จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

 

ถึงลูกชายของพ่อ วันที่ลูกได้อ่านจดหมายนี้ พ่อคิดว่าโลกคงเปลี่ยนไปมาก จนไม่รู้ว่าลูกจะรู้จักหรือเปล่าว่าจดหมาย คืออะไร ? และไปรษณีย์คืออะไร ? แต่ในวันนี้พ่ออยากเขียนถึงลูกในรูปแบบเก่า ๆ ที่พ่อคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ขณะที่เขียนจดหมายนี้ พ่อกำลังทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศแห่งหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ มีหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุนในเขตเศรษฐกิจเอเชียทั้งหมด 10 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

งานของพ่อนอกจากการวิเคราะห์เศรษฐกิจแล้ว ยังต้องคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อการลงทุนด้วย แต่พอยิ่งวาดภาพอนาคต พ่อก็ยิ่งอดหันกลับมาถามตัวเองไม่ได้ ว่าเราควรจะลงทุนอย่างไรกับการศึกษาเพื่ออนาคตลูก ซึ่งเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้ และยิ่งต้องใคร่ครวญให้หนักก็คือ โลกอนาคตที่ว่าเป็นโลกอนาคตที่ถูกปฏิวัติด้วยเทคโนโลยี

ในความเป็นจริงก็คือ เรายังรู้อะไรน้อยมากเกี่ยวกับโลกอนาคต เพราะปัจจุบันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่” โดยการปฏิวัติด้านอุตสาหกรรมครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติ หลายเทคโนโลยี และครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

ธีมหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือบทบาทและหน้าที่ของ “คน” ในระบบเศรษฐกิจจะถูก “เขย่า” ให้เปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล หลาย “อาชีพ” ที่พ่อคุ้นเคยอยู่ในวันนี้ คงจะหายไป การใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์มาแทนที่คนในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีมานานแล้ว แต่กระแสนี้กำลังจะมาแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถเรียนรู้ผ่าน Machine Learning ขั้นสูงได้ ขนาดชนะแชมป์โลกหมากล้อมของคนได้

Advertisment

การศึกษาต่าง ๆ ที่ออกมาก็ทำนายอนาคตที่น่าเป็นห่วง เช่น รายงานเรื่อง Future of Jobs ของ World Economic Forum ทำนายว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยีรอบนี้ จะมีผลอย่างรวดเร็วทำให้คน 5 ล้านคนอาจต้องออกจากงานภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ ไม่มียกเว้น พ่อเองก็เคยเขียนหลายบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้ว

แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง…ไม่ใช่ว่างานของคนจะสูญพันธุ์

Advertisment

ลูกรักลูกรู้หรือไม่ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกแต่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สี่แล้วและทุกครั้งจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาบอกว่าจะมีคนตกงานมากมายมหาศาลเหมือนคราวนี้ไม่มีผิดแต่สุดท้ายแล้วแม้จะมีคนที่ตกงานจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่จริงแท้แน่นอนแต่ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับผลการศึกษาส่วนใหญ่ที่บ่งชี้ออกมาและไม่ได้ทำให้งานของคน”สูญพันธุ์”

เพียงแต่หน้าที่ของคนได้เปลี่ยนไป ทำให้บางอาชีพหายไป บางอาชีพก็เกิดขึ้นใหม่มาแทนที่ ส่วนใหญ่ที่คนมักทำนายว่าคนจะตกงานกันหมด ก็เพราะมันง่ายที่เราจะนึกภาพว่าอาชีพไหนสามารถถูกหุ่นยนต์แทนที่ได้ แต่มันยากนักที่จะนึกถึงภาพอาชีพที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน

เมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว พ่อก็ไม่เคยคิดว่าจะมีอาชีพผู้จัดการออนไลน์โซเชียลมีเดีย, คนเขียนเกมออนไลน์สำหรับมือถือ, คนขับอูเบอร์ หรือแม้แต่คนรับจ้างจับโปเกมอน อย่างที่มีอยู่ทุกวันนี้

พ่อคิดว่าสิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อให้ตามทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาและงานวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งประสบการณ์ของพ่อเองที่อยู่ในวงการที่ถูก “ดิสรัปต์” (Disrupt) มหาศาล อย่างวงการการเงิน พ่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าการจะอยู่รอดในโลกใหม่นี้ คนเราน่าจะต้องมีสามคุณลักษณะหรือทักษะที่สำคัญ

