามเวียดนาม ภาพนั้นสะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวของธนาคารกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ธนาคารกรุงเทพ เปิดสาขาในสหรัฐ เริ่มที่นิวยอร์ก(ปี 2514) ตามมาด้วย ลอสแองเจลิส (ปี 2519) และที่ยุโรปที่เมืองที่สำคัญ-ฮัมบูร์กของเยอรมนี (ปี 2520) เช่นเดียวกัน

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ในยุคผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ เปิดฉากเครือข่ายต่างประเทศครั้งแรกที่นิวยอร์ก (ปี 2522)
ยุคก่อนวิกฤตปี 2540

อีกช่วงหนึ่งของพัฒนาการทางเศรษฐกิจระดับโลก เมื่อเอเชีย-แปซิฟิกน่าสนใจมากขึ้น ต่อเนื่องมาจากสงครามอินโดจีนอันยาวนานสงบลงอย่างแท้จริง ตามมาด้วย “แปรสนามรบให้เป็นการค้า”

การเติบโตและเปิดกว้างของจีนแผ่นดินใหญ่ แนวโน้มจากภูมิภาคอาเซียนกำลังมีแผนหลอมรวมทางเศรษฐกิจ กระแสการลงทุนมุ่งมาที่นี่ โอกาสเปิดกว้างโดยทั่วไป มุมมองเป็นไปทางบวกมากเป็นพิเศษ ธนาคารไทยยุครุ่งโรจน์ในช่วงก่อนวิกฤตการณ์ หันทิศทางมีแผนการสร้างเครือข่ายต่างประเทศ อันคึกคักครั้งใหญ่

กรณีธนาคารกสิกรไทยมีความเคลื่อนไหวสำคัญเริ่มต้นจากยกระดับจากบริษัทการเงินที่ชื่อ Thai Farmer Finance and Investment ที่ฮ่องกงเป็นสาขาธนาคาร (ปี 2534) จากนั้นได้เปิดเครือข่ายในจีนแผ่นดินใหญ่ สำนักงานตัวแทนที่เสิ่นเจิ้น (ปี 2537) เซี่ยงไฮ้ (ปี 2538) ปักกิ่ง (ปี 2538) และคุนหมิง (ปี 2538) ที่สำคัญตามมาด้วยการยกระดับสำนักงานตัวแทนเสิ่นเจิ้น เป็นสาขา (ปี 2539) ในมุมมองธนาคารกสิกรไทยถือเป็น “หมุดหมาย” การตั้งต้นธุรกิจที่จีนแผ่นดินใหญ่

ภาพนั้นแสดงให้เห็นจุดตั้งต้น ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี่เอง ในบางมุมมองเชื่อว่า ความสัมพันธ์ “ชาวจีนโพ้นทะเล” ของตระกูลล่ำซ่ำ ขาดช่วงมาเป็นเวลานาน

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ และตระกูลโสภณพนิช กับเครือข่าย “ชาวจีนโพ้นทะเล” ดำเนินไปอย่างไม่ขาดตอน จากฮ่องกง 4 สาขา (ปี 2497-2510) สิงคโปร์ (ปี 2500) มาเลเซีย (ปี 2502) ไต้หวัน (ปี 2508) อินโดนีเชีย 2 สาขา(ปี 2511-2515) แล้วเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ “ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียวที่มีรากฐานมั่นคง

ในประเทศจีน โดยเริ่มเปิดสาขาในประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 2529” (อ้างจากwww.bangkokbank.com) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ธนาคารกรุงเทพ ยกระดับสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม (ก่อตั้งปี 2504) เป็นสาขาธนาคาร (ปี 2535) ที่โฮจิมินห์ซิตี และสาขาฮานอย (ปี 2537) ธนาคารกรุงเทพได้เปิดสาขาเวียงจันทน์ ประเทศลาว (ปี 2536) และสาขามะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (ปี 2538) ที่สำคัญสามารถยกระดับธนาคารสาขาในมาเลเซียเป็นธนาคารท้องถิ่น (ปี 2537) ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของธนาคารไทย

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ เคลื่อนไหวอย่างคึกคึกเช่นเดียวกัน มุ่งประเทศเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ เปิดสาขาฮ่องกง (ปี 2533) มีดีลพิเศษก่อตั้งธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ (ปี 2534) ที่พนมเปญและเปิดอีก 3 สาขา (พระตะบอง เสียมเรียบ และสีหนุวิลล์) สาขาที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว (ปี 2535) และสาขาสิงคโปร์ (ปี 2537)ยุคใหม่

หลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เครือข่ายต่างประเทศของธนาคารไทย มีปรับเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ตามที่ได้อ้างคำกล่าว บัณฑูร ล่ำซำในตอนต้นธนาคารไทยพาณิชย์ มีการปรับเปลี่ยนมากที่สุดก็ว่าได้ ไม่เหลือเครือข่ายอื่นใดในโลกตะวันตก เหลือเพียงเครือที่เปิดขึ้นช่วงปี 2533-2537 ที่กล่าวไว้ โดยมีการเพิ่มสำนักงานตัวแทน ที่ย่างกุ้งประเทศพม่า (ปี 2555) กับ ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน (ปี 2556)

ส่วนธนาคารกรุงเทพ มีความพยายามคงเครือข่ายไว้มากเป็นพิเศษ ในโลกตะวันตก ยังมีที่ลอนดอน และนิวยอร์ก ขณะที่มีความเคลื่อนไหวเชิงรุก นอกจากเปิดสาขากัมพูชา (ปี 2557) ยกระดับสำนักงานตัวแทนเป็นสาขาในย่างกุ้งประเทศพม่า (2558) รวมทั้งแผนขยายสาขาอีกหลายแห่ง ธนาคารท้องถิ่นในมาเลเซีย ที่สำคัญมาก ๆ คือสามารถก้าวไปขั้นใหญ่มีเครือข่ายในฐานะธนาคารท้องถิ่นในจีนแผ่นดินใหญ่ (ปี 2552) ในฐานะธนาคารไทยรายแรก


ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย คงเหลือเครือข่ายในโลกตะวันตก ไว้เฉพาะที่ลอสแองเจลิส (สหรัฐ) และเกาะเคย์แมนเท่านั้น แล้วเปิดฉากความพยายามครั้งใหญ่ครั้งใหม่ จากยุทธศาสตร์ China card สู่ AEC+3