โครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท

digital wallet
คอลัมน์​ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

โครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลมุ่งหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของโครงการอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่ามีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการที่อาจเป็นจุดตายของโครงการนี้ โดยคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีดังนี้ :

1.ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน

2.สัญชาติไทย

3.มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)

4.ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566

5.ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567

ADVERTISMENT

6.ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ

7.ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

ADVERTISMENT

8.ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

การเข้าร่วมโครงการนี้สำหรับประชาชนจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้ Smartphone โดยให้มีการลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” บนสมาร์ทโฟน ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการ ให้รอติดตามข้อมูล

ส่วนการเข้าร่วมโครงการสำหรับร้านค้า คาดว่าจะให้เปิดรับลงทะเบียน 1 ตุลาคม 2567 แต่อาจจะต้องรอการแถลงการณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยในโครงการนี้หากร้านค้าที่เข้าร่วมจะเป็นร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก ไม่รวมถึงห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะพบว่าโครงการนี้ยังมีจุดที่น่ากังวลและอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายได้ ทั้งยังมีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น หนี้สาธารณะ ด้วยสาเหตุที่ว่าโครงการนี้มีการใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง โดยมีการใช้งบประมาณมากถึง 450,000 ล้านบาท ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศในระยะยาว

การอัดฉีดเงินจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะเงินเฟ้อได้ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้คงที่

และสิ่งที่น่ากลัวมากคือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น โครงการขนาดใหญ่แบบนี้มีความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบในเรื่องของเงินรั่วไหล กลายเป็นมีกลุ่มคนบางกลุ่มจ้องจะหาช่องว่างจากตรงนี้เพื่อที่จะทุจริต

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องความเสี่ยงของประชาชนที่อาจทำให้เกิดมิจฉาชีพขึ้นได้ ด้วยสาเหตุที่ว่าประชาชนบางกลุ่มนั้นอาจจะเป็นผู้สูงวัย หรือประชาชนบางกลุ่มที่ไม่คล่องในเรื่องของการใช้สมาร์ทโฟน ทำให้อาจจะโดนมิจฉาชีพหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไป หรือเกิดการแฮกข้อมูลต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่พึ่งพาช่วยเหลือตนเอง เพราะเมื่อรู้ว่าภาครัฐมีการให้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือ ก็จะทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการทำงาน และมีการใช้จ่ายเกินตัว ส่งผลถึงสร้างภาระหนี้สินระยะยาว

การดำเนินโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและติดตามโครงการเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณที่ใช้ไปจะเกิดประโยชน์สูงสุด ควรมีการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงมีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที

การสร้างความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินโครงการเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชั่น และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน