สนับสนุนให้ใช้ “เงินท้องถิ่น”

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ในการสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำให้บริษัทข้ามชาติเอกชนและคงจะรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่ทำมาค้าขาย ผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งออกขายต่างประเทศ และนำเข้าวัตถุดิบชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ให้ค้าขายด้วยเงินท้องถิ่นให้มากขึ้น แทนที่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และคงจะรวมไปถึงการเปิดบัญชีเงินฝากเป็นเงินตราสกุลอื่นที่คนค้าขายเป็นคู่ค้ากันอยู่ด้วย จะได้ประหยัดค่าธรรมเนียมที่จะต้องเปลี่ยนจากเงินสกุลที่ตนรับมาเป็นเงินบาท

ประเทศไทยเราค้าขายกับสหรัฐอเมริกาไม่มากมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เราค้าขายกับประเทศอื่น ๆ แต่ปรากฏว่าเงินที่ใช้ชำระหนี้จากการค้าขาย เราใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนถึงร้อยละ 80 เราค้าขายกับจีน 16% แต่ใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้าและบริการเพียง 3% เช่นเดียวกับการค้าขายกับยุโรปหรือประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน ก็ไม่ได้ใช้เงินริงกิต รูเปียห์ เงินกีบของลาว เงินเรียลของกัมพูชา หรือเงินด่องของเวียดนาม รวมทั้งเงินวอนของเกาหลี เงินดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน เงินที่ใช้ชำระหนี้ในการทำมาค้าขาย

หากจะให้พ่อค้าผู้ส่งออกนำเข้าใช้เงินตราสกุลท้องถิ่นในการชำระหนี้ในการซื้อสินค้า พ่อค้าผู้นำเข้าและผู้ส่งออกก็ต้องมีรายรับเป็นเงินสกุลท้องถิ่นด้วย ตัวอย่างเช่น ไทยกับมาเลเซียต้องค้าขาย มีดุลการค้าและดุลการเคลื่อนย้าย
เงินทุนที่สมดุลหรือใกล้จะสมดุลกันจึงจะใช้เงินบาทกับเงินริงกิตค้าขายกันได้ เพราะถ้าประเทศไทยเกินดุลการค้ากับมาเลเซียเป็นเวลานาน แต่ไปขาดดุลกับเกาหลีใต้เป็นเวลานาน เช่นเดียวกันไทยก็จะมีเงินริงกิตเหลือเฟือ แต่ขาดแคลนเงินวอนของเกาหลี เงินบาทก็จะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินริงกิตและถูกลงเมื่อเทียบกับเงินวอน ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ค่าเงินบาทกับริงกิต ค่าเงินบาทต่อรูเปียห์ก็จะเขย่งไม่สอดคล้องกับค่าเงินดอลลาร์ริงกิต ดอลลาร์รูเปียห์

ผู้ส่งออกที่ได้เงินท้องถิ่นเมื่อจะต้องนำเข้าสินค้าก็ต้องหันกลับไปหาเงินดอลลาร์อยู่ดี เพราะประเทศอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเงินตราอื่นที่ประเทศจะขอจ่ายย่อมไม่ยอมรับ หรือถ้าจะยอมรับก็ต้องคิดค่าธรรมเนียมสูง หรือคิดอัตราซื้อกับอัตราขายที่มีส่วนต่างมากให้คุ้มกับความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน หากต้องการจะซื้อล่วงหน้าหรือขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง

ในกรณีเป็นผู้นำเข้าและผู้ส่งออกก็ไม่มีตลาดซื้อขายล่วงหน้าของเงินตราสกุลนั้น ๆ ซึ่งถ้าเป็นกรณีดอลลาร์สหรัฐหรือยุโรปก็จะมีตลาดซื้อขายล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนให้ผู้ส่งออกและนำเข้าได้ซื้อขายกันล่วงหน้า สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์ได้แน่นอน ทำให้สามารถตั้งราคาซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์ในต่างประเทศแล้วแปลงเป็นราคาของเงินท้องถิ่นได้ และสามารถตั้งราคาเป็นเงินบาทในตลาดในประเทศได้เอกชนหลายบริษัทส่งสินค้าของตนไปขายต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ บางบริษัทส่งสินค้าของตนไปขายกว่า 160 ประเทศทั่วโลก และต้องตั้งราคาขายเป็นเงินท้องถิ่นโดยที่ตนไม่ทราบเลยว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินท้องถิ่นกว่า 160 สกุลเป็นเท่าใด และเคลื่อนไหวไปมาอย่างไร มีทั้งแข็งขึ้น มีทั้งอ่อนลง ในแต่ละวันเมื่อเทียบกับเงินบาท แต่รู้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินของลูกค้ากับเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเท่าไหร่

วิธีทำมาค้าขายตั้งราคาก็คือ ซื้อเงินดอลลาร์ล่วงหน้า 3 เดือน 6 เดือน และภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนที่ตนซื้อล่วงหน้าเช่นว่านั้นไว้ ก็สามารถกำหนดราคาสินค้าของตนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ แล้วก็ตั้งราคาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินท้องถิ่นกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้ เพราะจะรู้ต้นทุนรู้กำไรขาดทุน

เมื่อคนนำเงินสกุลท้องถิ่นที่ได้รับจากการขายสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะทุกประเทศมีตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินตราสกุลของตัว แต่ไม่มีตลาดเงินสกุลของตัวกับเงินสกุลบาท

สมมุติว่าเราจะขายข้าวให้มาเลเซียแล้วยอมรับเงินริงกิตเป็นเงินค่าข้าว เงินริงกิตที่เราได้รับก็จะต้องใช้ซื้อของจากมาเลเซียเท่านั้น แต่จะไปใช้ซื้อรถยนต์จากญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ถ้าผู้ส่งออกของเรารับแต่เงินดอลลาร์สหรัฐจากการขายข้าวให้มาเลเซีย เงินดอลลาร์สหรัฐที่รับมาจากมาเลเซียก็สามารถนำมาจ่ายซื้อสินค้าจากประเทศที่เขารับเงินดอลลาร์ได้

จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แซงหน้าญี่ปุ่นซึ่งเคยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 เคยประกาศว่าจะพยายามให้เงินหยวนเป็นเงินตราสกุลสากล เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกับจีน ภายในเวลา 20 ปี และพยายามให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินตราที่ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน โดยเริ่มต้นจะค้าขายกับฮ่องกงด้วยเงินหยวน ขณะเดียวกัน ฮ่องกงก็ตรึงค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงกับเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยการสนับสนุนจากธนาคารกลางของจีนที่ปักกิ่ง

เคยมีความพยายามที่จะลดความสำคัญของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยการสนับสนุนให้ใช้ SDR หรือสิทธิพิเศษในการโอนเงิน หรือ “special drawing right” ออกโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เป็นเงินตราที่โอนกันทางบัญชีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ไม่มีการพิมพ์ธนบัตรหรือบัตรธนาคาร แต่ก็มีปัญหาว่าในการเริ่มต้นจะแจก SDR อย่างไร ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีการแจกให้กับประเทศที่ยากจนเล็กน้อยเพื่อซื้อสินค้าและบริการจากประเทศพัฒนาแล้ว เพราะเมื่อธนาคารกลางประเทศที่รับ SDR ก็ไม่สามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกเหมือนเงินดอลลาร์สหรัฐ ในที่สุดก็เงียบหายไป

การประกาศสนับสนุนให้ใช้เงินตราสกุลท้องถิ่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงกระดาษที่ธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์ขึ้นมาโดยไม่มีทองคำหรืออะไรหนุนหลังทั้งสิ้น เมื่อธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ รับเงินดอลลาร์สุทธิก็จะนำไปซื้อทองคำ ซึ่งไม่มีดอกเบี้ยแต่มีมูลค่ามั่นคง หรือนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งมีมูลค่าไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ หรือทองคำ เป็นคำประกาศที่ไม่ต่างกับประกาศว่าจะซื้อขายสินค้าและบริการโดยวิธีแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ซึ่งเป็นไปไม่ได้

เคยมีรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง และรัฐมนตรีบางท่านประกาศว่าจะใช้ข้าวที่ขายไม่ค่อยออก ราคาตกต่ำ นำไปแลกน้ำมันกับประเทศในคาบสมุทรอาหรับที่เป็นประเทศส่งออกแทนที่จะได้เงินดอลลาร์ ธุรกรรมอย่างนี้นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การค้าแลกของกัน หรือ barter trade ซึ่งทำกันสมัยมนุษย์ยังไม่รู้จักใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

ก็น่าเห็นใจนายกฯท่านที่เห็นสินค้าเกษตรที่เราส่งออกราคาตกต่ำ เพราะความต้องการของโลกน้อยกว่าความสามารถในการผลิต เป็นเหตุให้รายได้ของเกษตรกรลดลง เมื่อรายได้ของเกษตรกรลดลงก็มีผลทำให้การค้าส่งค้าปลีก การขนส่ง พลอยซบเซาไปด้วย ส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ไปหมด ก็พยายามหาทางออกให้กับผู้ผลิต ถ้าจะส่งออกโดยผู้นำเข้าต้องจ่ายเป็นเงินดอลลาร์ ประเทศเพื่อนบ้านอาจจะไม่สะดวกเพราะไม่มีเงินดอลลาร์ แต่ถ้าเอาของมาแลกกันอาจจะสะดวกกว่า หรือค้าขายกันเองระหว่างประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้เงินท้องถิ่น การค้าขายแบบนี้ก็มีอยู่แล้วตามชายแดน หรือเรียกว่า การค้าชายแดน รวมทั้งการค้าใต้ดิน หรือการค้าสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่อาจจะทำผ่านธนาคารได้ แต่ทำได้ไม่มาก การค้าขายทำได้จำกัดและไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด

ได้มีการพยายามหาทางออกอย่างอื่นโดยการสร้างเงินที่ไม่มีธนาคารกลางของประเทศใดเป็นเจ้าของ ที่เรียกว่า บิตคอยน์ เป็นเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่สามารถเก็บไว้เป็นการรักษามูลค่าของสินค้าและบริการได้เหมือนกับเงินตราสกุลหนึ่ง ธุรกรรมและจำนวนเงินในแต่ละกระเป๋าที่เจ้าของสามารถส่งกันไปมาผ่านรหัสลับ ไม่มีผู้ใดตรวจสอบได้

เมื่ออ่านข่าวว่าเจ้าของบิตคอยน์ที่ประเทศฟินแลนด์ แจ้งตำรวจไทยว่าถูกคนไทยโกง โดยส่งบิตคอยน์มาให้เพื่อลงทุนในตลาดทุนของไทยแล้วไม่ส่งสินทรัพย์ที่ลงทุนให้ ก็ไม่ทราบว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างไร ในเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ถือว่าบิตคอยน์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย การแลกเปลี่ยนซื้อขายผ่านทางรหัสลับที่ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ผ่านสถาบันการเงินหรือผ่านก็ตรวจสอบไม่ได้ ขอให้ใช้ความระมัดระวังรับผิดชอบตัวเอง จึงไม่แน่ใจว่าธุรกรรมผ่านบิตคอยน์จะมีหลักฐานผูกมัดพอที่ตำรวจจะออกหมายจับให้ฝรั่งได้ ต้องคอยดู เป็นคดีที่น่าสนใจ

การที่รัฐมนตรีคลังก็ดี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี หลาย ๆ ท่านออกมาแสดงความคิด แนะนำพ่อค้าให้ค้าขายโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่น เช่น ค้าขายกับจีน ก็ใช้เงินหยวนกับเงินบาท ค้าขายกับฮ่องกงก็ใช้เงินดอลลาร์ฮ่องกงกับเงินบาท เป็นต้น


ฟังดูก็เก๋ดี แต่เป็นไปไม่ได้