จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

 

ถึงลูกพ่อ

ในตอนที่แล้วพ่อพูดถึงความสำคัญของการศึกษาช่วงปฐมวัยที่จะมาช่วยตอบโจทย์ด้านการพัฒนาคนไม่ให้ต้องตกขบวนถูก”หุ่นยนต์”แทนที่และการศึกษาช่วงปฐมวัยนอกจากจะมีความสำคัญมากขึ้นแล้วพ่อเชื่อว่าขณะที่ลูกอ่านจดหมายนี้อยู่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็คงจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่พ่อรู้จักอย่างสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน

ในสมัยที่พ่อยังเป็นนักเรียนคนส่วนมากมองมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่นักเรียนต้องพยายามไปให้ถึงและเรียนจบออกมาให้ได้การเรียนช่วงก่อนมหาวิทยาลัยมีไว้เพื่อการเตรียมตัวปูทางให้ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ

ยิ่งผ่านไปได้เร็วข้ามชั้นได้ยิ่งดี จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น ได้ใบปริญญามาประดับกาย และการศึกษาเรียนรู้ก็จบอยู่ในวันได้รับปริญญาเป็น “บัณฑิต” เตรียมตัวเข้าสู่ “โลกแห่งความเป็นจริง” แห่งการทำงาน

หากมีความสนใจอยากได้ปริญญาโทเพิ่ม เพราะอาจมีงานหลายแห่งที่ให้คุณค่ากับการมีปริญญาโท เช่น MBA จากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ คนส่วนใหญ่ก็จะใช้สูตรเดิม คือ เข้าเรียนและคว้าปริญญาโทให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้กลับมาเริ่มทำงาน สู่โลกแห่งความเป็นจริงได้เร็วทันใจ แต่ไม่ว่าจะจบที่ปริญญาใบที่เท่าไหร่ การศึกษาเรียนรู้ดูจะเป็นเรื่องของในรั้วมหาวิทยาลัย และจบลงเมื่อเราได้ใบปริญญา

ความต้องการ
การศึกษาเปลี่ยนไป

ที่พ่อว่ามันแปลกก็คือ”สูตรสำเร็จ”นี้กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการสร้างงานให้คนและสร้างคนให้เศรษฐกิจเราสักเท่าไหร่แม้ว่าประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานในทักษะทุกระดับแต่เด็กจบปริญญาตรีกลับตกงานเกือบสองแสนคนในปีที่ผ่านมาและผู้ที่ได้งานก็มีไม่น้อยที่ได้ทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่ตัวเองจบมา

สถาบันวิจัย TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า มีเพียงแค่ 1 ใน 4 ของเด็กที่จบอาชีวะและปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำงานตรงกับสาขาที่ตัวเองเรียนมา ในขณะที่สถาบันอนาคตศึกษาเคยค้นพบว่า 40% ของเด็กที่เรียนจบปริญญาตรีได้งานเสมียนและพนักงานขายของ และทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยนั้นแพงขึ้น จน 2 ใน 3 ของครัวเรือนที่มีลูกนั้น ไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย แม้จะกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้วก็ตาม

และคำถามต่อไปก็คือ หากระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของไทยยังไม่สามารถสร้างคนให้ทันโลกในยุคที่การแข่งขันระหว่าง “คน” กับ “หุ่นยนต์” ยังอยู่แค่ในขั้น “ลองเชิง” แล้ว เมื่อเทคโนโลยีก้าวกระโดดจนหลายงานถูกแทนที่โดยปัญญาประดิษฐ์ได้จริงอย่างที่รายงานการศึกษาหลายชิ้นชี้ออกมาวันนั้นการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของไทยจะไม่ยิ่ง”สอบตก”เช่นนั้นหรือ

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น ความต้องการแรงงานก็ยิ่งจะต้องปรับตัวตามอย่างมหาศาลเช่นกัน แล้วอุตสาหกรรมที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์มาช้านานอย่างมหาวิทยาลัย จะไม่โดนแรงกดดันให้ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงได้อย่างไร ? ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในระดับโลก

ปัจจัยทางเทคโนโลยีผลักดัน

นอกจากปัจจัยด้านความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปแล้วยังมีปัจจัยด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันมาบีบบังคับให้วงการมหาวิทยาลัยทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลงอีก

ลูกเชื่อหรือเปล่าว่าในสมัยที่พ่อเป็นนักเรียนการเรียนคือการเข้าห้องฟังเล็กเชอร์จากอาจารย์ใช้ปากกาเขียนจดและจะมีแบบฝึกหัดหรือการบ้านให้ไปทำที่บ้านมาส่ง อาจารย์จะรู้ถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียนก็จากการบ้านและการสอบของแต่ละวิชาเมื่อจบเทอม หากอาจารย์คนไหนสอนไม่รู้เรื่อง นักเรียนก็จะเลิกไปฟังเล็กเชอร์ แล้วอ่านหนังสือเอาเอง หรือในยุคที่มีกูเกิลก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเอง หรือหาเล็กเชอร์ที่เข้าใจง่ายกว่าจาก YouTube

ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน พ่อจึงเคยตั้งคำถามว่า แล้วเรามาเรียนมหาวิทยาลัยทำไม ถ้าเราสามารถหาข้อมูลการเรียนต่าง ๆ ได้อย่างง่ายขึ้นเรื่อย ๆ จะฟังจากอาจารย์ในห้องหรือจากวิดีโอออนไลน์ก็ไม่ต่างกันมาก บางครั้งถามอาจารย์กูเกิลจะดีกว่าถามอาจารย์ด้วยซ้ำ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสิ่งที่เรียกว่า Massive Online Open Course หรือ MOOC (ซึ่งพ่อเชื่อว่าในยุคของลูกคงเป็นของแสนธรรมดา) เช่น Coursera edx
Udacity ที่เข้ามาตอบโจทย์ทางการศึกษาตรงนี้ โดยทำให้เราสามารถเข้าไปเรียนออนไลน์ได้ฟรีหรือในราคาต่ำ พร้อมกับมีความยืดหยุ่นสูง แต่ละคอร์สมีการซอยย่อย ๆ ให้ทยอยเรียนได้ตามที่เราสะดวก จนปัจจุบันมีนักเรียนลงทะเบียนเรียน MOOC นี้แล้วเกือบ 60 ล้านคน จนหลายคนเริ่มสงสัยว่า นี่จะเป็น จุดล่มสลาย ของระบบมหาวิทยาลัยหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่า MOOC จะเข้ามาแทนที่การเรียนในมหาวิทยาลัยไปเลย

ส่วนตัวพ่อมองว่า “มหาวิทยาลัย” คงจะไม่ถึงกับสูญพันธุ์ แต่คงจะมีวิวัฒนาการอย่างมหาศาลเพื่อให้อยู่รอด แต่จะวิวัฒนาการไปทางไหน อย่างไร พ่อก็อยากรู้เหมือนกันว่าที่มีการทำนายกันไว้ จะถูกหรือเปล่า ลองมาคุยกันต่อฉบับหน้า