จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

เราคุยกันมาหลายฉบับแล้ว เรื่องการศึกษา ทั้งการศึกษาช่วงปฐมวัย มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต และการเรียนรู้ตลอดชีพ แต่ความท้าทายที่แท้จริงข้อหนึ่งของการศึกษาก็คือ การเข้าสู่การศึกษาของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล และคนที่จำเป็นต้องได้รับการศึกษามากที่สุดมักจะอยู่ไกลจากประตูแห่งการศึกษามากที่สุดด้วย

ในช่วงที่พ่อเขียนจดหมายนี้อยู่การวัดผลด้านการศึกษาระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับและมีความนิยมสูงก็คือการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติหรือ Program for International Student Assessment ที่เรียกย่อ ๆ ว่า PISA ของ OECD และการประเมินผลของ PISA ครั้งล่าสุด ก็ได้สร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเราพอสมควร

เพราะนอกจากผลคะแนนของนักเรียนในประเทศไทยจะต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศOECDแล้วยังมีแนวโน้มลดลงจากเมื่อการทดสอบคราวที่แล้วในปี 2555 ทุกวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน อีกทั้งยังแพ้ให้กับเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านเราอีกด้วย

แต่สิ่งที่พ่อคิดว่าสำคัญยิ่งกว่าเรื่องผลการสอบ PISA ครั้งนี้ก็คือ ผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกที่พบว่า ผลการสอบครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาอย่างชัดเจน ระหว่างนักเรียนในกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง กับกลุ่มที่ฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า และยังมีแนวโน้มว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้จะยิ่งแย่ลงอีกด้วย

ซึ่งผลการศึกษาชิ้นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะการศึกษาควรจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างโอกาสให้กับผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าหากระบบการศึกษาในปัจจุบันกลับตอกย้ำปมความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ยิ่งจะทำให้ความไม่เท่าเทียมทางรายได้และความมั่งคั่งแย่ลงไปอีก และจะทำให้ปัญหาทางสังคมยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นในอนาคต

การศึกษาคือ “ตั๋ว” ขึ้นรถไฟที่ชื่อ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม”

ในวันนี้สิ่งที่พ่อกังวลที่สุด คือการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้น จะมีผลกระทบกับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษามากที่สุด เพราะงานที่ “หุ่นยนต์” สามารถทำแทนคนได้ง่ายที่สุดและเริ่มเกิดขึ้นแล้ว คือ งานประเภทที่ทำซ้ำ ๆ (Repetitive Task) และใช้ทักษะไม่สูงนัก เช่น คนขับรถ และพนักงานโรงงาน

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหลายต่อหลายรอบในประวัติศาสตร์มนุษย์แสดงให้เห็นว่าแม้”งานของคน”จะไม่ได้สูญสลายหายไปอย่างที่หลายคนเคยหวาดกลัวกัน แต่สิ่งที่ปฏิเสธได้ยากคือ มีกลุ่มคนที่ถูก “ทิ้งไว้ที่ชานชาลา” ไม่ได้ขึ้นขบวนรถไฟที่ชื่อว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ไม่ว่ารถไฟจะผ่านไปกี่ขบวนแล้วก็ตาม

ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้ขึ้นไม่ทัน แต่ขึ้นไม่ได้เพราะไม่มี “ตั๋ว” คือการศึกษาที่เสริมทักษะให้ตามโลกทัน สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ ไม่ว่าจะด้วยการทำงานร่วมกันกับเครื่องจักร คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ หรือการเปลี่ยนงานใหม่ก็ตาม

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในอดีต คือ กรณีของการเคลื่อนไหวทางมัธยมศึกษา หรือ High School Movement ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1910-1940 ที่จำนวนโรงเรียนมัธยมของอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนเด็กอเมริกันที่ได้รับการศึกษาระดับมัธยมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากที่มีเด็กวัยรุ่นจบมัธยมไม่ถึง 10% ในปี 1910 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50% ในปี 1940 ซึ่งการเรียนมัธยมในช่วงนั้นเป็นการเรียนเพื่อให้ได้ทักษะไปใช้งานจริง มากกว่าเรียนเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ดังนั้น High School Movement จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยสร้างคนอเมริกันที่อาจกำลังจะ “ตกขบวนรถไฟ” ให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงานขณะนั้นที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความต้องการคนที่มีทักษะสูงขึ้น และเป็นสาเหตุที่มีส่วนในการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐอเมริกาในยุคต่อมา

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพอมาถึงช่วงค.ศ.1980 ลมส่งจาก High School เริ่มหมดแรง การขยายตัวของผู้มีการศึกษาในอเมริกาได้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้น้อย และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสหรัฐแย่ลง และเมื่อจำนวนผู้ถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลาเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็ก่อตัวขึ้น กดปุ่มเดินหน้ามาถึงปี 2016 คนอเมริกันก็ช็อกโลก และคนอเมริกันด้วยกันเอง ด้วยการเลือก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สัญญาว่าจะมา “ล้มโต๊ะ” กระแสโลกาภิวัตน์ มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (ไว้วันหลังพ่อจะมาเล่าเรื่องนั้นให้ฟังอีกที)


สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านในรุ่นพ่อกำลังคาดหวังและตั้งคำถามกันก็คือว่าการปฏิวัติการศึกษาด้วยMassiveOpen Online Course (MOOC) จะมาช่วยสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนที่กำลังจะถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลาและตกขบวนรถไฟการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่เสมือนกับที่HighSchool Movement เคยมีส่วนช่วยสหรัฐในอดีตได้หรือไม่ แต่ในความเห็นของพ่อแล้ว โจทย์นี้จะยากกว่าที่หลาย ๆ คนคิดกันไว้ทีเดียว