หนี้ครูประเมินครู โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ครูเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคมต่างจังหวัด มีญาติลูกหลานทั้งที่จังหวัดนครพนม สมุทรปราการ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ยึดอาชีพครูอยู่หลายคน มีบางคนได้เป็นครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการ เท่าที่ทราบทุกคนก็มีฐานะทางเศรษฐกิจที่สมน้ำสมเนื้อ เมื่อเทียบกับข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ ในจังหวัด เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร รายได้ของครูก็จัดได้ว่าไม่ได้น้อยหน้าข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ เลย

ตั้งแต่จำความได้ แม้ว่าครูจะเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตา แต่ก็เป็นอาชีพที่มีหนี้สินที่เป็นปัญหา ให้เป็นข่าวอยู่เสมอ ข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ฝ่ายปราบปราม ทุกฝ่ายก็มีทั้งที่มีหนี้สินและไม่มีหนี้สินเช่นเดียวกับครูเกือบทั้งนั้น เพราะเงินเดือนข้าราชการนั้นค่อนข้างจะต่ำเมื่อเทียบกับเงินเดือนของบริษัทห้างร้านของเอกชน แต่บริษัทห้างร้านเอกชนที่จ้างงานจำนวนมาก ๆ ก็มักจะตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดก็มักจะเป็นเพียงสาขา มีจำนวนพนักงานน้อย

ในตัวจังหวัดนั้น ข้าราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีฐานะมีจำนวนมากที่สุด นอกจากนั้นก็เป็นชาวไร่ ชาวนา ลูกจ้างห้างร้านขนาดเล็ก ในบรรดาอาชีพที่มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน ครูหรืออาจารย์จะมีจำนวนมากที่สุด เพราะโรงเรียนมีจำนวนมากทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอและจังหวัด มีโรงเรียนระดับต่าง ๆ ทั้งที่สังกัดท้องถิ่น และส่วนกลาง จำนวนครูอาจารย์และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจึงมีจำนวนมาก

ในขณะที่ครูเป็นผู้ที่มีหน้ามีตาในสังคมต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท เมื่อได้รับการบรรจุให้ไปรับราชการในชนบทแต่ก็ไม่มีบ้านพัก ส่วนใหญ่ก็ต้องไปขอพักที่บ้านกำนันหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน หลายกรณีก็กลายเป็นลูกเขยหรือลูกสะใภ้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือได้คู่สมรสที่เป็นข้าราชการครูหรือข้าราชการฝ่ายอื่น เช่น ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร หรือข้าราชการพลเรือนฝ่ายต่าง ๆ ครูจึงมีฐานะทางชนชั้นที่ค่อนข้างสูงในสังคม

จำนวนข้าราชการครูปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าจำนวนข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ แม้แต่ข้าราชการทหารทั้ง 3 เหล่าทัพรวมกันคือมีจำนวน 4-5 แสนคน ถ้ารวมข้าราชการครูที่เกษียณไปแล้วแต่ยังรับบำนาญอยู่ ก็คงจะมีจำนวนราว ๆ 9 แสนคน คำนวณจากเงินฌาปนกิจที่จ่ายศพละ 1 บาท

ครูอาจารย์ก็เหมือนกับข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ ที่เงินเดือนชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องให้คู่สมรสมีอาชีพเสริม บางรายก็ทำมาค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างก็มีไร่นาเรือกสวน ไม่ใช่ของพ่อแม่ตนก็ของพ่อแม่คู่สมรส บ้างก็มีรายได้เสริมจากการสอนพิเศษ รายได้จากการเป็นกรรมการตรวจผลงานครูด้วยกันในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง จากครูผู้บริหารโรงเรียนเล็ก ๆ ไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนใหญ่ ๆ โดยใช้จำนวนนักเรียนเป็นหลัก

สมัยก่อนการเลื่อนวิทยฐานะและการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไม่ค่อยจะมีค่าใช้จ่าย เพราะใช้วิธีสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง วิ่งเต้นได้ยากเพราะผู้ออกข้อสอบมีหลายคนและเป็นความลับ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจึงค่อนข้างโปร่งใส ตรงไปตรงมาและยุติธรรม

ระบบการสอบเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งถูกยกเลิก แล้วนำเอาระบบประเมินผลงานในการเขียนงานวิจัยมาแทนการสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนจากโรงเรียนเล็กไปโรงเรียนใหญ่ เลื่อนตำแหน่งเป็นศึกษาธิการอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการเขต ตามลำดับ

