จดหมายแห่งอนาคต (จบ) รวม 10 ไอเดียสำหรับอนาคต

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

ในตอนที่แล้วพ่อสรุปไปแล้ว 7 จากทั้งหมด 10 ไอเดียของจดหมายทุกฉบับที่เขียนมา เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกาภิวัตน์ยุคใหม่ วันนี้พ่อจึงอยากพูดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นที่จะเกิดขึ้นกับผู้คน ซึ่งยังเหลืออยู่อีก

ความไม่เท่าเทียม คือ รอยร้าวของสังคมที่อาจถูกขยายด้วยเทคโนโลยี

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขนาดนี้ มนุษย์เราจะตามทันไหม ? คำตอบก็คือ บางคนคงตามทันและได้ประโยชน์ และหลายคนคงตกขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ปัญหาก็คือ คนที่มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลาท้ายที่สุดนั้น คือ คนที่ทำงานซ้ำ ๆ และใช้ทักษะไม่สูง เพราะงานของคนกลุ่มนี้จะถูก “หุ่นยนต์” และเทคโนโลยีของยุค data เข้ามาแทนที่ได้อย่างง่ายดาย

ผลที่ตามมา คือ ความไม่เท่าเทียมกันน่าจะถ่างขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่รีบเตรียมความพร้อมหรือแก้ไข และเหตุการณ์อย่าง Brexit หรือการขึ้นมาของผู้นำอย่างประธานาธิบดีทรัมป์ ก็จะเป็นเหตุการณ์ที่เตือนเราถึงผลของความเหลื่อมล้ำที่สะสมมา ว่าทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง แม้แต่ในเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ขนาดอเมริกาและอังกฤษ

หันมามองในประเทศไทยเองก็มีความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ซ้ำยังเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีจึงทำให้มีคนถูกทิ้งที่ชานชาลามากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นที่สำคัญมาก

พ่อมองว่าคนรุ่นพ่อเป็นสะพานที่สำคัญที่จะต้องเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เกิดมากับเทคโนโลยียุคแห่ง data กับคนรุ่นใหญ่ที่มากด้วยประสบการณ์ แต่อาจตกยุคเรื่องเทคโนโลยี เพราะการจะขับเคลื่อนองค์กรใดก็ตามให้ทันโลกได้นั้น จำเป็นต้องใช้คนทั้งสองยุคทำงานร่วมกัน

จุดจบของระบบการศึกษาปัจจุบัน คือ จุดเริ่มต้นใหม่

หากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้คน “ตกขบวนรถไฟแห่งเทคโนโลยี” มากขึ้น สิ่งที่จะเป็น “ตั๋ว” ให้คนขึ้นรถไฟได้ก็คือ “การศึกษา” แต่ภาคการศึกษาเองส่วนใหญ่ก็ประสบปัญหาตามไม่ทันโลกเช่นเดียวกัน พ่อมองว่าการศึกษาในยุคปัจจุบันจะละลายหายไป และการศึกษาแห่งอนาคตจะมีอย่างน้อยสามคุณลักษณะที่สำคัญ

ข้อแรก วงการศึกษาอาจเดินตามรอยวงการดนตรี คือ เนื้อหาการศึกษาสามารถหาได้ง่ายและฟรี หรือเกือบฟรี โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นเสมือนสถานที่จัดงานดนตรี คือ คนมาไม่ใช่เพื่อแค่ “นั่งฟังเพลง” แต่เพื่อพบปะผู้อื่นที่มีความสนใจคล้ายกันและความเห็นต่างกัน สร้างเครือข่ายหาไอเดียใหม่ ๆ ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน โดยไม่ต้องกลัวความล้มเหลวมากนัก อาจารย์อาจเปลี่ยนจากคนเลกเชอร์มาเป็นเสมือน “โค้ช” ดนตรีหรือครูสอนร้องเพลง ที่คอยดูว่านักเรียนแต่ละคนอ่อนหรือแข็งทักษะด้านใด สนใจหรือไม่ชอบอะไร ห้องเรียนเปลี่ยนเป็นเสมือน “ห้องซ้อม” ที่อาจารย์ใช้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวนักเรียน ไม่ใช่แค่นักเรียนเรียนรู้จากอาจารย์

แน่นอนว่าการจะเข้าไปสู่ระบบการศึกษาใหม่นี้ต้องใช้เวลาและการปรับตัวมหาศาล ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ กติกา และบุคลากรในภาคการศึกษา หนทางหนึ่งที่จะเป็นก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ที่พ่อว่าน่าสนใจ คือ การทำ “พื้นที่การศึกษาพิเศษ” ที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่ง TDRI ได้นำเสนอในช่วงที่พ่อเขียนจดหมายนี้อยู่ โดยในพื้นที่พิเศษนี้จะคล้ายกับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่จีนใช้และประสบความสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง คือ กฎระเบียบเก่า ๆ จะไม่ถูกนำมาใช้ แต่จะเปิดช่องและให้อิสระกับสถาบันการศึกษาในการทดลองโมเดลการศึกษาแบบใหม่ ๆ และการฝึกฝนพัฒนาครูให้กลายเป็นมืออาชีพ และมีระบบวัดประเมินผลครูที่ไม่ต้องเป็น one size fits all ที่มักจะทำลายนวัตกรรมในการเรียนการสอน

