ขึ้นบันไดลงลิฟต์

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ความนิยมของรัฐบาลนั้นต้องใช้เวลาในการทำลายฝ่ายตรงข้ามเสมอ เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น เดินขึ้นตึกสูงทางบันไดด้วยความเหนื่อยยากกว่าจะสามารถล้มรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีปฏิวัติ รัฐประหาร หรือวิธียุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

แต่สำหรับประเทศไทยในยุคนี้ การยุบสภาคงไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรครัฐบาลมาเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ เพราะการเมืองประเทศไทยกลายเป็นการเมืองระบบ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กยังไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ได้แต่เพียงคอยรับเชิญเข้าเป็นรัฐบาลผสมเท่านั้น

ในความเป็นจริง พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีที่มั่นอย่างมั่นคงในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และไม่สู้มั่นคงนักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ดังนั้นเมื่อรวมกันทั้งสภา พรรคเพื่อไทยจึงมีที่นั่งในสภามากกว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่น ๆ เสมอ ในการเลือกตั้งทั่วไป

ครั้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยสามารถครองที่นั่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ถ้าต้องการ และแนวโน้มยังเป็นเช่นนั้นอยู่

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะมีขึ้นในปี 2561 ตามที่คณะรัฐประหารให้คำมั่นสัญญากับทั่วโลกเอาไว้ ส่วนจะมีการลากยาวไปถึงปลายปี 2562 หรือแม้แต่ปี 2563 หรือไม่

ก็ต้องคอยติดตามว่าการไม่รักษาวาจาสัตย์ของเหล่าทหารชุดที่ทำรัฐประหารชุดนี้ ชุดที่ไม่เคยรักษาคำพูดมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ว่าจะลากไปยาวได้แค่ไหน

อาศัยประชาชนคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในกระแสประชาธิปไตยจึงสามารถถูไปไถมาได้ โดยไม่มีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันในการพัฒนาการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคม อย่างที่ให้สัจวาจาไว้กับประชาชนเจ้าของประเทศ

เป็นธรรมชาติของการเมืองไทย คนไทยในเมืองที่มีความคิด ความเห็นทางการเมือง และสนองตอบต่อภาวะเศรษฐกิจซึ่งค่อนข้างจะซบเซาอยู่ในขณะนี้ ยังมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจรอบ ๆ ตัวจะฟื้นคืนชีพอย่างยั่งยืนเมื่อใด นอกจากคำพูดที่ไม่เป็นความจริงของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกของตน

เมื่อสิ่งที่ตนประสบพบเห็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนได้ยิน ได้ฟังจากรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึก ว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ตระหนักและไม่จริงใจ หรือไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการยืดเยื้อของความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ตนกำลังประสบ

ความหวัง หรือ expectation ว่า รัฐบาลจะตระหนักและหาทางแก้ไข คงจะไม่มี นอกจากพูดเอาตัวรอดไปวันวันหนึ่ง

ในขณะที่ธุรกิจบันเทิงและธุรกิจสื่อมวลชน เช่น ทีวี โทรทัศน์ ทั้งช่องดิจิทัลและช่องดั้งเดิม กำลังจะพากันล้มหายตายจากไป ทุกช่องขาดทุนหมด เพราะไม่มีโฆษณา ธุรกิจหนังสือ วารสาร หนังสืออ่านเล่น หนังสือสารคดี หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ รายเดือนและรายวัน ต้องทยอยกันปิด ต้องลดจำนวนพนักงาน ต้องลดเงินเดือนพนักงานที่เหลือ

แต่กระนั้น สื่อมวลชนก็ยังไม่เดือดร้อน ยังพูดหยอกล้อกับหัวหน้ารัฐบาลอย่างครื้นเครง สนุกสนาน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครแน่ใจว่า อีก 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้า ตนจะยังมีงานทำ จะยังมาสนุกสนานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลได้หรือไม่

แม้ว่าสมาชิกของรัฐบาลเผด็จการทหารชุดนี้จะไม่สามารถอธิบายที่ไปที่มาของ “นาฬิกาหรู” เกือบ 30 เรือนได้ รวมทั้งไม่มีเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่แจ้ง ป.ป.ช. ในการแสดงทรัพย์สินเมื่อเข้า ๆ ออก ๆ จากตำแหน่ง ที่ต้องแสดงทรัพย์สินที่มีค่าต่อ ป.ป.ช. โดยใช้ข้ออ้างที่ไม่มีใครเชื่อ คือ “เพื่อนให้” หรือ ได้รับ “มรดกจากมารดา” ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์คำชี้แจงได้ ว่า จริงหรือไม่จริง

สื่อมวลชนก็ไม่ว่าอะไร ไม่สนใจ จะมีเลือกตั้งเมื่อไร มีหรือไม่ ก็ไม่มีใครสนใจ สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ถูกยึดเอาไว้ โดยสัญญาว่า “อีกไม่นาน” ไม่เกิน 3 ถึง 6 เดือน ก็จะคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน

เหตุผลที่ใช้ในการทำปฏิวัติ รัฐประหาร ที่ใช้เป็นตำราของการทำปฏิวัติรัฐประหาร คือ หนึ่ง มีการปล่อยให้มีคนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สอง มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงการรัฐบาลและราชการ และ สาม ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ซบเซา คนส่วนใหญ่ก็ยังมีความรู้สึกว่า ปัญหาใหญ่ทั้ง 3 ปัญหา ยังคงดำรงอยู่ มิได้ลดน้อยถอยลงไปเลยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศก็ยังคงดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งก็คงไม่เปลี่ยนแปลง เท่ากับทำปฏิวัติ รัฐประหาร “เสียของ” เช่นเดียวกับที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารไว้เมื่อปี 2549 เท่านั้นเอง

ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งผลงานไม่เป็นที่พอใจของเหล่าผู้คน “เสื้อเหลือง” อาเจ้ อาซ้อ ที่เคยเป็น “กองหนุน” สนับสนุน คสช. และรัฐบาลทหารชุดนี้ก็ค่อย ๆ หมดไป หรือหมดไปแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นความจริง บรรดาคน “เสื้อเหลือง” อาเจ้ อาซ้อ อาหมวย

ทั้งหลายที่เคยนิยมชมชอบ บัดนี้กลับกลายเป็นคนที่เบื่อความไม่มีผลงาน ความหยิ่งจองหองและอวิชชา ที่ต้องได้ยินได้ฟังทุกวันศุกร์ไปเสียแล้ว การเป็นขาลงของรัฐบาลจึงเดินไปอย่างชัดเจน จากการใช้ไฟฟ้าลดลงทันทีในชั่วโมงที่มีคนชมโทรทัศน์มากที่สุด คือ 20-21 นาฬิกา ซึ่งควรจะเป็นชั่วโมงที่สถานีโทรทัศน์ได้ค่าโฆษณาต่อนาทีสูงสุด กลายเป็นเวลาที่ต้องให้ผู้นำมาออกรายการไป กลายเป็นชั่วโมงที่มีคนดูน้อยที่สุดของวันไป ฐานะการเงินของสถานีโทรทัศน์ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วก็ยิ่งแย่มากขึ้น ถ้าจะย้ายรายการนี้ไปอยู่สักประมาณ บ่าย 3 โมง หรือบ่าย 4 โมง ฐานะการเงินของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องก็น่าจะดีขึ้น อาจจะชะลออัตราเร่งของขาลงของรัฐบาลได้บ้าง ชะลอความเร็วของลิฟต์ที่ใช้เป็นขาลงไปได้บ้าง

สิ่งที่น่าห่วงอย่างยิ่งของการเมือง “ขาลง” ก็คือ เจ้าตัวไม่ตระหนักว่าตนกำลังอยู่ในลิฟต์ที่เป็นขาลง ยังคิดว่าตนยังยืนอยู่บนพื้นคอนกรีต และลิฟต์ยังลงในอัตราเร่งเดิม ไม่คิดว่าจะมีโอกาสที่ลิฟต์จะกระแทกกับพื้นคอนกรีตชั้นใต้ดินได้ หากถึงเมื่อนั้นอารมณ์และกระแสของอาเจ้ อาซ้อ และคนไทย

เสื้อเหลือง ก็จะเปลี่ยนไปเป็นความรุนแรง เป็นอารมณ์ที่เร่าร้อนอย่างที่เคยเป็นมา ความรัก ความหลง ความชอบ ที่เคยมีมาในอดีต ก็จะเปลี่ยนเป็นความโกรธ ความเกลียด ความแค้น อย่างที่เคยเกิดมาแล้ว เมื่อก่อน 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535

ถ้าหากตระหนักเสียว่าการเมืองนั้นมีขึ้นมีลง เป็นไปตามการสร้างกระแสอารมณ์ของมวลชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ และมีแนวโน้มว่าจะต่อต้านรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ยิ่งมีการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ก็ยิ่งโกรธแค้นชิงชังมากขึ้น

ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯอาจจะไม่ทราบ ไม่มีใครกล้ารายงานว่าในต่างจังหวัด ในเขตกองทัพภาค 2 และภาค 3 ทหารใช้อำนาจจากการใช้กฎอัยการศึก เข้าไปค้น ตรวจ จับ ราษฎรที่ตนคิดว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม หรือเป็นฝ่ายเสื้อแดง บางครั้งก็รีดไถ เรียกร้องผลประโยชน์ เพื่อแลกกับอิสรภาพและสุขภาพของตน ซึ่งสร้างความเจ็บปวดเดือดร้อน เจ็บแค้นให้กับประชาชน โดยไม่มีผู้แทนราษฎรที่จะเป็นปากเสียงให้กับประชาชนที่เดือดร้อน จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ เช่นเดียวกับในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดปรากฏการณ์ เพื่อเป็นเหตุผลในการของบประมาณในการปราบปรามมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้จะทำให้ความไม่สงบดำรงคงอยู่ไปอีกนาน ถ้าไม่แก้ไขหรือพยายามรับทราบความเป็นจริง

ความรู้สึกหรือแม้แต่ความเข้าใจของข้าราชการ และคณะรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในเรื่อง “รัฐบริการ” หรือ “service state” ย่อมจะไม่มี ส่วนใหญ่จะรู้สึกในเรื่องรัฐปกครอง หรือ “govern state” รัฐเป็นผู้ปกครอง ประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง รัฐบาลเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่ผู้บริหารจัดการ หรือ administrator เมื่อไม่มีความรู้สึก หรือไม่เข้าใจเรื่องนี้

ความรู้สึกว่าเป็นรัฐบาลขาขึ้น หรือรัฐบาลขาลง จึงไม่มี ยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลา

การจะใช้วิธีสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง หรือที่เรียกว่า poll ก็คงไม่ได้ความจริง เพราะสำนักที่ทำโพลก็มีอคติ มีความลำเอียง และใช้ตัวอย่างที่ไม่ใช่ตัวอย่างสุ่ม หรือ random sample ที่จะเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมดได้ ซึ่งบัดนี้ไม่มีใครเชื่อถืออีกแล้ว

การประเมินจากการแสดงออกของสื่อมวลชน สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สื่อมวลชนโดยเฉพาะรุ่นหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่มีความรู้สึก ไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่อยู่ฝ่ายประชาชนอันเป็นคนส่วนใหญ่ แต่พอใจในระบอบอำนาจนิยม ด้วยข้ออ้างว่ารัฐบาลทหารเขามีปืน ใคร ๆ ก็ต้องกลัว ต้องยอมสยบให้กับอำนาจ จะดูถูก ดูหมิ่นตนเอง และประชาชนอย่างไรในที่สาธารณะ ก็ไม่เดือดร้อนแทน

แต่ถ้าฟังจากประชาชนที่ประกอบอาชีพทุกอาชีพในระดับล่าง เช่น การค้าขาย ขนาดกลาง ขนาดเล็ก การค้าปลีก ค้าส่ง อุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง และชาวสวนยาง ต่างก็อึดอัดต่อความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก กระแสความรู้สึกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราเร่ง ไม่เหมือนการลงบันได แต่เหมือนกับการลงลิฟต์มากกว่า


การขึ้นลงด้วยลิฟต์นั้นเป็นการผ่อนแรงทั้งขาขึ้นและขาลง แต่การเมืองนั้นต่างกัน การขึ้นทางบันไดอาจจะเหนื่อยมากกว่าการขึ้นด้วยลิฟต์ ขณะเดียวกันการลงด้วยลิฟต์นั้นจะรู้สึกเหนื่อยกว่าการลงด้วยบันไดมาก และอันตรายกว่าการลงทางบันไดมาก ไม่รู้ว่าจะรู้สึกเช่นนั้นหรือไม่