
คอลัมน์ : Pawoot.com ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
ปัจจุบันตลาด Food Delivery ในภูมิภาคอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดยในช่วงแรกมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ในปี 2019 เป็น 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นขยายตัวเป็น 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ จนกระทั่งปี 2024 มูลค่าตลาดแตะระดับ 19.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและการพัฒนาของเทคโนโลยีแพลตฟอร์มสั่งอาหารในภูมิภาคนี้
เวียดนาม เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ประมาณ 26% ต่อปี แม้ว่าจะมีขนาดตลาดที่ยังเล็กอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยมูลค่าตลาดในเวียดนามอยู่ที่ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในขณะที่ประเทศที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุด คือ อินโดนีเซีย ที่มีมูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ ประเทศไทย ที่ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ สิงคโปร์ ในลำดับถัดไป
ในอาเซียน แพลตฟอร์มที่ครองตลาดอันดับ 1 คือ Grab ด้วยมูลค่าการซื้อขายอาหารกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วย Food Panda ที่ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 3 คือ Shopee Food ที่ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 4 คือ Gojek และอันดับ 5 คือ Lineman ของไทยที่มีมูลค่าตลาด 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 6 คือ Deliveroo ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับ 7 คือ Robinhood ที่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
เจ้าแรกที่เริ่มให้บริการ Food Delivery ในอาเซียน คือ Food Panda ในปี 2012 จากนั้น Gojek เปิดตัวในปี 2015 และ Grab เริ่มให้บริการในปี 2018 ส่วน Lineman ของไทยซื้อกิจการจาก Wongnai ในปี 2020 นอกจากนี้แล้วในช่วงปี 2021 เป็นปีที่ตลาด Food Delivery เติบโตอย่างมาก โดย Shopee Food เปิดตัวในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย ขณะที่ AirAsia ก็ก้าวเข้าสู่ตลาดด้วยบริการ AirAsia Food ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
จากสถิติพบว่าการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นในปี 2023-2024 เติบโตขึ้น 13% โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เติบโตถึง 12% ขณะที่ Grab ยังคงเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่ง 46% ตามมาด้วย LINE Man 40% ส่วน Shopee Food และ Food Panda มีส่วนแบ่งตลาด 7% และ 5% ตามลำดับ ส่วน Robinhood มีส่วนแบ่ง 2%
ตลาด Food Delivery ในอาเซียนกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น Everyday App หรือแอปที่ให้บริการครอบคลุมหลายด้าน เช่น การสั่งอาหาร บริการจัดส่ง ระบบการชำระเงิน และบริการที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ยิ่งจากการเข้าซื้อกิจการล่าสุดของ Grab ในธุรกิจจองร้านอาหาร Chope แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มนี้ โดย Grab กำลังขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ ในอาเซียนนั้น ตลาดของ Food Delivery จะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Grab ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดและยังคงเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ Food Panda และ Shopee Food กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อแย่งชิงตำแหน่งที่สอง แม้ว่าในปัจจุบัน Food Panda จะมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า Shopee Food แต่จากอัตราการเติบโตที่รวดเร็วของ Shopee Food ทำให้มีโอกาสสูงที่จะแซงหน้าในอนาคตอันใกล้
นอกเหนือจากการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มหลักแล้ว ตลาดนี้ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคและการพัฒนาบริการเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดลูกค้า ผู้ให้บริการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในทุก ๆ วัน หากสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมช่วยให้ธุรกิจ Food Delivery ในอาเซียนสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต