เสียของหรือได้ของ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อใกล้กำหนดตามโรดแมปที่จะต้องมีการเลือกตั้ง ที่สัญญาไว้ตั้งแต่ได้ทำรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ที่ยอมรับแล้วว่าได้เตรียมการวางแผนล่วงหน้าเป็นเวลานานถึง 6 เดือน เพื่อลงมือล้มล้างรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำเป็น ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นความผิดอาญา มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตถ้าหากทำไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้า ผบ.ทบ.ทำเสียเอง โอกาสทำไม่สำเร็จแทบจะไม่มี เพราะความด้อยพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทย ไม่มีอำนาจใดจะมาถ่วงดุลอำนาจกองทัพบกได้ เพราะกองทัพเรือ กองทัพอากาศ ถูกตัดตอนไว้ไม่ให้โตมาแต่ครั้งกองทัพเรือทำรัฐประหาร จอมพล.ป.พิบูลสงคราม ไม่สำเร็จ

ผู้ที่จะถ่วงดุลกองทัพบกไทยได้ก็มีแต่มวลชน แต่เมื่อกองทัพสามารถจัดให้ กปปส.ซึ่งตนเองควบคุมดูแลให้จัดการกับมวลชนได้ ก็จบกัน เพราะมวลชนโอนอ่อนไปตามกระแสที่ถูกสร้างให้ต่อต้านนักการเมืองและระบอบการเมืองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนได้สำเร็จ กองทัพจึงไม่มีใครถ่วงอำนาจ กองทัพจึงเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ การเลือกตั้งก็ดี สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ดี ตั้งไว้เพื่อการทำ “พิธีกรรม” เท่านั้น คนไทยก็ไม่เคารพตนเอง ยอมก้มหัวรับโดยดุษณี

ดังนั้นการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนายทหาร โดยผู้ที่ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย ผู้ประณามผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งเท่ากับประณามดูถูกดูหมิ่นประชาชนชาวไทย เป็นแค่พิธีกรรมหรือปาหี่ทางการเมืองชนิดหนึ่งนั่นเอง เมื่อใช้วิธีทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง โดยให้นายทุนพรรคการเมืองที่เคยมีประวัติออกมาแสดงตัว และอาจจะเป็นนายทุนให้พรรคที่จะสนับสนุนผู้ที่เคยทำร้ายระบอบการปกครองโดยประชาชน โดยให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และประกาศดูดอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อและสมาชิกสภาผู้แทนเขต เข้าใจว่ารายละ 50 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าต้องหาเสียงให้มีผู้มาลงคะแนนเสียงให้ไม่ต่ำกว่า 250,000 เสียง ถ้าได้น้อยกว่านี้และไม่ได้รับเลือกตั้งต้องคืนเงิน 50 ล้านที่รับไป

เป็นวิธีการเดียวกันกับพรรคการเมืองแต่จ่ายมากกว่า แต่ถ้าทำไม่ได้ตามเงื่อนไข เงิน 50 ล้านที่รับไปไม่มีใครไม่กล้าคืนเพราะเป็นทหารหรือเป็นพรรคทหาร ไม่เหมือนพรรคการเมืองที่เป็นพลเรือน เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้มากกว่าผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องชั่งใจให้ดีว่า ถ้าย้ายพรรคมาแล้วต้องได้รับการเลือกตั้ง ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 250,000 เสียง เพื่อจะได้ไม่ต้องคืนเงิน 50 ล้านที่เป็นค่าตอบแทนจากการถูกดูด

คำถามต่อมาก็คือ เอาเงินจากที่ไหนมาทำการดูด คำตอบก็คือมีแหล่งทุนมากมายที่พร้อมให้ใช้ดูด เพราะถ้ามั่นใจว่าได้เป็นรัฐบาล การตอบแทนทางธุรกิจมีมากกว่านั้นมาก เหตุผลที่นำมาใช้เพื่อการทำปฏิวัติรัฐประหารจึงเป็นเพียงข้ออ้าง ไม่เป็นความจริง

การมีรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีใครดีกว่าใคร เพียงแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเราเปลี่ยนได้ ควบคุมตรวจสอบได้ แต่รัฐบาลเผด็จการทหารเราควบคุมไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ นอกจากนั้น ยังสามารถออกกฎหมายออกระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้ตนสืบต่ออำนาจผ่านระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ได้อีก

ผู้ที่ถูกดูดบางคนก็หนักใจ ด้วยความจำเป็น ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เมื่อไปรับมาแล้ว 50 ล้านบาท แต่ถ้าต้องคืนเงินเพราะหาคนมาลงคะแนนให้ตนไม่ได้ 250,000 เสียง จะทำอย่างไร อดีต ส.ส.ผู้ถูกดูดหลายคนต้องคิดหนักเพราะกำลังเล่นกับอำนาจที่ไม่มีใครตรวจสอบให้ได้ อันตรายเสียยิ่งกว่ามาเฟียหัวคะแนนเสียอีก