ข้อสอง การเรียนรู้ตลอดชีพ แนวคิดต่อทางการศึกษาว่าเป็น “อุตสาหกรรมผลิตปริญญา/บัณฑิต” เพื่อเป็น “สินค้า” เข้าสู่ตลาดคงจะต้องหายไป การเรียนรู้จะกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีพ ที่มีทั้งเรียนในสถาบันการศึกษา ทั้งจากประสบการณ์ทำงาน เพราะรุ่นลูกคนอาจต้องเปลี่ยนอาชีพหลายครั้งในช่วงชีวิตหนึ่งการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่ตัวเองอาจไม่คุ้น (reskilling) จะกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องกลัวต่อความล้มเหลวเมื่อต้องลองสิ่งใหม่ สามารถล้มเร็ว ลุกเร็ว และโตเร็วได้ ทางสิงคโปร์กำลังศึกษาอย่างเข้มข้นว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเขาสามารถปรับตัวเข้ากับโลกแห่งอนาคตได้ (future-ready society) จึงมีโครงการนำร่อง เช่น skills future เพื่อที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพโดยใช้ประโยชน์จาก MOOC

ข้อสาม การศึกษาต้องสามารถบ่มเพาะและพัฒนาทักษะพฤติกรรม ในโลกที่เทคโนโลยีกำลังมาแทนที่คนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ IQ ก็คือ ทักษะพฤติกรรม (noncognitive skills) เช่น EQ หรือทักษะทางอารมณ์ ความสามารถในการเข้าสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเข้าใจผู้อื่น ความวิริยอุตสาหะ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะเด่นของ “มนุษย์” ที่หุ่นยนต์ยังแทนที่ได้ยาก

การศึกษาปฐมวัยคือหัวใจ

อุปสรรคของการเรียนรู้ตลอดชีพที่สำคัญไม่ใช่แค่เรื่องของการขาดทักษะและความรู้พื้นฐาน แต่เป็นเรื่องของ mindset หรือวิถีความคิดของเราด้วย เช่น การขาดแรงกระตุ้นที่จะอยากเรียนรู้ ความที่ไม่อยากทิ้งสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ไม่อยากรื้อจุดอ่อน หรือไม่อยากเริ่มใหม่จากศูนย์

สิ่งหนึ่งที่พ่อได้เห็นมาจากการทำงานกับอาจารย์ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่พ่อนับถือเกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้ก็คือ ความกระหายในความรู้ ความกระตือรือร้นในการหาคำตอบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และความไม่มีทิฐิถือตัวของอาจารย์ ที่ทำให้เป็นผู้ฟังที่ดี สามารถพัฒนาตนเองได้ตลอด แม้ว่าท่านจะเป็นถึงระดับปรมาจารย์แล้วก็ตาม

คำถาม คือ จะทำอย่างไรให้การศึกษาในอนาคตสามารถเพาะเมล็ดแห่งอุปนิสัยการเรียนรู้เหล่านี้ได้ด้วย

ทั้งนี้ เคล็ดลับของการเรียนรู้ในช่วงหลังของชีวิตอาจถูกซ่อนอยู่ในการศึกษาในช่วงก้าวแรกของชีวิต งานทางวิชาการหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การลงทุนด้านการศึกษาช่วงปฐมวัย (early childhood education) ให้ผลตอบแทนที่สูงมากต่อทั้งตัวผู้เรียนและผลพลอยได้ต่อสังคม

ที่น่าสนใจก็คือ ผลที่ได้นั้นไม่ใช่แค่ในเรื่องของการพัฒนาทักษะสติปัญญาเท่านั้น แต่ยังมีผลดีในระยะยาวที่เกิดขึ้นกับทักษะพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ตลอดชีพด้วย เช่น ความใฝ่อยากเรียนรู้ ความวิริยอุตสาหะ มองโลกเป็น ลดทิฐิตัวเองได้ โดยการศึกษาช่วงปฐมวัยที่ดีอาจไม่ใช่การจับลูกหลานไปเรียนเลขกวดวิชาแต่เด็ก แต่อาจเป็นการเรียนแบบ play based ที่เน้นการพัฒนาความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ของเด็ก ส่งเสริม EQ และทักษะทางสังคม เป็นต้น

10 ไอเดียแห่งอนาคตนี้ มีทั้งความเสี่ยงที่ต้องระวัง โอกาสที่น่าตื่นเต้น และเป็นแรงบันดาลใจให้พ่อเตรียมลูกให้พร้อมกับอนาคตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่จากวันนี้ จนถึงวันที่ลูกอ่านจดหมายที่พ่อเขียน ยังมีอีกหลายอย่างที่คนรุ่นพ่อยังทำได้เพื่อช่วยกันปั้นคนรุ่นลูกให้กลายเป็นอนาคตของประเทศ ในฉบับสุดท้ายเราจะมาคุยกันว่า 10 ไอเดียนี้บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของประเทศสำหรับเตรียมพร้อมสู่อนาคต

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (14) ยุคของอเมริกาเสื่อมลงแล้ว ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือยัง ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (15) “หยวน” ขึ้นบัลลังก์แทน “ดอลลาร์” ได้หรือไม่ ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคเงินดิจิทัล

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (17) ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคเงิน Cryptocurrency

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (18) ยุคแห่ง Data กับโลกาภิวัตน์โฉมใหม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (19) เปิดประตูยุคแห่งการล่า Data

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (20) เปลี่ยนขั้วอำนาจในยุค Data

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (21) เมื่อรัฐเริ่มล่ายักษ์…(แห่งเทคโนโลยี)

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (22) หรือรัฐจะคุม Data เสียเอง

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (23) คุมหรือปล่อย ถอดรหัสการกำกับฟินเทคของสิงคโปร์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (24) คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ และ “กับดัก” แห่งยุคดิจิทัล

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (25) รวม 10 ไอเดียเตรียมสู่อนาคต