เดือนของการเปลี่ยนแปลง

แฟ้มภาพมติชน

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์เริ่มต้นของปีงบประมาณแผ่นดิน 2562 เป็นสัปดาห์ที่บรรดาผู้อาวุโสในวงราชการที่อายุครบ 60 ปีต้องเกษียณอายุ อำลาราชการไปอยู่กับบ้าน หรือไม่ก็ไปทำงานกับบริษัทห้างร้านเอกชน ที่ต้องการความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของท่านเหล่านี้ หลายท่านมีลูกศิษย์ลูกหาทำงานอยู่ในวงการอุตสาหกรรม วงการการเงิน วงการกฎหมายและอื่น ๆ ก็มักจะได้รับเชิญให้มาช่วยให้คำแนะนำ ที่สำคัญที่สุดสังคมไทยเป็นสังคมพวกพ้อง มีรุ่นพี่รุ่นน้องจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน เหมือน ๆ กับญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี

ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องร่วมสถาบันเดียวกันย่อมมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศเอเชียเท่านั้น แม้แต่อเมริกา ยุโรป หรืออังกฤษ ความเป็นศิษย์เก่าจากสถาบันเดียวกันก็ยังมีความหมาย

ผู้บริหารของบริษัทที่หุ้นใหญ่เป็นนักเรียนวาร์ตัน ผู้จัดการ ผู้บริหารก็มักจะเป็นนักเรียนจากวาร์ตัน เช่นเดียวกับบริษัทที่มีผู้บริหารเป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด เบิร์กเลย์ เยล พรินส์ตัน ก็จะมีแนวโน้มดึงนักศึกษารุ่นน้องเข้าบริษัทตัวเอง ถ้ามีความสามารถเพียงพอก็สนับสนุนให้เป็นใหญ่ด้วย การช่วยเหลือพรรคพวกรุ่นน้องจากสถาบันการศึกษาเดียวกันในเมืองไทยยังน้อย ถ้าเทียบกับศิษย์มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเกียวโต มหาวิทยาลัยโอซากา หรือมหาวิทยาลัยฮิโตะสึบาชิ เป็นต้น

เมื่อเกษียณอายุไปแล้ว บริษัทก็จะดูแล แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาบ้าง ตั้งให้เป็นอาจารย์ผู้บรรยายในการฝึกอบรมพนักงานเข้าใหม่ แม้ระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นจะสู้ของฝรั่งไม่ได้เพราะเงินน้อยกว่า เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องออกมาอยู่ต่างประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่า ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า จนกลายเป็นชุมชนคนสูงอายุที่มีเพื่อนฝูงอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่เหงาเหมือนอยู่ญี่ปุ่น ไม่ต้องเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายอย่างที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

แต่คนไทยโชคดีที่ครอบครัวยังเป็นครอบครัวแบบเอเชีย ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย หลานเหลนอยู่ด้วยกันได้ เป็นธรรมดาที่ลูกสาวคลอดลูกจะโทรศัพท์มาขอให้ย่าหรือยายไปช่วยเลี้ยงหลาน โทรศัพท์ไปหาเพื่อน ๆ หลายคนปรากฏว่าอยู่บอสตัน อยู่ชิคาโก อยู่วอชิงตัน ดี.ซี. อยู่ฟิลาเดลเฟีย ไปช่วยเลี้ยงหลานให้ บางคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่มีทหารเกณฑ์มารับใช้ที่บ้าน เป็นข่าวฮือฮาใหญ่โตทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจว่าที่ไหนก็เหมือนกันแม้แต่กองทัพสหรัฐ หรือกองทัพปลดแอกของประเทศจีน ส่วนจะหนักเบามากน้อยเพียงใดก็สุดแต่ผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วย แต่มีกฎอยู่ว่าการลงโทษห้ามแตะเนื้อต้องตัวทหารผู้ถูกลงโทษเท่านั้น ส่วนการสั่งให้วิดน้ำ ให้วิ่ง ให้กระโดดกบ ฯลฯ นั้นเป็นของธรรมดา

ปกติวันที่ 1 ตุลาคมของปีที่ ผบ.ทบ.ต้องพ้นจากตำแหน่งไป พร้อมกับมี ผบ.ทบ.คนใหม่ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ก็มักจะเป็นข่าวที่ฮือฮากัน ชวนกันวิเคราะห์ไปถึงโครงสร้างอำนาจใหม่ในกองทัพและในวงการการเมือง ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับกันแล้วทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ มีอำนาจมากเป็นที่ 2 รองจากนายกรัฐมนตรี ในทางกฎหมาย (de jure) คณะรัฐมนตรีมีอำนาจมากกว่า แต่ในความเป็นจริง (de facto) ก็ไม่แน่นักว่าใครจะมีอำนาจบารมีมากกว่ากัน ยิ่งถ้า ผบ.ทบ.วางตัวทำเคร่งขรึม พูดน้อย แต่ปล่อยให้ผู้บังคับบัญชาที่แม้จะเคยเป็นทหารพล่าม พูดน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง หาสาระไม่ได้ บารมีย่อมจะยังเกิดแต่ ผบ.ทบ. และการดูถูกเหยียดหยามก็จะเกิดกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นของธรรมดา นาน ๆ ไปก็จะกลายเป็นความเกลียดชัง เพิ่มความรักเคารพยำเกรง ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งไปโดยอัตโนมัติ

