
คอลัมน์ : Pawoot.com ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
ในประเทศที่หนี้ครัวเรือนสูงลิ่วและประชาชนหลายล้านคนติดเครดิตบูโร “การซื้อหนี้คืน” กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงเสมอ ทั้งในมุมของความเป็นไปได้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และคำถามเชิงศีลธรรมที่ตามมา คำถามคือ หากภาครัฐจะเข้ามาซื้อหนี้เหล่านี้คืนจากธนาคารพาณิชย์ จะได้อะไร และจะเสียอะไร
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณกรณ์ จาติกวณิช ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจในการใช้เงินจากกองทุนฟื้นฟู FIDF ซึ่งเดิมเป็นเงินที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายเข้ารัฐ เพื่อนำมาซื้อหนี้ NPLs หรือ “หนี้เสีย” ของประชาชนรายย่อยผ่านกลไกรัฐ โดยไม่แตะต้องภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว จุดยืนของเขาคือไม่ใช่การล้างหนี้ทุกกรณี แต่เป็นการให้โอกาสคนเล็กคนน้อยได้เริ่มต้นใหม่อย่างเป็นธรรมและมีระบบ
ประเด็นหลักของแนวคิดนี้คือการ “ไม่ช่วยทุกคน” แต่คัดเฉพาะประชาชนที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ซึ่งครอบคลุมลูกหนี้ถึง 3.5 ล้านคน หรือ 65% ของหนี้เสียทั้งหมดในระบบเครดิตบูโร จุดนี้สำคัญมาก เพราะมันตัดโอกาสการใช้โครงการนี้เพื่อเอื้อประโยชน์กับนายทุนหรือกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ และลดข้อกังวลเรื่อง Moral Hazard ที่มักจะตามมาทุกครั้งที่รัฐเข้ามาช่วยหนี้
การช่วยเฉพาะกลุ่มรายย่อย ยังสะท้อนถึงการมองปัญหาหนี้เป็นเรื่องของ “โอกาส” มากกว่าแค่ตัวเลข นี่ไม่ใช่การยกหนี้ให้ฟรี แต่เป็นการเปิดช่องทางให้ลูกหนี้สามารถปิดบัญชีในราคาที่ต่ำกว่าหนี้เดิม แลกกับการล้างประวัติและกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้อีกครั้ง
แผนการซื้อหนี้จะดำเนินผ่านบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ คือ SAM ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยตัดวงจรผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดหากมีการใช้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหาร นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์เองยังมีแรงจูงใจร่วม เพราะส่วนใหญ่ได้กันสำรองหนี้เสียไว้เต็มจำนวนแล้ว การขายหนี้ที่ราคาเพียง 5-7% จึงกลายเป็น “กำไรทันที” จากสิ่งที่เคยมองว่าไร้ค่า
รัฐจึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณระดับแสนล้าน แต่ใช้เงินไม่ถึง 10,000 ล้านบาท จาก FIDF เพื่อซื้อมูลหนี้ที่คัดกรองมาแล้ว จากนั้นเปิดทางให้ลูกหนี้เจรจาและปิดบัญชีในอัตรา 10-15% ของยอดหนี้เดิม แน่นอนว่าเสียงวิจารณ์เรื่อง Moral Hazard ยังเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม แต่หากพิจารณาในภาพใหญ่ ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมากที่หลุดจากระบบการเงินไปอย่างถาวรจากหนี้ไม่กี่หมื่นบาท พวกเขาไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อีก ถูกตัดสิทธิการเข้าถึงแหล่งทุน ถูกตีตราทางสังคม และหลายคนกลายเป็นแรงงานนอกระบบที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
การเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ “รีเซต” ชีวิต จึงอาจสร้างผลดีในระยะยาวมากกว่าที่คิด ทั้งในแง่ของการเพิ่มฐานภาษี กระตุ้นกำลังซื้อ และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรังในไทย
แนวคิดซื้อหนี้ประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ข้อเสนอของคุณกรณ์น่าสนใจคือการวางกรอบการช่วยเหลืออย่างมีเป้าหมาย และมีหลักปฏิบัติที่จับต้องได้จริง พร้อมทั้งเลือกใช้กลไกรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน จุดนี้อาจเป็นก้าวแรกของการสร้าง “ระบบฟื้นฟูหนี้รายย่อยแห่งชาติ” ที่ไม่ใช่แค่การบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังเป็นการลงทุนในศักยภาพของประชาชน ที่เคยถูกตีค่าด้วยตัวเลขในบัญชีธนาคาร
หากรัฐสามารถนำแนวคิดนี้ไปต่อยอด ปรับปรุง และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมาตรการรัฐอาจกลับมาอีกครั้ง ในแบบที่ไม่ได้พึ่งประชานิยม แต่พึ่ง “ความเป็นธรรมและความหวัง” ที่ทุกคนคู่ควร