โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]
ถึงลูกพ่อ
ลูกอาจจะจำได้ลาง ๆ ว่าตอนเป็นเด็กได้ฟังพ่อเล่นกีตาร์อยู่บ่อย ๆ มาถึงวันนี้ พ่อหวังว่าลูกจะยังชอบดนตรีและอาจเล่นได้สักชิ้นสองชิ้น จะได้มาเล่นเป็นวงกันได้
ดนตรีก็เป็นวงการที่พบกับ Disruption อย่างมหาศาลวงการหนึ่งเช่นกัน ลูกเชื่อหรือไม่ว่าสมัยก่อนตอนเด็ก ๆ พ่อจะฟังเพลงทีก็ต้องไปซื้อที่ร้านขาย “เทปเพลง” ซึ่งแต่ละม้วนเทปจะมีเพลงรวมกันอยู่ประมาณ 10 กว่าเพลง เรียกว่าเป็นหนึ่ง “อัลบั้ม”
เพลงในเทปเป็นอย่างไร บางร้านก็ให้เราลองฟัง แต่บางร้านก็ไม่ให้ ต้องถามคนขายดูว่าเราชอบวงแบบนี้เพลงแบบนี้ ช่วยหาแนวคล้าย ๆ กันให้หน่อย หากชอบแค่เพลงสองเพลงที่มีอยู่ในอัลบั้มนั้นก็ช่วยไม่ได้ ต้องซื้อเหมาทั้งอัลบั้ม เพลงที่ไม่ชอบฟัง พอได้ฟัง ๆ ไปก็อาจจะพอชอบไปเอง
มาวันที่พ่อเขียนจดหมายนี้ วงการนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อัลบั้มถูกแบ่งแยกขาย คนฟังเพลงสามารถซื้อได้เป็นเพลง ๆ ไป สามารถลองฟังก่อนได้ตามใจชอบ หรือสามารถสมัครเป็นสมาชิกกับ “ร้านออนไลน์” แล้วสั่งกี่เพลงจากกี่ศิลปินกี่อัลบั้มก็ได้
เทคโนโลยีในสมัยลูกคงเปลี่ยนวงการนี้ไปอีกจนพ่อเองก็ยิ่งคาดเดาไม่ถูก
ที่พ่อพูดถึงวงการดนตรีก็เพราะพ่อคิดว่าวงการมหาวิทยาลัยในวันที่พ่อเขียนจดหมายนี้อาจจะเหมือนกับวงการดนตรีเมื่อ20กว่าปีก่อนนั้นเหมือนที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกนคนหนึ่งเคยพูดไว้อย่างน่าสนใจว่าปริญญาใบหนึ่งก็เหมือนกับเพลงหนึ่งอัลบั้มจะลองลงเรียนก่อนบางวิชาเพื่อตัดสินใจว่าจะเข้าเรียนคณะนี้หรือเปล่าก็ไม่ได้ หากสนใจเรียนเป็นบางวิชาเท่านั้น แต่ไม่เห็นว่าบางวิชามีประโยชน์ ก็เลือกเรียนตามที่ตัวเองสนใจไม่ได้ เสมือนที่ต้องซื้อเทปทั้งอัลบั้มเลือกเป็นเสียงเพลงไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงที่พ่อเห็นในโลกของดนตรีอาจจะเกิดขึ้นกับวงการการศึกษาจากนี้เป็นต้นไปก็เป็นได้โดยแต่ละคณะและวิชาอาจถูกซอยย่อยลงไปให้เราเลือกวิชาย่อยๆมาผสมผสานกันอย่างมีความยืดหยุ่นสูงสามารถสร้างปริญญาให้เหมาะกับสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการได้เสมอเหมือนกับที่สามารถเลือกเพลงที่ชอบมารวมกัน ไม่ต้องซื้อทั้งอัลบั้มที่อาจมีเพลงที่เราไม่ชอบและไม่สนใจจะฟัง
ในวันนี้การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้เริ่มมีเกิดขึ้นบ้างแล้วเพราะการเรียนออนไลน์ในรูปแบบMOOCที่นักเรียนสามารถเข้าเรียนหลายวิชาได้”ฟรี”และผสมผสานวิชาย่อยๆจนกลายเป็นหลักสูตรใหม่ โดยทางองค์กรที่ผลิตคอร์สเรียนออนไลน์พวกนี้จะคุยกับนายจ้างต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ว่าต้องการแรงงานแบบไหน มีทักษะอะไรบ้าง เพื่อจะได้ปรับปรุงหลักสูตรให้ได้ถูกต้องและรวดเร็ว
แล้วรั้วมหาวิทยาลัย
มีไว้เพื่ออะไร?
