On Demand Commerce สมรภูมิค้าออนไลน์ที่ดุเดือดกว่ามาร์เก็ตเพลซ

food delivery
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

กว่า 10 ปีที่ผ่านมาของสงครามการค้าออนไลน์ของฝั่ง marketplace ที่ใกล้จะจบลง จะไม่นำเงินมาเบิร์นแข่งกันเหมือนก่อน แต่จะเข้าสู่ยุคของการทำกำไรแล้ว

ตอนนี้ผมมองว่าสงครามของอีมาร์เก็ตเพลซจบแล้ว การเบิร์นเงินจะไม่มีแล้ว ทุกคนจะมีตลาดของตัวเอง จะไม่มีการมาปะทะกันหนัก ๆ เหมือนเดิม เพราะว่าทุกคนจะเข้าสู่โหมดของการทำกำไร ต่อไปทุกคนจะเริ่มรีดรายได้จากทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายทั้งสองฝั่ง

แต่เกมใหม่ที่น่าสนใจคือเกมของฝั่ง on demand commerce ซึ่งก็คือพวก food delivery ที่ตอนนี้เริ่มทำบียอนด์ฟู้ดแล้ว เช่น สั่งของจากพวกซูเปอร์มาร์เก็ตได้แล้ว สั่งของตามร้านค้าต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เจ้าใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ Grab ที่สั่งของได้ สั่งอาหารได้ ทำเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวก็ได้ มีทั้งวอลเลต และบริการต่าง ๆ

Grab อยู่ในตลาดมานานมาก เรียกได้ว่าเป็นเจ้าตลาด รายได้ของ Grab ในไทยที่ชื่อ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) รายได้ในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 300 กว่าล้านบาท

เมื่อดูในปี 2562 Grab ขาดทุนถึงเกือบ 1,600 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว เรียกว่าขาดทุนน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมาเชื่อว่าทำกำไรได้มากขึ้นเยอะ

ผู้ท้าชิงคนที่สองที่น่าสนใจมาก คือ LINE MAN ล่าสุดอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Wongnai ใช้ชื่อว่า LINE MAN Wongnai โดยรายได้ของ LINE MAN ในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจคือ LINE MAN ขาดทุนถึง 2,300 ล้านบาท

แต่ถ้าดูเฉพาะของ LINE MAN ไม่ได้ต้องดูของ Wongnai ด้วย โดย Wongnai Media มีรายได้ในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท เมื่อรวม ๆ กับของทั้ง LINE MAN และ Wongnai ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ขณะที่ Wongnai ขาดทุนทะลุไปที่ 1,100 ล้านบาท เมื่อรวมกันสองเจ้านี้จะขาดทุนประมาณ 3,300 ล้านบาทได้

และที่น่ากลัวมากคือ LINE MAN Wongnai เพิ่งระดมทุน Series B ประมาณ 265 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 9,700 ล้านบาทมา พร้อมสู้ศึก on demand commerce ทำให้เกมการแข่งขันนี้ดุเดือดมากขึ้น

มาดูที่ Delivery Hero บริษัทแม่ของ Food Panda ประเทศไทย รายได้ 6,700 ล้านบาท แต่ขาดทุนถึง 4,700 ล้านบาท และปี 2563 ขาดทุน 3,700 ล้านบาท มีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่ต้องบอกว่า Food Panda ในต่างจังหวัดเติบโตเร็วมาก คำถามคือเมื่อ LINE MAN Wongnai ระดมทุนลงมาหนัก ๆ ขนาดนี้ Food Panda ที่ขาดทุนหนัก ๆ แบบนี้จะทำอย่างไร ถ้าเป็นการดำน้ำก็เป็นเกมดำอึดแล้ว Food Panda จะทำอย่างไรต่อไป

มีผู้เล่นอีกเจ้าที่กระโดดเข้ามาสัก 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นผู้เล่นใจบุญ คือ Robinhood ของ SCB ที่มีงบฯให้ไปละเลงได้ปีละประมาณ 100 กว่าล้านบาท ปีที่แล้ว Robinhood มีรายได้ประมาณ 15 ล้านบาท ขาดทุน 1,300 ล้านบาท

ผมเข้าใจว่าคงเดินเกมหนัก เพราะเห็นว่า Robinhood เริ่มเปิดบริการใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้มีท่องเที่ยว และมาร์ท ล่าสุดที่ผมชอบมาก และรออยู่คือ Robinhood Ride บริการเรียกรถได้ ตอนนี้เรามีตัวเลือกในการเรียกรถน้อย ถ้า Robinhood เข้ามา และคงคอนเซ็ปต์ ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น ผมว่าเกมนี้สนุกแน่ อาจเป็น game changers ได้เหมือนกัน

ความแตกต่างระหว่าง e-Marketplace และ on demand commerce คือความเร็วในการจัดส่ง ถ้าสั่งจากอีมาร์เก็ตเพลซจะใช้เวลา 1-2 วัน ขณะที่ on demand commerce สั่งทีใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็ได้ของแล้ว

และรูปแบบสินค้าก็จะต่างกัน มาร์เก็ตเพลซเราจะสั่งพวกสินค้าอุปโภคบริโภคเสื้อผ้าที่รอได้ไม่เน่าไม่เสีย แต่พอเป็น on demand commerce จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคกินได้ อาหารสด ของร้อน ๆ ที่ต้องการได้ทันที กลุ่มสินค้าจะแตกต่างกัน

ฉะนั้นศึกใหม่ที่จะเกิดขึ้น เป็นศึกที่ลูกค้าหลายคนอยากได้สินค้าอะไรก็ตามจะเริ่มมาใช้ on demand commerce มากขึ้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y และ Z จะใช้ on demand commerce บ่อยมาก

แต่การทำธุรกิจแบบ on demand commerce มีจุดต่างจากอีมาร์เก็ตเพลซ คือ อีมาร์เก็ตเพลซ มีแวร์เฮาส์ที่เดียว สั่งได้ทุกอย่างทุกที่ ส่งของก็มีบริษัทมารับของไปส่ง แต่ on demand commerce การสั่งของขึ้นอยู่กับโลเกชั่นยิ่งไกลราคาจะยิ่งแพงขึ้นตามระยะทาง ฉะนั้นหากอยู่คนละจังหวัดกันจะสั่งซื้อสินค้าได้ยากกว่า

เหตุผลที่ on demand commerce เป็นสมรภูมิใหม่ ที่เห็นได้ชัดอย่างแรกเลย คือเงิน การที่ LINE MAN Wongnai ระดมเงินมาได้หมื่นล้านบาททำให้เกมเปลี่ยน ศึกจะชัดมากขึ้น

สอง ตลาด on demand commerce ต่างจากมาร์เก็ตเพลซ คือ คนซื้อเสื้อผ้าเดือนหนึ่ง 4-5 ออร์เดอร์ แต่ฟู้ดดีลิเวอรี่ กินทุกวัน วันหนึ่งสั่งมากกว่าหนึ่งครั้ง

ใครชนะหรือเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด On-Demand นี้ คุณกินได้ยาว เพราะมีความถี่มากกว่า ในตลาด on demand commerce จะเข้าสู่เกมที่เรียกว่า Everyday App ในหนึ่งแอปไม่ได้มีแค่ฟู้ดดีลิเวอรี่แล้ว แต่สั่งอาหารก็ได้ ส่งของก็ได้ มีวอลเลตจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้หมด ฉะนั้นในเกมของ Everyday App หรือ Super App เป็นเกมที่ใหญ่กว่าอีมาร์เก็ตเพลซ เพราะเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของคน

ตอนนี้ ผู้นำผมว่าเป็น Grab ที่ถือว่าตัวเองเป็น Everyday App แต่ก็มีกลุ่มอื่น ๆ ที่พยายามขึ้นมาท้าทาย เช่น พวกวอลเลตอย่าง True Money เริ่มทำตัวเองเหมือน WeChat ที่จ่ายได้ ลงทุนได้ ทำอื่น ๆ ได้ ทุกคนก็อยากจะเป็นทำตัวเองให้เป็นแอปที่คนเปิดทุกวัน