ข้อแรก คือเราต้องมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า STEM ที่เข้มแข็ง แม้ว่าต่อไปเราอาจจะไม่ได้อยากเรียนทางนี้ก็ตามที แต่ความรู้และหลักคิดที่ได้จากวิชาเหล่านี้จะเป็น “หัวใจ” ที่ทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในยุคของหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น

มีคำพูดของอาจารย์ MIT ท่านหนึ่ง ที่พ่อคิดว่าพูดไว้ได้น่าสนใจ คือ ทางรอดของคนเราคือ “อย่าไปแข่งกับหุ่นยนต์ แต่จงร่วมกันกับหุ่นยนต์” แล้วจะก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม เหมือนในตัวอย่างของ หมากรุก ที่แชมป์โลกของฝั่งมนุษย์พ่ายแพ้เป็นครั้งแรกให้กับหุ่นยนต์ Deep Blue ของ IBM ตั้งแต่ปี 1997 ต่อมาแชมป์โลกคนนั้นเองได้คิดค้น เกม Cyborg Chess หรือการที่ให้มนุษย์จับมือกับหุ่นยนต์เป็นทีมมาแข่งกับคู่อื่น โดยสิ่งที่เขาค้นพบก็คือ เมื่อมนุษย์กับหุ่นยนต์ร่วมมือกันแล้วก็จะสามารถเอาชนะหุ่นยนต์อย่างเดียวได้อย่างง่ายดาย

ข้อสองที่มีความสำคัญไม่แพ้กันหรืออาจจะสำคัญยิ่งกว่าคือทักษะพฤติกรรมหรือNon-CognitiveSkillsซึ่งเป็นทักษะอื่นๆที่ไม่รวมอยู่ในการวัดIQ หรือสติปัญญา เช่น EQ หรือทักษะทางอารมณ์ ทักษะในการเข้าสังคม ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในการเข้าใจผู้อื่น ความวิริยะอุตสาหะ และการมองโลกในแง่บวก ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะเด่นของ “มนุษย์” ที่หุ่นยนต์ยังไม่มี

ยิ่งในยุคที่หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงมาก ทักษะพฤติกรรมที่โดดเด่นของมนุษย์ที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถเลียนแบบหรือทำแทนได้ง่าย ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น นี่เองจึงเป็นสาเหตุทำให้ผลการศึกษาต่าง ๆ มักจะสรุปว่า งานที่ต้องใช้ EQ สูง เช่น งานของจิตแพทย์ พยาบาล อาจารย์ หรือฟิตเนสเทรนเนอร์ มักจะมีโอกาสถูกหุ่นยนต์แย่งทำแทนได้ยาก

ลูกรู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของประเทศไทยเราแต่เดิมมีการบ่มเพาะอุปนิสัยและทักษะพฤติกรรมนี้หลายข้อที่จะกลายมาเป็น”จุดแข็ง”ของเราได้ในยุคใหม่เช่นความมีน้ำใจความกตัญญูและอิทธิบาทสี่ที่มีเรื่องของ “ความวิริยะอุตสาหะ” หรือ Grit ที่ทางตะวันตกกำลังมองว่าเป็น “หัวใจสำคัญ” สู่ความสำเร็จในชีวิตของคน เมื่อเรามีมรดกตกทอดที่ดีตรงนี้อยู่แล้ว พ่อคิดว่าเรายิ่งควรจะรักษาไว้ให้ดี

ส่วนข้อสุดท้ายที่เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับข้อสอง คือ การเตรียมความพร้อมสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ในอนาคตการแพทย์ที่พัฒนาไปไกลจะทำให้เรามีอายุยืนยาวขึ้นแต่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรวดเร็วและบ่อยครั้งอาจทำให้อายุการทำงานของเราในแต่ละแห่งสั้นลง

ข่าวร้ายของคนในยุคลูกก็คือการที่ลูกอาจต้องเปลี่ยนอาชีพหลายครั้งในชีวิตแม้จะประสบความสำเร็จได้ดีอยู่ในแต่ละอาชีพนั้นๆก็ตามลูกอาจต้องกลับไปเรียนหนังสือใหม่เพื่อนำทักษะใหม่ๆมาใช้ประกอบอาชีพใหม่อีกหลายรอบ