คุณจะอายุยืน(และสุขภาพดี) ต่อไปอีกกี่ปี ?

เครดิตภาพ : www.pixabay.com/th
คอลัมน์ Healthy aging
โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2020 Market Watch ตีพิมพ์บทความชื่อ “Here’s how long you’ll live and how much of that will be healthy years” เขียนโดยสำนักวิจัย Goldenson Center for Actuarial Research ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินอายุคาดเฉลี่ยเพื่อทำธุรกิจประกันภัย โดยได้พยายามทำแบบจำลองที่สามารถคาดการณ์อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) และที่สำคัญ คือ healthy life expectancy หรือจำนวนปีที่เหลือของชีวิตที่ยังมีสุขภาพดี ซึ่งพวกเราผู้สูงอายุทุกคนย่อมจะให้ความสำคัญอย่างมาก

ปัจจัยอะไรเป็นตัวกำหนดว่าเราจะตายเมื่อไหร่ และเราจะมีสุขภาพดีต่อไปอีกกี่ปี ? Goldenson บอกว่า มี 3 ปัจจัยหลัก คือ

1.ผู้หญิงจะอายุยืนกว่าผู้ชาย

2.อายุปัจจุบัน

3.การดำเนินชีวิต หรือ lifestyle

แน่นอนว่าเราปรับเปลี่ยนข้อ 1 และข้อ 2 ไม่ได้ แต่ข้อ 3 นั้นมีผลอย่างมาก โดย Goldenson ยกตัวอย่างว่า ผู้ชายที่ปัจจุบันอายุ 60 ปี มีสุขภาพดีและมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ คือ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี (healthy BMI) และนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อ 1 คืน แบบจำลองจะคาดการณ์ว่า ผู้ชายคนดังกล่าวจะมีอายุที่เหลือที่มีสุขภาพดีมากกว่าผู้ชายที่ใช้ชีวิตแบบไม่รักษาสุขภาพถึง 13 ปี กล่าวคือผลตอบแทนของการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี (healthy lifestyle) เท่ากับ 13 ปี

เนื่องจาก Goldenson เปิดโอกาสให้สาธารณชนใช้แบบจำลองดังกล่าวคำนวณอายุที่เหลือของตัวเองได้โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ http://apps.goldensoncenter.uconn.edu/HLEC/ ผมจึงได้ทดลองนำเอาข้อมูลของตัวเองไปกรอกลงในแบบจำลองคาดการณ์อายุดังกล่าว ในกรณีที่ได้ปรับ lifestyle ไปแล้ว เปรียบเทียบกับข้อมูล lifestyle เดิมเมื่ออายุ 56 ปี เพื่อดูว่าการปรับเปลี่ยน lifestyle มีผลต่ออายุคาดเฉลี่ยของตัวเองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุที่เหลือที่มีสุขภาพดี ซึ่งผลออกมาดังนี้

1.อายุที่เหลือที่มีสุขภาพดีเพิ่มขึ้น 9.2 ปี ในกรณี lifestyle ที่รักษาสุขภาพเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน ทั้งนี้ ช่วงอายุที่มีสุขภาพดีสูงกว่าเฉลี่ยถึง 60.9% (จากเมื่อก่อนสูงกว่าเฉลี่ย 17.8%)

2.ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่สุขภาพไม่ดีเท่ากับ 2.8 ปี ลดลงจากเมื่อไม่ได้ดูแลสุขภาพ ซึ่งช่วงสุขภาพไม่ดีจะนานเท่ากับ 3.0 ปี

3.หากมีปัญหาเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม (cognitive disease) ช่วงที่สุขภาพไม่ดีในบั้นปลายชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 ปี ในกรณีที่ดูแลสุขภาพอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่หากมีพฤติกรรมเหมือนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาที่สุขภาพไม่ดีจะยาวนานขึ้นไปอีกถึง 6.4 ปี