การใช้การเสนอผลงานเป็นจุดอ่อนที่เปิดให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ถ้าครูอาจารย์ทำผลงานเอง แล้วส่งผลงานให้กรรมการอ่าน ผลงานจะไม่มีทางผ่าน ต้องจ้างให้ครูด้วยกันที่ทราบดีว่าต้องเป็นใครทำ เมื่อทำเสร็จก็ต้องมีการจ่ายกรรมการอ่าน ประมาณการกันว่าต้องจ่ายคณะกรรมการคนละ 1-2 แสนบาทสำหรับครูระดับ 6 ลงมา มิฉะนั้นผลงานก็จะไม่ผ่านกรรมการ เมื่อมีเงินไม่พอครูก็ต้องหาทางกู้เงินจากแหล่งต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู

สมัยก่อนมีการจำกัดยอดหนี้เงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เช่น ครูเงินเดือน 2 หมื่นบาทก็จะสามารถกู้ได้ไม่เกิน 6 แสนบาท คือประมาณ 30 เท่าของเงินเดือน เป็นเวลา 30 ปีหรือประมาณ 360 เดือน เฉลี่ยจ่ายเงินต้นประมาณเดือนละ 1,650 บาท ดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี หลังจากนั้นปรับขึ้นลงตามภาวะดอกเบี้ยในท้องตลาด เงินที่ชำระแต่ละเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่อย่างที่เป็นข่าว แต่ก็ไม่มีปัญหาเพราะนอกจากครูอาจารย์จะสามารถกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยเอาเงิน ชพค.ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว ครูอาจจะสามารถกู้ฉุกเฉินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ได้อีกจำนวนหนึ่งในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ

สหกรณ์ออมทรัพย์มีบุริมสิทธิ มีสิทธิได้รับการชำระหนี้ก่อนสถาบันการเงินอื่น เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารออมสิน เมื่อครูเสียชีวิตจะมีเงินช่วยฌาปนกิจที่เก็บจากครูด้วยกันคนละ 1 บาท เดือนไหนครูเสียชีวิตจำนวนมากก็ต้องจ่ายมาก เดือนไหนมีผู้เสียชีวิตน้อยก็จ่ายน้อย เงินช่วยสงเคราะห์พนักงานครูในปัจจุบันจะได้ประมาณ 9 แสนบาท ซึ่งจะถูกหักใช้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูก่อน ส่วนบำนาญตกทอดประมาณ 4 แสนบาท บัดนี้รัฐบาลอนุญาตให้ครูสามารถเบิกมาใช้ก่อนได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ เหลือให้ทายาทเพียง 15 เปอร์เซ็นต์

การเปลี่ยนระบบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเลื่อนวิทยฐานะ ด้วยการสอบมาเป็นการประเมินผลงานนี้เอง เป็นเหตุให้ครูต้องวิ่งเต้นกู้หนี้ยืมสินมาจ้างให้คนทำงานวิจัยเขียนบทความวิชาการ เพื่อที่จะสามารถเสนอเป็นผลงานได้ ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางให้กรรมการอ่านผลงานเป็นเงินจำนวนมาก ขณะเดียวกันสำหรับการเลื่อนเป็นอาจารย์ 2 อาจารย์ 3 ซึ่งข้าราชการระดับ 8 ระดับ 9 ที่เปลี่ยนจากระบบการสอบเลื่อนขั้นเลื่อนวิทยฐานะมาเป็นระบบประเมินผลงาน ซึ่งกฎเกณฑ์คลุมเครือ เปิดโอกาสให้กรรมการผู้อ่านผลงานใช้ดุลพินิจได้ การวิ่งเต้นจ่ายเงินเพื่อให้ผลงานของตนผ่านก็กลายเป็นภาระทางการเงินจนต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่าย เป็นการสร้างวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการครู สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาแก้ไข

ความมีหน้ามีตาในสังคมที่ต้องรักษา เพื่อให้สามารถรักษาความเคารพนับถือของนักเรียนและผู้ปกครอง พอได้รับการบรรจุเข้ารับราชการก็ต้องซื้อรถ ต้องผ่อนรถ ซึ่งสมัยก่อนครูใช้จักรยานและพักอยู่กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน จะเข้าตัวอำเภอหรือจังหวัดก็ตอนสุดสัปดาห์ จนครูหลายคนกลายเป็นเขยเป็นสะใภ้ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน

แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว ต้องมาเช่าห้องพักหรือเช่าบ้านอยู่ในตัวอำเภอหรือจังหวัด เพราะกระทรวงศึกษาฯไม่ได้สร้างบ้านพักครู ข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ มีบ้านพักหรือไม่ก็สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้ เพราะเริ่มแรกการเข้ารับราชการบรรจุอีกจังหวัดหนึ่งแล้วย้ายมารับราชการอีกจังหวัดหนึ่ง ผิดกับเมื่อก่อนที่ครูจะสอนอยู่ในจังหวัดที่ได้รับบรรจุจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อลงหลักปักฐานได้แล้วก็อยากมีบ้านมีที่ดิน เพราะครูส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน ต้องขวนขวายเพื่อสร้างตัวเอง ส่วนมากบุตรก็จะได้รับการศึกษาดี จึงมีภาระต้องเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ เช่น สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น ส่วนที่ไม่สามารถทำได้ก็ให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือมหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตใกล้บ้าน ค่านิยมที่ว่าทุกคนต้องจบปริญญาตรีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครูต้องกู้หนี้ยืมสินมากขึ้น

ผลของการทดสอบวัดผลความรู้ของเด็กไทยโดยส่วนกลาง เช่น โอเน็ตหรือทีแคส ปัจจุบันที่ผลออกมาต่ำสุดในอาเซียนก็เป็นเพราะกรรมการผู้ออกข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สอนคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ อาจจะเคยสอนเด็กนักเรียนนานมาแล้วหรืออาจจะไม่เคยสอนเลย แต่ไปเรียนต่อจบชั้นปริญญาโท ปริญญาเอก มาจากต่างประเทศ จึงไม่คุ้นเคยไม่เคยชินกับหลักสูตร สภาพการเรียนการสอนในประเทศไทย คนออกข้อสอบไม่ได้สอน คนสอนไม่ได้ออกข้อสอบ

ข้อสอบที่ให้นักเรียนทำ หลายข้อครูที่สอนนักเรียนยังทำไม่ได้เลย การวัดผลอย่างผิดฝาผิดตัวอย่างนี้จึงไม่น่าจะยึดถืออะไรได้ เป็นที่ขมขื่นในบรรดาครูอาจารย์ที่ทำการสอนอยู่จริง ๆ ในปัจจุบัน แต่ก็พูดไม่ออก

ปัญหาหนี้ครูจึงเป็นปัญหาโครงสร้างของระบบการบริหารบุคคลที่มีอาชีพครู ปัญหาโครงสร้างของสังคมที่เกี่ยวข้อง ระบบการเลื่อนขั้นและเลื่อนวิทยฐานะ การประเมินผลงานแทนการสอบเลื่อนขั้นอย่างที่เคยทำสมัยก่อนคงจะเอาแบบอย่างมาจากอเมริกา โดยไม่ดูว่าเหมาะกับสังคมไทยที่ระบบเส้นสาย ระบบวิ่งเต้นเรียกเงินจ่ายเงินเพื่อให้ผลงานผ่านการประเมินยังเข้มแข็งอยู่

ที่เคยตื่นเต้นว่าการศึกษาของไทยต้องเปลี่ยนจากการเอาครูเป็นศูนย์กลางมาให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับชั้นเรียนที่มีนักเรียนจำนวน 40 คน ไม่ใช่ 5 คน เรื่องความรับผิดชอบของเด็กไทยที่ไม่คิดเองทำเองก็น่าคิด เพราะทางบ้านไม่ได้ปล่อยให้ทำเอง แค่ให้ขึ้นรถเมล์มาโรงเรียนพ่อแม่ยังไม่ยอมเลย

ถ้าจะแก้ไขก็ควรเลิกการประเมินผลงานเพื่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง กลับไปใช้วิธีการสอบแบบเดิมน่าจะดีกว่า เพราะวิธีประเมินผลงานก็ไม่ได้วัดอะไร นอกจากเป็นต้นตอของคอร์รัปชั่นและหนี้สินของครู

ส่วนการกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะมีเงินฌาปนกิจให้หักได้อยู่แล้ว ถ้าจำเป็นจริง ๆ

นี่แหละชีวิตครู ผู้เปรียบเสมือนเรือจ้าง