เทคนิควิเคราะห์งานประมูลรัฐ ด้วย ‘Open Data’

open data
คอลัมน์ : Pawoot.com 
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

โครงการพัฒนา Web Application ของสำนักงานประกันสังคม มูลค่า 850 ล้านบาท กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกจับตามองอย่างมากในขณะนี้ หลังจากที่ สส. รักชนก ศรีนอก พรรคประชาชน เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดการพัฒนา Web App ถึงมีต้นทุนสูงขนาดนี้ ?

จากการวิเคราะห์ พบว่าเหตุผลหลักที่ทำให้โครงการนี้มีมูลค่าสูง ไม่ได้เป็นเพียงแค่การพัฒนา Web App เท่านั้น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างเทคโนโลยีหลัก (Core System) ของสำนักงานประกันสังคมทั้งหมด โดยระบบเดิมใช้ Mainframe ของ IBM และพัฒนาด้วยภาษา COBOL ซึ่งถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ทำให้เทคโนโลยีล้าสมัยและไม่สามารถรองรับการทำงานในยุคปัจจุบันได้ จึงจำเป็นต้องมีการ รื้อระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการจัดหา Hardware, Software และการพัฒนาระบบใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น

งบประมาณ 850 ล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ค่า Hardware 200 กว่าล้านบาท ค่า Software 400 กว่าล้านบาท ค่าพัฒนาระบบ 147 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก 21 ล้านบาท มีการเปิดประกวดราคาโครงการนี้ แต่พบว่ามีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่เข้าร่วมการประมูล ได้แก่ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท ไออาร์ซีพี จำกัด (มหาชน) ผลปรากฏว่า บริษัท ไออาร์ซีพี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล และได้ทำสัญญากับสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งสัญญาสิ้นสุดไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2566 แต่จนถึงปัจจุบัน ระบบยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และไม่สามารถส่งมอบได้ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและคำถามจากสังคมว่า โครงการนี้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่

การวิเคราะห์เงื่อนไขใน TOR (Terms of Reference) พบว่ามีการกำหนดสเป็กที่เข้มงวดมาก เช่น ผู้เข้าประมูลต้องมีบุคลากรเฉพาะทางและมีความเชี่ยวชาญสูง รวมถึงมีข้อกำหนดที่ทำให้บริษัททั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการ ล็อกสเป็กเพื่อให้บริษัทบางแห่งได้งานหรือไม่ รวมถึงโครงการนี้ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด ทั้งที่มีการจ่ายเงินงวดไปแล้วถึง 6 งวด ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน ภาครัฐมีการเปิดเผยข้อมูลโครงการมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม Open Data เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบโครงการได้ โดยมีเว็บไซต์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ภาษีไปไหน ? ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) และนำข้อมูลจากภาครัฐทั้งหมดมาวิเคราะห์ ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลโครงการ ว่ามีหน่วยงานใดรับผิดชอบ และเงินถูกใช้ไปอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ ACT Ai ของสมาคมต่อต้านคอรัปชั่น ซึ่งช่วยตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอีกเว็บไซต์คือ Data.go.th แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลของภาครัฐ โดยมีชุดข้อมูลมากกว่า 20,000 รายการ ให้ประชาชนเข้าถึงได้

ADVERTISMENT

หรือจะใช้ Creden Data (data.creden.co) ค้นหาชื่อบริษัท และหากบริษัทนั้น มีการรับงานประมูลจากภาครัฐ ระบบจะทำการเชื่อมต่อเข้ากับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและข้อมูลจาก Act AI

แม้ว่าโครงการนี้จะมีต้นทุนสูงเนื่องจากการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างไอทีทั้งหมด แต่ก็ยังมีข้อกังขาหลายประการเกี่ยวกับความโปร่งใสของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะการ กำหนด TOR ที่เข้มงวด และการที่มี ผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 บริษัท รวมถึง ความล่าช้าในการส่งมอบงาน การตรวจสอบโครงการภาครัฐเป็นสิ่งที่ประชาชนควรให้ความสนใจ และการเปิดเผยข้อมูลผ่าน Open Data จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส ลดโอกาสในการทุจริต ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญคือ โครงการนี้จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้จริงเมื่อใด และงบประมาณที่ใช้ไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่

ADVERTISMENT