อย่างไรก็ดี แบบจำลองดังกล่าวยังเพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่ ดังนั้น จึงยังไม่ได้มีการนำไปใช้มากนัก และยังไม่มีข้อมูลว่าการคาดการณ์ของแบบจำลองนี้มีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด แต่ Goldenson อธิบายว่า สมมุติฐานของแบบจำลองจัดทำขึ้นด้วยความระมัดระวัง โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่จริงเกี่ยวกับการเสียชีวิต (established actuarial sources)

หากถามว่าแบบจำลองน่าจะมีจุดอ่อนอะไรบ้าง ผมก็คงจะต้องตอบว่า น่าจะเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินไปเล็กน้อย เพราะอาศัยข้อมูลพื้นฐานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาวะสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในสหรัฐน่าจะดีกว่าประเทศไทย เพราะประเทศสหรัฐร่ำรวยกว่า และมีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าประเทศไทย อย่างไรก็ดี โควิด-19 ทำให้สามารถมองในอีกมุมหนึ่งได้ว่า ระบบสาธารณสุขของไทยอาจมีคุณภาพดีกว่าของสหรัฐก็ได้ ดังนั้น การปรับ lifestyle ของตัวเองให้เหมาะสม จึงอาจยิ่งทำให้อายุที่เหลือที่มีสุขภาพดีของคนไทย มีมากกว่าในสหรัฐอีกหลายปี

ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองเข้าไปที่เว็บไซต์ดังกล่าว แล้วกรอกข้อมูลของตัวเองลงไปเพื่อดูผล เพราะมีข้อมูลไม่มากและใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที ก็จะได้ผลออกมาโดยทันที ที่สำคัญ คือ สามารถลองปรับเปลี่ยนตัวแปรต่าง ๆ เพื่อดูความแตกต่างในเชิงของอายุคาดเฉลี่ย และจำนวนปีที่มีสุขภาพดีที่เหลืออยู่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น

-เมื่อผมอายุ 56 ปีนั้น ผมใกล้จะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าผมจะเป็นโรคเบาหวานตอนอายุ 63 ปี (เพราะคุณแม่ของผมก็เป็นโรคเบาหวาน) และเมื่อเพิ่มโรคเบาหวานเข้าไปก็พบว่า ช่วงอายุที่มีสุขภาพดีลดลงไปอีก หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การปรับ lifestyle ของผมในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้หลีกเลี่ยงการเป็นโรคเบาหวานนั้น มีผลคือในช่วงท้ายของชีวิตอายุที่มีสุขภาพดีของผมเพิ่มขึ้นถึง 12.6 ปี

-การออกกำลังกายเป็นประจำเกือบทุกวัน (5 ครั้ง หรือมากกว่าต่อสัปดาห์) โดยปัจจัยอื่น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ช่วงที่มีสุขภาพดีที่เหลือของชีวิตเพิ่มขึ้น 6.8 ปี บั้นปลายของชีวิตที่สุขภาพไม่ดี มีจำนวนปีเท่าเดิม แต่หากเป็นโรคสมองเสื่อมช่วงที่สุขภาพไม่ดีในบั้นปลายของชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 ปี กล่าวคือในกรณีที่ออกกำลังกาย ช่วงบั้นปลายที่สุขภาพไม่ดีจะเท่ากับ 4 ปี น้อยกว่าในกรณีที่ไม่ออกกำลังกายที่ช่วงสุขภาพไม่ดีจะเท่ากับ 5.9 ปี

-ในส่วนของการนอนหลับนั้น ผมกรอกข้อมูลลงไปว่านอนหลับคืนละไม่ต่ำกว่า 5 แต่ไม่ถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าหากนอนหลับได้ครบ 8 ชั่วโมงต่อ 1 คืน อย่างสม่ำเสมอ อายุที่มีสุขภาพดีจะเพิ่มขึ้นได้อีก 16.8 เดือน


จึงขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านจงพยายามปรับ lifestyle ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในช่วงที่เหลือของชีวิตให้ยาวนานที่สุด โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพครับ