จีนในเวทีการเมืองโลก

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

บทบาทของจีนในเวทีการเมืองของโลกทุกวันนี้ยังคงโดดเด่น เป็นการคานอำนาจของมหาอำนาจฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป อาจจะรวมไปถึงรัสเซียด้วย

การที่เศรษฐกิจของจีนยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงกล่าวคือ ในอัตรา 6-7 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับการขยายตัวของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในไม่ช้าจีนจะมีขนาดของเศรษฐกิจแซงหน้าญี่ปุ่น ขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ในขณะเดียวกันสัดส่วนของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการของจีนก็มีขนาดถึง 1 ใน 4 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศของโลก

การที่ขนาดของรายได้ประชาชาติหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนมีสัดส่วนที่สูงดังกล่าว จีนจึงกลายเป็นหัวรถจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจของโลก การขยายตัว การชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีน ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของโลกเป็นของธรรมดา นอกจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกแล้ว จีนยังเป็นผู้ถือเงินทุนระหว่างประเทศหรือเงินดอลลาร์มากที่สุดในโลก มากกว่าญี่ปุ่น การเคลื่อนย้ายเงินทุนของจีนก็จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินดอลลาร์ด้วย

การที่เศรษฐกิจของจีนใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคต่าง ๆ ก็ย่อมจะมีสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะเหตุที่ความร่ำรวยของจีนเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศรับการหลั่งไหลของเงินทุนและเทคโนโลยีจากตะวันตก และเนื่องจากขณะนั้นจีนมีแรงงานที่เหลือเฟือ อัตราค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับแรงงานจีนเป็นแรงงานที่นำมาฝึกฝนได้ง่าย จีนจึงสามารถส่งสินค้าออกไปตีตลาดอเมริกาและยุโรปได้อย่างง่ายดาย สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาถูก จนจีนได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงานของโลก เมื่อจีนสามารถตีตลาดโลกสำเร็จ การจ้างงานขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

การบริโภคภายในประเทศถีบตัวสูงขึ้นขนาดของตลาดและกำลังซื้อภายในจีนจึงกลายเป็นตลาดที่สำคัญของอุตสาหกรรมของจีนเอง จีนจึงกลายเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบเช่น น้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุอย่างเช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม เป็นต้น แต่เป็นผู้ส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเทคโนโลยีในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับต่ำไปถึงระดับสูง

เป็นของธรรมดาอยู่เองเมื่อเศรษฐกิจใหญ่โตขึ้น ผลประโยชน์ของจีนในด้านต่าง ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ก็ย่อมจะต้องสูงขึ้น เมื่อผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สูงขึ้น การพัฒนากองทัพของจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนก็เป็นสิ่งจำเป็น กองทัพจีนจึงมีการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ กล่าวกันว่าทหารประจำการของกองทัพจีนมีจำนวนมากที่สุดในโลก เป็นกองทัพที่มีแสนยานุภาพเป็นอย่างมาก เป็นรองก็แต่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียเท่านั้น ตามทรรศนะของคนทั่วไปซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

บทบาทของจีนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีจึงต้องมีเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยตามความสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารของจีน

การที่จีนเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อปักกิ่งได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประเทศจีนทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐจีนที่ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกาไม่เห็นความแตกต่างกันในเรื่องการมี “จีนเดียว” หรือ One China เพียงแต่ว่ารัฐบาลใดเป็นรัฐบาลที่ถูกกฎหมาย เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกซึ่งแทนด้วยสหประชาชาติ

เมื่อรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนของประชาชนจีนทั้งหมดในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีอำนาจยับยั้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงเองได้ แม้ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงด้วย แต่บทบาทของอังกฤษและฝรั่งเศสในสายตาของประชาคมโลกก็มีไม่มาก เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสมีฐานะเสมือนเป็นบริวารของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นในเวทีการเมืองและกำลังทหารของโลก สำหรับญี่ปุ่นนั้นแม้จะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ในทางการเมืองและการทหาร ความสำคัญของญี่ปุ่นมีไม่มากและถูกมองว่ามีฐานะเหมือนอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะไม่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ เพราะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและต้องพึ่งพาตลาดอเมริกาและยุโรป รองรับการผลิตของประเทศของตน รวมทั้งต้องพึ่งกองกำลังของสหรัฐในการรักษาความมั่นคงของตน

ในฐานะที่เป็นเจ้าของเงินทุนระหว่างประเทศที่ใหญ่โตที่สุดในโลก หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการเงินทุนเหล่านี้มากนัก นอกจากนำไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอเมริกัน เพื่อให้รัฐบาลอเมริกันนำไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณของตน ผ่านทางตลาดทุนที่นิวยอร์ก ผ่านธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จีนต้องการเป็นผู้ให้กู้เงินตราระหว่างประเทศ จึงได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศแห่งเอเชีย หรือ Asian International Investment Bank หรือ AIIB แทนที่จะปล่อยผ่านธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ที่อยู่ใต้อำนาจการจัดการของญี่ปุ่นในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เหมือนกับสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารโลก

เมื่อจีนมีฐานะเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร การเมืองและการเงินระหว่างประเทศ แต่มีฐานะที่แข็งแกร่งกว่าญี่ปุ่น เพราะเป็นอิสระจากอเมริกามากกว่าญี่ปุ่น จีนจึงได้รับความเกรงอกเกรงใจจากประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ละตินอเมริกาและแอฟริกา ในฐานะที่เป็นตัวถ่วงดุลสหรัฐอเมริกาเมื่อรวมกับรัสเซีย อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งถ้าไม่ทั้งหมด

เมื่อจีนมีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวยขึ้น จีนก็ต้องจ่ายเงินให้กับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติในสัดส่วนที่สูงขึ้น ขณะนี้จีนเป็นประเทศที่จ่ายเงินให้สหประชาชาติในการดำเนินงานมากเป็นที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แทนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเลื่อนลงไปเป็นที่ 3 การที่จีนต้องรับภาระจ่ายเงินเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายของสหประชาชาติมากขึ้น

จีนก็สามารถเรียกร้องให้สหประชาชาติมีพนักงานที่เป็นคนจีนในสัดส่วนมากขึ้นด้วย การมีคนจีนเข้าไปเป็นพนักงานมากขึ้นก็ย่อมจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายขององค์กรไม่มากก็น้อยในทางปฏิบัติต่อไปเราคงได้ยินข่าวบทบาทของจีนมากขึ้น การที่จีนต้องสร้างอำนาจทางทะเลเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของเส้นทางเดินเรือในบริเวณทะเลจีนคงจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นการสร้างความกดดันทางด้านความมั่นคงให้แก่กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะเวียดนาม ฟิลิปปินส์อินโดนีเซียและอาจจะรวมถึงพม่าด้วย การมีความสัมพันธ์กับจีนจึงมีทั้ง “โอกาส” และ “ความมั่นคง” การรักษาความสมดุลในเรื่องทั้งสองจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตท่ามกลางการเป็นคู่แข่งของมหาอำนาจทั้งสาม อันได้แก่ ตะวันตก นำโดย สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย การเมืองของโลกยังเป็นการเมืองสามเส้าอยู่ตามเดิม

ทางด้านวัฒนธรรมซึ่งมีความคิดว่าจีนน่าจะมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมกับสังคมไทยมากยิ่งขึ้น เพราะฐานะทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีน การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาค้ำจุนภาวะเศรษฐกิจของนักธุรกิจไทย คนไทยคงจะนิยมจีนมากยิ่งขึ้น แต่การณ์มิได้เป็นอย่างที่คาด ความที่นักท่องเที่ยวและการลงทุนรายย่อยของจีนไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วเกินไป คนจีนที่เข้ามาจึงปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยไม่ทัน จึงเกิดมีความรู้สึกต่อต้านจีนของนักธุรกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า

ที่แปลกก็คือคนไทยที่มีความรู้สึกต่อต้านการหลั่งไหลเข้าไทยของคนจีนที่รุนแรงกลับเป็นไปในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ และมักจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนรุ่น 2 หรือรุ่น 3 เท่านั้น ความรู้สึกต่อต้านน้อยลงสำหรับรุ่นที่ 4 ขึ้นไป ข้อสังเกตดังกล่าวน่าสนใจมาก สาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ความรู้สึกเช่นว่าจะเป็นความรู้สึกชั่วคราวหรือเป็นความรู้สึกถาวรต่อไปในอนาคต จะเป็นความรู้สึกของคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองใหญ่เท่านั้น หรือเป็นโดยทั่วไป ทั้ง ๆ ที่เมืองใหญ่ประชากรส่วนใหญ่ก็มีเชื้อสายจีนทั้งนั้น คนชนบทเท่านั้นที่เป็นคนเชื้อสายไทยแท้กว่าคนในเมือง

ทศวรรษนี้และทศวรรษหน้าน่าจะเป็นทศวรรษของจีนที่จะมีบทบาทมากขึ้นในทวีปเอเชีย จึงคงจะกลับไปเป็นมหาอำนาจทางทะเลเช่นเดียวกับในอดีตอีก ดังเช่นครั้งที่จีนเคยลงทุนสร้างกองทัพเรือและได้แสดงแสนยานุภาพโดยการเดินทางไกลไปเกือบรอบโลกมาแล้ว ประวัติศาสตร์อาจจะย้อนกลับไปสู่อดีตอีกก็ได้