
คอลัมน์ : Pawoot.com ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
ประเทศไทยกำลังเดินหน้าครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่การเป็น Financial Hub ของภูมิภาค โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจการเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาดำเนินธุรกิจ และยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้สามารถแข่งขันกับสิงคโปร์และฮ่องกงได้
นโยบายนี้ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบการเงิน โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากรในอุตสาหกรรมทางการเงินให้ก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีการเงิน (Fintech) และแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล
ประเทศไทยมีแผนการดำเนินงานผ่าน 3 เสาหลัก เพื่อผลักดันให้กลายเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่รัฐบาลจะมุ่งเน้นการเพิ่มความยืดหยุ่นและความเป็นสากลในการพิจารณาใบอนุญาตสำหรับธุรกิจการเงินต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสามารถดึงดูดผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
ทั้งยังมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลแบบ End-to-End ซึ่งก็คือมีแผนการจัดตั้งหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการกำกับ ส่งเสริม และให้บริการแก่ผู้ประกอบการทางการเงินโดยเฉพาะ เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความสะดวก และทำให้การประกอบธุรกิจทางการเงินในไทยเป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมุ่งจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Ecosystem ทางการเงินเพื่อให้รองรับการขยายตัวของธุรกิจการเงิน นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านการเงินและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากต่างประเทศ Knowledge Transfer เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
การพัฒนา Financial Hub ของไทยจะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมทางการเงินที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะมี 8 กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและนโยบายส่งเสริมอื่น ๆ ได้แก่
1.ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
2.ธุรกิจบริการชำระเงิน
3.ธุรกิจหลักทรัพย์
4.ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
5.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
6.ธุรกิจประกันภัย
7.ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ
8.ธุรกิจการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนระบบการเงิน
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมใน Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการยกเว้นกฎหมายบางข้อเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิพิเศษด้านภาษีและการนำเข้า รวมถึงสิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในธุรกิจและเป็นที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแรงงานเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจทางการเงิน
การผลักดันไทยให้เป็น Financial Hub ถือเป็นโอกาสสำคัญที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน เพิ่มทักษะแรงงาน และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกับสิงคโปร์และฮ่องกงยังคงเป็นความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ การวางนโยบายที่เหมาะสมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถดึงดูดบริษัทระดับโลกได้มากขึ้น
อยากเชิญผู้ประกอบไทย และผู้อ่านตอนนี้ ให้เริ่มหันมามองและปรับตัวเข้าสู่โอกาสใหม่ ๆ ของประเทศ พร้อมที่จะก้าวไปกับประเทศของเราครับ ดีกว่าปล่อยให้ต่างชาติเข้ามารุกและทำเท่านั้น ใครจะเข้าใจคนไทยได้ดีกว่าคนไทยล่ะครับ