วัคซีนโควิด-19 การพัฒนายาเพื่อรักษา

คอลัมน์ Healthy aging

โดย ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมได้เขียนหนังสือที่หาอ่านจากเว็บไซต์ของเกียรตินาคินภัทรได้ (หนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มก็แจกให้ฟรีด้วย) ซึ่ง ณ ปลายเดือนมีนาคม พบว่ากำลังมีการทดลองเพื่อพัฒนายาเพื่อบำบัด หรือวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 (ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เข้าไป “สิง” ในเซลล์ของมนุษย์) รวมทั้งสิ้น 60 ตำรับ มาวันนี้ livescience.com รวบรวมข้อมูลและพบว่า มีการดำเนินการทดลองเพื่อพัฒนายา/วัคซีน รวมทั้งสิ้น 86 ตำรับ ซึ่งมาวันนี้ผมจะขอสรุปความคืบหน้าที่มีทั้งข่าวดีและข่าวไม่ค่อยจะดี ดังนี้

1.Remdesivir : เป็นยาที่ทั้งองค์การอนามัยโลกและประเทศสหรัฐคาดหวังอย่างมากว่าจะเป็นยาบำบัดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยได้เริ่มการทำการทดลองกับมนุษย์ในขั้นที่ 1 (phase I human clinical trial) ไปแล้ว และเพิ่งได้ผลในเบื้องต้น ดังนี้

– จากจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก (จนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ) ทั้งหมด 53 คน และได้รับยา Remdesivir ติดต่อกัน 10 วัน พบว่าหลังจาก 18 วัน 68% ของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ทำให้ 17 คน จาก 30 คนที่ก่อนหน้านี้ต้องใช้เครื่องช่วยการหายใจ สามารถหายใจด้วยตัวเองได้

– ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยหายป่วยและสามารถกลับบ้านได้ แต่มีผู้ป่วยเสียชีวิต 13%

– ผู้ป่วยที่ประสบกับผลกระทบข้างเคียงจากยา Remdesivir มีมากถึง 25% เช่น การทำงานผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ (ไม่ได้ระบุว่าอวัยวะใดบ้าง) ความเสียหายอย่างรุนแรงต่อไต (acute kidney injury) ความเสียหายต่อตับและการลดลงของความดันโลหิต มีผู้ป่วย 4 คน (คิดเป็น 7% ของผู้ป่วยทั้งหมด) ที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงที่รุนแรง จนจำเป็นต้องยุติการให้ยา Remdesivir

นอกจากนั้น ยา Remdesivir ยังเป็นยาที่ต้องให้ผ่านเส้นเลือด ดังนั้นจึงไม่ใช่ยาที่ผู้ป่วยจะนำไปใช้ด้วยตัวเองได้โดยง่าย และ Remdesivir ปัจจุบันก็ยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่ผู้ผลิตคือบริษัท Gilead คาดว่าจะสามารถผลิตได้เพียงพอที่จะให้ใช้กับผู้ป่วยได้ 1 ล้านคนภายในปลายปีนี้

2.Hydroxychloroquine และ Chloroquine : ยา 2 ตำรับนี้เป็นยาที่ประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาโควิด-19 ได้ และจะเป็น game changer ในการสยบโควิด-19 แต่คำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นจะต้องฟังหูไว้หู เพราะเป็นยาที่ยังไม่ได้มีการทดลองตามเกณฑ์ทางวิชาการว่า สามารถบำบัดโควิด-19 ได้หรือไม่ และจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีสำนักงานอาหารและยาของประเทศใดอนุมัติยาตำรับใดเลยว่าสามารถบำบัดโควิด-19 ได้

แต่คำโฆษณาของประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้ยาทั้ง 2 ประเภทขาดตลาดอย่างมาก และผู้ที่ต้องใช้ยาทั้ง 2 ขนานได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ทั้งนี้ Chloroquine นั้นเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียมานานกว่า 70 ปีแล้ว ส่วน Hydroxychloroquine ที่เป็นยาที่มีอานุภาพรุนแรงน้อยกว่า (และปลอดภัยกว่า Chloroquine) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรค Lupus ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เข้าไปโจมตีเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย ทำให้เกิดอาการป่วย เช่น ข้ออักเสบ ผมร่วง แผลในปาก หรือต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

กล่าวคือยาทั้ง 2 ขนานนี้อาจช่วยในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานเกินความเหมาะสม (ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า cytokine storm หรือการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจนภูมิคุ้มกันเสียสติ) สั่งฆ่าทั้งเซลล์ที่ถูกโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้าสิง และเซลล์ปกติโดยไม่เลือกหน้า ทำให้อวัยวะเสียหาย ดังนั้นเมื่อใช้ยาดังกล่าวก็มักจะต้องจ่ายยาปฏิชีวนะ คือ Azithromycin กับผู้ป่วยพร้อมกันไปด้วย โดยน่าจะทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากแบคทีเรียต่าง ๆ เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 สำนักข่าว CNN รายงานว่า งานวิจัยเพื่อทดลองการใช้ยา Chloroquine ที่ประเทศบราซิล ต้องยุติลงก่อนกำหนด เพราะผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากผลข้างเคียง เมื่อนำยาดังกล่าวไปใช้รักษาผู้ป่วยหนัก 81 คน ที่เป็นโรคโควิด-19 ผลของงานวิจัยนี้กำลังรอการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอิสระ (peer review) ก่อนจะนำลงไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการแต่สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ป่วย 81 คน ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับ Chloroquine ในปริมาณที่สูง (600 mg ต่อครั้ง 2 ครั้งต่อวัน) เป็นเวลา 10 วัน และผู้ป่วยที่ได้รับยาในปริมาณต่ำ (450 mg ต่อวัน แต่วันแรกรับยา 900 mg) เป็นเวลา 5 วัน พร้อมกับยาปฏิชีวนะ Azithromycin แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 วัน ก็ต้องยุติการทดลอง เพราะผู้ป่วยที่ได้รับ Chloroquine ในปริมาณสูง มีผู้เสียชีวิตมากถึง 11 คน และในเวลาต่อมามีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 16 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 41 คน สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับ Chloroquine ในปริมาณน้อยจำนวน 40 คนนั้น ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 6 คน

ในประเทศสวีเดนนั้น โรงพยาบาลได้รับคำสั่งไม่ให้ใช้ยา Hydroxychloroquine หรือ Chloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพราะไม่พบหลักฐานว่าเป็นยาที่รักษาโรคนี้ได้ และมีผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อหัวใจและไต นอกจากนั้น สมาคมที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจของสหรัฐ คือ American Heart Association และ American College of Cardiology and Heart Rhythm Society ได้ประกาศเตือนแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา Hydroxychloroquine กับ Azithromycin (ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์แนะนำ) ว่า แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องพิจารณาถึง “potential serious implications” สำหรับคนใช้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนหน้าแล้ว

3.EIDD-2801 : ยาตำรับนี้เป็นยาใหม่ที่เพิ่งมีการกล่าวถึงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยอ้างงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal Science Translational Medicine ยาตำรับนี้เพิ่งได้รับอนุมัติโดยสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ ให้เริ่มทำการทดลองขั้นแรกกับมนุษย์ได้

และต่อมาก็ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษให้ทำการทดลองขั้นแรกกับมนุษย์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ซึ่งการพัฒนา EIDD-2801 นี้เป็นผลมาจากการร่วมมือระหว่าง 4 สถาบัน คือ บริษัท Ridgeback Biotherapeutics สถาบัน DRIVE (บริษัทไบโอเทคจัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัย Emory) มหาวิทยาลัย North Carolina และมหาวิทยาลัย Vanderbilt ทั้งนี้ EIDD-2801 อาจเป็น “ม้ามืด” ที่สามารถบำบัดโควิด-19 ได้ดีที่สุดก็เป็นได้ เพราะเหตุผล 4 ประการ คือ

-เป็นยาที่เข้าไปรบกวนการแบ่งตัวของไวรัสเมื่อเข้าไปในเซลล์แล้ว โดยทำให้เกิดการแบ่งตัวที่ RNA มีความผิดพลาดสูง จึงทำให้สกัดการขยายตัวของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิผล

-ได้ทำการทดลองกับสัตว์ (ลิง) ที่ติดเชื้อไวรัส SARS และ MERS จนเป็นผลสำเร็จมาเป็นอย่างดีแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นยาที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลกับไวรัสโคโรน่าประเภทต่าง ๆ ได้ทั้งหมด หรือแม้กระทั่งไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้หวัดนก หรือแม้กระทั่ง Ebola

– เป็นยาที่สามารถผลิตออกมาเป็นยาเม็ดได้ ดังนั้นจึงนำไปใช้ได้สะดวกกว่า Remdesivir ที่ต้องให้ผ่านเส้นเลือด

– EIDD-2801 น่าจะมีสรรพคุณเป็นยาป้องกันการติดเชื้อ (prophylactic) ไวรัสหลายประเภทได้อีกด้วย กล่าวคืออาจเป็นทั้งยาเพื่อป้องกันและเพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัส

ดังนั้น นอกจากจะฝากความหวังไว้กับการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 แล้วก็ยังอาจสามารถตั้งความหวัง (เล็ก ๆ)เอาไว้กับ EIDD-2801 ด้วยครับ