เมืองการบินภาคตะวันออก ต้นแบบการ “โละ” กฎหมายที่ล้าหลัง

เมืองการบิน ภาคตะวันออก
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

ในภาวะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะงัก ไม่ว่าจะเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐ และยุโรปต่อเนื่องหรือความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ เชื่อได้ว่าการส่งออกของไทยซึ่งคิดเป็นอันเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพีและเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญของเราจะชะลอตัวอย่างแน่นอนในอนาคต

ทุกประเทศต้องพยายามหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจเพื่อช่วยผลักดัน GDP ของประเทศตนให้เติบโต ประเทศไทยก็ไม่ต่าง สิ่งหนึ่งที่จะมาเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญของไทยและกำลังได้รับการโปรโมตจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องใน 4-5 ปีที่ผ่านมาก็คือการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมี “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EEC เป็นต้นแบบ ซึ่ง EEC นี้ถูกรัฐบาลตั้งความหวังว่าจะให้ดันจีดีพีให้เติบโตได้ 5-10% ใน 4-5 ปีข้างหน้า

ในภูมิภาคอาเซียน เรามีคู่แข่งหลายคนในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ “เวียดนาม” กำลังกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ของภาคอุตสาหกรรม ล่าสุดมีการเจรจากับแอปเปิลเพื่อผลิตสินค้าแอปเปิล ว็อทช์และแมคบุ๊คแล้ว รวมถึงพานาโซนิคที่ย้ายฐานการผลิตและ R&D จากไทยไปที่นั่นด้วยในปลายปีนี้

อินโดนีเซียที่ได้เปรียบในด้านทรัพยากรแร่นิกเกิลทำให้เจรจากับเทสลาเป็นฐานผลิตรถไฟฟ้า หรือสิงคโปร์เองที่ยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยี สตาร์ตอัพ ดังนั้นไทยเราเองจะต้องขยับตัวให้เร็ว ในการหาจุดขายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่ง EEC ก็เป็นความหวังในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดั้งเดิมที่ภาคเอกชนอึดอัดใจและมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในไทยก็คือ กฎระเบียบ กฎหมายที่ไม่จำเป็นและล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปัจจุบัน

ทราบกันดีว่ากฎหมายหลายฉบับของเราถูกบังคับใช้มากว่า 80 ปี โดยไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบททางสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน นอกจากนี้เรายังชอบออกกฎระเบียบใหม่มาเรื่อย ๆ มี พ.ร.บ. เป็นพันและกฎหมายลูกอีกเป็นแสน ซึ่งทาง TDRI ก็เคยทำการศึกษาและชี้นำมาแล้วว่าต้นทุนจากกฎหมายและใบอนุญาตเดิม ๆ ที่วัตถุประสงค์ไม่ชัดเจนและไม่เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

รวมถึงกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลที่เชื่องช้าและไม่โปร่งใส นับเป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือกีดกันการแข่งขัน รวมทั้งยังจะพาให้ต่างประเทศไม่อยากเข้ามาลงทุนอีกด้วย

ล่าสุดที่ได้มีการเคาะมาตรการสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับเมืองการบินภาคตะวันออกเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่ดี โดยให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือน “พื้นที่นอกประเทศ ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย” หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผ่อนปรนข้อจำกัดด้านกฎหมายแรงงาน โดยให้คนต่างด้าวสามารถทำงานบางประเภทได้ การปรับปรุงเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีสรรพสามิต หรือการอนุญาตเปิด 24 ชั่วโมงของกิจกรรมสันทนาการ

การมอบสถานะ “พื้นที่นอกประเทศ” ให้กับเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อดึงดูดนักลงทุนจะเป็นพื้นที่ต้นแบบที่จะพิสูจน์ว่ารัฐบาลจะสามารถ “โละ” กฎหมายและกระบวนการที่ล้าหลัง และสร้างกฎหมายเฉพาะสำหรับพื้นที่นี้ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันได้จริงหรือไม่ ถ้าได้ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้แก่ภาคธุรกิจอย่างมาก


อย่าให้นโยบายเป็นแค่ลมปาก จะให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ วีซ่าทำงานทำได้ง่าย เร็วกว่าเดิมกี่วัน การเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีขั้นตอนการชี้แจง การอธิบายที่ต่างจากปกติยังไง การขอใบอนุญาตสถานบันเทิงสันทนาการอย่างถูกต้องทำได้โปร่งใส ปราศจากสินบนและรวดเร็วจริงไหม เรื่องพวกนี้ต้องผลักดันให้ทำได้จริงและเกิดผลกระทบเชิงบวกในพื้นที่ต้นแบบอย่างเมืองการบินภาคตะวันออก ถ้าทำได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและปรับปรุงสร้างแม่แบบที่นำไปต่อยอดในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่น ๆ อีกได้อย่างแน่นอน