การฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับ “เด็กเล็ก” และ “วัยรุ่น”

คอลัมน์ Healthy Aging

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

การเร่งฉีดวัคซีน COVID-19 ที่กำลังทำกันอยู่ทั่วโลกและในประเทศไทย ณ วันนี้นั้น มีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ การฉีดเข็มที่ 3 หรือ booster shot ให้กับผู้ใหญ่ กับการเริ่มฉีดวัคซีนให้กับเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 12 ปีถึง 17 ปีเป็นต้นไป เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถกลับไปเรียนหนังสือที่สถาบันการศึกษาโดยปกติ ไม่ต้องเรียน online จากที่บ้านเป็นปีที่ 3 หรือยืดเยื้อต่อไปอีก เพราะกระทบต่อคุณภาพของการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 3 ของผู้ใหญ่นั้น บางประเทศ เช่น อิสราเอล บาห์เรน แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส การฉีดเข็ม 3 น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่การจะให้ฉีด booster shot เป็นการทั่วโลกสำหรับผู้ใหญ่นั้นคงจะต้องรอต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะผลงานวิจัยพบว่าคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็มนั้นภูมิคุ้มกันจะลดลงบ้างเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4-6 เดือน แต่ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อก็ยังมีอยู่มาก และข้อมูลสะท้อนว่าแม้จะติดเชื้อได้อีก แต่ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วจะไม่ป่วยหนัก และแทบจะไม่มีการเสียชีวิตเลย

ดังนั้น ที่สหรัฐอเมริกานั้นผู้ที่ติดเชื้อและป่วยหนักหรือเสียชีวิตเกือบทั้งหมดจึงเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 17 กันยายนให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เฉพาะกับชาวสหรัฐที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่า และผู้ที่มีโรคประจำตัว 5 โรค แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของประธานาธิบดีไบเดนให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 กับประชาชนผู้ใหญ่ทุก ๆ คน ณ วันนี้

สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับผู้เยาว์คือตั้งแต่อายุประมาณ 10-12 ปีถึง 17-18 ปีนั้น ก็ยังมีข้อถกเถียงและข้อกังวลที่สืบเนื่องมาจากงานวิจัยที่เก็บข้อมูลผู้ที่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงหลังการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุน้อยคือกลุ่มอายุ 12-17 ปี

ซึ่งรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรู้ว่าการฉีดวัคซีน mRNA ทั้งของ Moderna และของ Pfizer นั้นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ แต่มีความเสี่ยงต่ำมาก (rare cases) ผลข้างเคียงที่ว่านี้คือ myocarditis หรืออาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือ pericarditis คือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

จากข้อมูลของ Pfizer และ Moderna นั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ กล่าวคือ

1.สำหรับวัคซีนของ Pfizer นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 18.5 คนต่อ 1 ล้านคน สำหรับคนอายุ 18-24 ปี หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

2.สำหรับวัคซีนของ Moderna นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 20.2 คนต่อ 1 ล้านคน สำหรับคนอายุ 18-24 ปี หลังจากฉีดวัควีนครบ 2 เข็ม

แต่งานวิจัยที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากคือ งานวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญจาก University of California เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 โดยนำเอาข้อมูลการรายงานผลกระทบข้างเคียงของฐานข้อมูลจากระบบ vaccine adverse event reporting system (VAERS) ของสหรัฐ ที่รายงานผลข้างเคียงที่กระทบการทำงานของหัวใจ (cardiac adverse event หรือ CAE) ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง 18 มิถุนายน รวมทั้งสิ้น 257 กรณี ซึ่งสรุปผลได้ดังนี้

1.พบ CAE ในกลุ่มเด็กชายอายุ 12-15 ปี เท่ากับ 16.2 คนต่อ 100,000 คน และเด็กชายอายุ 16-17 ปี เท่ากับ 9.4 คนต่อ 100,000 คน

2.พบ CAE ในกลุ่มเด็กผู้หญิงอายุ 12-15 ปี เพียง 1.3 คนต่อ 100,000 คน และในเด็กผู้หญิงอายุ 16-17 ปี เพียง 1.34 คนต่อ 100,000 คน

นักวิจัยจึงสรุปว่าสำหรับเด็กชายนั้นอาจจะไม่คุ้มค่าที่ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพราะเด็กกลุ่มนี้หากเป็น COVID-19 ก็จะมีโอกาสป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยมาก คำนวณได้ว่าเด็กชายกลุ่มอายุ 12-15 ปี มีโอกาสป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะเกิดผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจมีความเสี่ยงสูงกว่าการป่วยเพราะ COVID-19 จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลถึง 3.7-6.1 เท่า

และสำหรับเด็กชายกลุ่มอายุ 16-17 ปี มีโอกาสต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจมากกว่าการป่วยจาก COVID-19 ถึง 2.1-3.5 เท่า

อย่างไรก็ดี มีผู้สังเกตการณ์โต้ว่าหนึ่งในทีมนักวิจัยที่นำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวคือ Josh Stevenson นั้นเป็นคนที่มีแนวคิดต่อต้านการฉีดวัคซีน และมาตรการควบคุมด้านสาธารณสุขต่าง ๆ

นอกจากนั้น ก็ยังมีการตั้งคำถามว่าการอาศัยข้อมูลจากฐานข้อมูล VAERS ซึ่งเป็นการรายงานของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตัวเอง (self-report of side effects) ไม่ได้มีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญนั้น อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะหากมีผู้ที่มีความประสงค์ที่จะสร้างข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการต่อต้านการฉีดวัคซีนก็เป็นได้

ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นคนไทยอาจไม่ได้นึกถึง เพราะหลายคนมีปัญหาอยากฉีดวัคซีน แต่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด แต่ที่สหรัฐอเมริกานั้นมีวัคซีนเหลือให้ฉีดมากมาย แต่มีปัญหาว่ามีผู้ที่สมัครใจให้ฉีดรวมทั้งสิ้นเพียง 54.4% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ (แตกต่างจากประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอิสราเอล ที่ประชากรเกือบ 90% ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว)

ณ วันนี้บางประเทศจึงเพิ่งเริ่มอนุมัติให้ฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มแรกให้กับเด็กเล็กและเด็กโตที่เป็นวัคซีนประเภท mRNA ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป เช่น ประเทศอังกฤษ-นอร์เวย์ และเกาะฮ่องกง แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าควรจะฉีดเข็ม 2 เมื่อใด

โดยคาดการณ์ว่าอาจเว้นระยะเวลาไปได้นานถึง 3-6 เดือน ทั้งนี้ วัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินที่สหรัฐนั้นมีเพียงวัคซีนของ Pfizer เท่านั้น วัคซีน mRNA อีกชนิดหนึ่งคือ Moderna นั้นยังไม่ได้รับอนุมัติเพราะนำเสนอข้อมูลผลจากการฉีดวัคซีนต่อสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐล่าช้ากว่าบริษัท Pfizer

ล่าสุดนั้น Pfizer แซงหน้า Moderna ต่อไปอีก โดยการประกาศผลการทดลองใช้วัคซีนกับเด็กอายุเพียง 5-11 ปี จำนวน 2,268 คน เด็กกลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มห่างกัน 21 วัน โดย Pfizer รายงานว่าผลตอบสนองดีมาก ทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับการสร้างภูมิคุ้มกันของกลุ่มอายุ 16-25 ปี แต่ที่สำคัญคือขนาดโดสที่ใช้กับเด็กอายุ 5-11 ขวบนั้นถูกลดลงเหลือ 10 microgram เมื่อเทียบกับโดสที่ใช้กับเด็กและผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปคือ 30 microgram ต่อ 1 เข็ม