ผู้ที่ถูกดูดและรับเงิน 50 ล้านบาทแล้ว เป็นตายอย่างไรก็ต้องสอบให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะใช้พลร่มไพ่ไฟซื้อเสียงแล้วค่อยกลับมาถอนทุนคืนจากผู้ที่ตนสนับสนุนให้เป็นผู้นำต่อไป จึงเป็นที่เบาใจได้เมื่อมีสมาชิกวุฒิสภารองรับอยู่แล้ว 250 เสียง หากได้ ส.ส.เพียง 135 จาก 500 เสียง ก็พอแล้ว ถ้าไม่ได้กลับออกไปบวชเสียดีกว่า

พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคกับพรรคขนาดกลาง 1 พรรค หรือพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งประกาศจะเสนอหัวหน้าพรรคตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี คงไม่มีน้ำยาที่จะทำอะไรได้ จะหวังพึ่งสื่อมวลชนหลักคือหนังสือพิมพ์ก็คงจะไม่ได้ เพราะผู้นำสื่อมวลชนยุคนี้ไม่เหมือนสื่อยุคก่อนที่มีอุดมการณ์ เป็นปากเสียงประชาชนและคัดค้านเผด็จการ แม้จะถูกเผด็จการอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม ประภาส ใช้อำนาจเด็ดขาดตามธรรมนูญการปกครองชั่วคราว มาตรา 17 จับไปขังลืมก็ยังคงทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชน จนเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516

แต่ยุคนี้บรรดาคอลัมนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 70 เป็นผู้มีอาวุโสแล้วทั้งนั้น กลับทำตัวเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการทหาร ด่าทอให้ร้ายนักการเมือง ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยในหน้าหนังสือพิมพ์หลักเกือบทุกฉบับ อุดมการณ์ในการเป็นปากเสียงให้ประชาชน เป็นผู้กระหายและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ได้หดหายไปจากวิญญาณของสื่อมวลชนหลักไปเสียแล้ว

อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยประณามผู้อื่นว่าไม่มีกระดูกสันหลังก็ดี หรือเคยปฏิญาณว่าตนเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาก็ดี ก็พลอยเงียบหายไปด้วย ที่ไม่เข้าใจคือ นักการเมืองบางคนออกมายอมรับต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาว่า ตนยินดีที่ถูกดูดอย่างหน้าตาเฉย

ประชาชนถูกดูหมิ่น ถูกเหยียดหยาม ถูกดูถูกอย่างไม่มีศักดิ์ศรี ก็ไม่มีใครช่วยแก้ต่างให้ กลายเป็นตัวใครตัวมัน มิหนำซ้ำยังไปว่าผู้ที่อออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “แรง” เสียอีก เท่ากับประเทศไทยอยู่ในทศวรรษที่สื่อสูญหายไปเสียแล้ว

ปัญหาของสังคมไทยทุกวันนี้เป็นปัญหาที่แปลก กล่าวคือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการเลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ผู้คุมอำนาจรัฐไม่ต้องการให้ประชาชนเลือก ประชาชนที่ต้องการพรรคการเมืองพรรคนั้นก็ไม่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้มีประชาธิปไตย เพื่อตนจะได้เลือกพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ

ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็รู้ตัวว่า ถ้ามีการเลือกตั้งตนก็จะแพ้ ไม่มีความอดทนพอที่จะรอสัก 5-15 ปี ไม่พัฒนาพรรคเพื่อที่ตนจะได้กลับมาเป็นรัฐบาล แต่หันกลับไปร่วมมือกับทหาร ทำการล้มล้างประชาธิปไตย หรือ “คว่ำบาตร” การเลือกตั้ง ไม่คัดค้านการใช้กฎหมายย้อนหลังเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามกับตน ทั้ง ๆ ที่เป็นพรรคที่เต็มไปด้วยนักกฎหมาย ที่เคยประกาศว่าตน “ยึดหลักการ” ก็พลอยละทิ้งสิ่งที่ตนยึดมั่นไปด้วย สำหรับนักการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่เคยมีอุดมการณ์อะไรอยู่แล้วก็คงไม่มีใครว่าอะไร

การประพฤติปฏิบัติของผู้แทนราษฎร หรือการอภิปรายในสภาของผู้แทนราษฎร คงจะไม่ตรงกับรสนิยมของคนกรุงและสื่อมวลชน เข้าใจไว้ว่าเขาไม่ได้แสดงให้พวก “ผู้ดี” ในกรุงดู เขาแสดงให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งของเขา ให้ได้เห็นได้ฟัง

ลักษณะของสองนคราประชาธิปไตยของไทยนั้นชัดเจน แต่ “ผู้ดี” ในกรุงทนไม่ได้ที่จะให้ผู้แทนราษฎรของชาว “บ้านนอก” อย่างนี้มาเป็นผู้ปกครอง เป็นรัฐมนตรี สู้เอา พล.อ. พล.ท.ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยมาตลอดชีวิตตั้งแต่ประเทศไทยห่างเหินเผด็จการทหาร มาเป็นรัฐมนตรี เอานักวิชาการมาคอยเป็นที่ปรึกษาให้ แม้ว่าทั้ง 2 พวกไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับราษฎรเลยก็ตาม

ประเทศไทยเลยกลายเป็นประเทศที่มีปมด้อย เพราะผู้นำไม่เคยได้รับการยอมรับจากนานาอารยะประเทศในยุโรปและอเมริกา เมื่อได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำภารกิจอื่นและได้รับอนุญาตให้เข้าพบเพราะจะได้ซื้อของของเขา ก็ดีอกดีใจที่เขาให้เข้าพบที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง จะลุก จะนั่ง จะพูดเป็นภาษาไทยก็สุภาพเรียบร้อย สุ้มเสียงนิ่มนวล ต่างกับพูดกับประชาชนคนไทย พูดกับนักข่าวที่ทำเนียบที่ขู่เอาดุเอา ตะคอกเอาอย่างกับนายพูดกับบ่าว ประชาชนไม่เหลือศักดิ์ศรีอะไร

ถ้ายังจำกันได้ก่อนที่จะมีการทำปฏิวัติรัฐประหาร ก็มีการสร้างกระแสออกมาเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากต้องมีการปฏิรูป ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปการเมือง สร้างกระแสจนเกิดฉันทามติ หรือ consensus ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปการเมือง ต่อมาก็สร้างกระแสว่าควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านสร้างความกลัว “ระบอบทักษิณ” ใช้กระแสต่อต้านระบอบทักษิณจนเกิดการต่อต้านรัฐบาลก่อให้เกิดสถานการณ์ “เกียร์ว่าง” แล้วนำไปสู่ความเป็น “รัฐล้มเหลว” หรือ fail state

พร้อม ๆ กันนั้นก็สร้างขบวนการ กปปส.โดยแกนนำประชาธิปัตย์ออกมาเชื้อเชิญการทำปฏิวัติรัฐประหาร หลังจากนั้นกระแสการปฏิรูปการเมืองก็หายไป หลาย ๆ อย่างถอยหลังกลับไปสู่สถานการณ์หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2500 และ 2514 ไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปการเมืองให้มีการพัฒนาอีกเลย

การทำปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้ นอกจากจะเสียของ เสียยิ่งกว่าการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เสียอีก เพราะครั้งนั้นหัวหน้าคณะรัฐประหารยังรักษาวาจาสัตย์ ทำตามกรอบเวลาที่ตนสัญญากับประชาชนว่าจะคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนภายใน 1 ปี แต่การทำรัฐประหารครั้งนี้ได้ “เสียสัตย์” ผัดวันคืนประชาธิปไตยไปเรื่อย ๆ จนเกิน 4 ปีแล้วก็ยังไม่แน่ว่าจะคืนประชาธิปไตยจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อใด เพราะจะทำหลังพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการใช้วาทะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ

เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้นำพรรคเพื่อไทยก็เชื่อว่าพรรคของตนจะชนะการเลือกตั้งเช่นเคย การพูดว่าจะชนะการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นความผิดกฎหมายเสียอีก หาว่าเป็นการชี้นำหรือครอบงำพรรคการเมือง ไม่รู้แปลว่าอย่างไร ความเป็นนิติรัฐหายไปไหน

ถ้าพรรคการเมืองเดิมชนะการเลือกตั้งอีก เพราะทุกอย่างยังเหมือนเดิม 5 ปีผ่านไปไม่มีอะไรทำให้ความคิดคนเปลี่ยนแปลง ยังไม่ได้ทำผิดเพราะทหารมาทำแทน จะเรียกว่าปฏิวัติ “เสียของ” เป็นรอบที่ 2 หรือไม่ ไม่ว่าสถาปนิกทางการเมืองอย่างทีม กกต.ชุดนี้ทำ แต่พื้นฐานยังเหมือนเดิม เพราะประชาชนก็ยังเป็นประชาชนคนอีสาน คนเหนือ คนกรุงเทพฯ และคนใต้ เหมือนเดิม

จะเรียกว่า “เสียของ” อีกได้ไหม เพราะของไม่ได้เสียไปไหน ของก็ยังเป็นของเดิม หลังจากเว้นการเลือกตั้งมานาน 5 ปี คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสได้มีสิทธิเข้าคูหาเลือกตั้ง ทุกครั้งก็มีคนรุ่นใหม่เข้าคูหาเลือกตั้งจำนวนมาก

แล้วจะทำรัฐประหารอีกหรือไม่