ในความเห็นของพ่อตรงนี้ไม่ได้แปลว่า”มหาวิทยาลัย”หรือสถานที่ที่เด็กนักเรียนอาจารย์ไปอยู่รวมกันจะหมดความหมายไปเลย เพียงแต่ประสบการณ์การไปเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ต้องถูกปรับให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป
ข้อแรก ถ้าเปรียบเทียบกับโลกดนตรี การไปมหาวิทยาลัยต้องเป็นเสมือนการไปดู “คอนเสิร์ต” ที่ได้บรรยากาศและได้อารมณ์ที่การฟังเพลงที่บ้านไม่สามารถให้ได้ ความสนุกของการไปดูคอนเสิร์ตอย่างหนึ่ง ก็คือบรรยากาศในการได้พบปะกับคนที่ชอบเพลงแบบเดียวกัน และบางครั้งสามารถโต้ตอบกับนักร้องนักดนตรีที่อยู่บนเวทีได้ การมาเรียนในมหาวิทยาลัยก็จะต้องมีจุดดึงดูดตรงที่ทำให้เราได้พบปะกับเพื่อนฝูงที่สนใจเรียนรู้ในวิชาเดียวกันมีความสงสัยอยากรู้อยากเห็นในเรื่องคล้ายๆกันและสามารถซักถามโต้ตอบกับอาจารย์ได้ในห้องเรียน
ข้อสองการเรียนในมหาวิทยาลัยอาจจะต้องคล้ายกับการเรียนดนตรีหรือกีฬามากขึ้นคือครูต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น “โค้ช” และห้องเรียนต้องกลายเป็น “ห้องซ้อม” นี่คือรูปแบบที่บางโรงเรียนได้เริ่มใช้แล้ว โดยจับมือกับ Khan Academy ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และคอร์สออนไลน์เพื่อการศึกษา โดยเด็กนักเรียนจะฟังเล็กเชอร์จากวิดีโอมาจากที่บ้าน แล้วจึงมาทำแบบฝึกหัดออนไลน์ที่โรงเรียนด้วยกัน
โดยแบบฝึกหัดเหล่านี้จะเก็บข้อมูลของนักเรียนไปด้วยว่าใครถนัดหัวข้อไหนติดที่ปัญหาแบบใดและคอยปรับแบบฝึกหัดให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน
เช่นเด็กบางคนเก่งทางด้านการแก้สมการก็จะได้ทำระดับสูงขึ้นเรื่อยๆนำคนอื่นไปแต่หากอ่อนเรขาคณิตก็จะมีสัญญาณบอกอาจารย์ให้มาช่วย “โค้ช” สอนตรงที่ติดขัดสงสัย เหมือนเวลาเข้าเรียนเครื่องดนตรีแล้วอาจารย์จะมาช่วยตรงช่วงไหนของเพลงที่เราเล่นติดไปต่อไม่ได้นั่นเอง
ส่วนข้อมูลของเด็กคนนั้นว่าถนัดด้านไหนอ่อนตรงไหนก็สามารถเก็บไว้ติดตัวเมื่อย้ายไปโรงเรียนอื่นเพื่อให้การศึกษามีความต่อเนื่องและให้”โค้ช”คนอื่นมารับช่วงต่อไปได้
อะไรคือขุมทรัพย์ของมหาวิทยาลัย
ข้อสุดท้ายการมาที่มหาวิทยาลัย ก็เพื่อให้ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนที่มาจากหลายแห่งหลายที่ มีความคิดเห็นแตกต่าง แต่อาจมีความสนใจในเรื่องคล้าย ๆ กัน พ่อยังจำได้ไม่ลืมถึงงานรับปริญญาตอนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่สหรัฐอเมริกา มีเพื่อนสนิทของพ่อคนหนึ่งเป็นตัวแทนนักเรียนไปพูดบนเวที แล้วเขาบอกว่า “ผมเคยนึกถามตัวเองมาตลอดว่าอะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งได้มาช้านาน ครูที่เป็นระดับปรมาจารย์ในแต่ละสาขาวิชางั้นหรือ ? คอร์สที่มหาวิทยาลัยอื่นไม่สอนหรือ ? หรือว่าจะเป็นชื่อเสียงที่ทำให้เรียนจบมาแล้วหางานง่าย ? แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของการมาเรียนที่นี่ คือการได้รู้จักนักเรียนทุกคนที่นี่ที่มาจากทั่วโลก เต็มไปด้วยความฝันและไฟแรง แตกต่างหลากหลายน่าสนใจและช่วยกระตุ้นให้เราคิดตลอดเวลา นี่แหละคือขุมทรัพย์ที่แท้จริงของที่นี่” พ่อเห็นด้วยและไม่เคยลืมที่เพื่อนเขาพูดในวันนั้นเลยจนวันนี้
เอาล่ะ อ่านจบตอนนี้แล้วพ่อว่าเราไปเริ่มสมัครเรียนมหาวิทยาลัยกันไหม ?