แต่ปีนี้บรรยากาศกลับหงอย ๆ ไม่สู้จะมีความตื่นเต้น เพราะอาจจะตรงอย่างที่สื่อมวลชนเคยคาดเดาเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ หรือตำแหน่งรอง ๆ ลงไปที่จะมาคอยเข้าคิวเป็นผู้บังคับหน่วยต่อไป

อีกทั้งไม่มีทหารแตกแถวออกมาพูดนอกลู่นอกทางให้เป็นข่าวฮือฮา การเมืองถ้าจะมีสีสันตื่นเต้นเห็นจะต้องรอไปจนถึงวันที่ 24 ก.พ. ถึงวันที่ 5 พ.ค.ตามแผนการเดิมของคณะรัฐประหาร ซึ่งก็ยังเบลอ ๆ อยู่ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารจะเอาอย่างไร แม้จะมีการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ แต่ดูบุคลากรไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค กรรมการพรรค รวมทั้งเลขาธิการและโฆษกพรรค ดูเหมือนเป็นเด็ก ๆ เล่นขายของ ไม่เหมือนพรรคการเมือง ส่วนตัวจริงที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่จะเป็นแกนนำของพรรค ไม่ทราบว่าเป็นใคร มีแต่ “มือใหม่หัดขับ” ทั้งนั้น เลยไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไรสำหรับพญาอินทรี อย่างหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหาร

นอกจากเดือนตุลาคมจะเป็นเดือนของการเปลี่ยนแปลง เป็นเดือนที่ตามปกติจะคึกคักมีชีวิตชีวาแล้ว เดือนตุลาคมก็เป็นเดือนที่ลมฟ้าอากาศเปลี่ยนฤดู จากฤดูฝนมาเป็นฤดูหนาว เปลี่ยนจากน้ำนองตลิ่งมาเป็นฤดูหนาว

จำได้ว่าวันปิยมหาราชที่พวกเรานักเรียนไปเดินดูพวงมาลาของโรงเรียนต่าง ๆ พร้อม ๆ กับไปแซวนักเรียนหญิง อากาศก็หนาวแล้ว ต้องใส่เสื้อกันหนาว ปากต้องทาสีผึ้ง สมัยนั้นยังไม่รู้จักลิปสติกเหมือนสมัยนี้

สำหรับการเมือง ถ้าผ่านต้นเดือนไปแล้วไม่มีอะไรก็จะสงบเงียบ การอภิปรายผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีโดยรัฐบาลทหารก็จะจืดชืด ไม่มีใครกล้าซักถามอภิปรายมากเพราะสภาที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีเป็นสภาฝักถั่ว มีการกำหนดคนอภิปรายสัก 4-5 คน แล้วก็จะมีคนที่เตรียมไว้เสนอให้ปิดอภิปราย เพราะอภิปรายมามากแล้วประธานขอผู้รับรอง 20 คน แล้วก็ให้ลงมติปิดอภิปราย ให้คะแนนผ่านอย่างท่วมท้น ตามโผของวิปที่รับมาตอนลงชื่อเข้าร่วมประชุม จากนั้นก็เรียกประชุมสภานิติบัญญัติไปเรื่อย ๆ

สำหรับประชาชน ไตรมาสสุดท้ายนั้นก็จะเป็นไตรมาสแห่งความรื่นเริง เพราะจะเป็นฤดูเกี่ยวข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง แล้วพรรคการเมืองก็จะขยับจัดให้ชาวนาออกเดินขบวน ออกมาประท้วงให้ประกันราคาข้าวอ.ต.ก.สังกัดกระทรวงเกษตรฯก็จะผลักดันให้มีการรับประกันราคาข้าว หรือรับจำนำข้าวเปลือก ส่วน อคส.สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ก็จะผลักดันให้มีการรับจำนำข้าวสาร ทั้ง 2 หน่วยงานอ้างว่าเพื่อดันราคาตลาดให้สูงขึ้น แต่ไม่ได้ผล เพราะสินค้าเกษตรที่ผลิตล้นตลาดเกินความต้องการภายในประเทศ ต้องพึ่งพาการส่งออก ราคาที่ขายได้ต้องเป็นไปตามราคาตลาดโลก ไม่ว่าจะใช้มาตรการใด ๆ ก็ย่อมไม่พ้นกฎเกณฑ์ดังกล่าว

ราคาสินค้าพืชผลการเกษตรปีนี้คงจะยังไม่ฟื้นตัว ก็คงอยู่ในระดับต่ำตามวัฏจักร แต่การเรียกร้องให้รัฐบาลทหารจัดงบประมาณเพื่อประกันหรือจำนำสินค้าเกษตรคงจะเป็นไปได้ยาก และไม่ควรจะเป็นการผลิตและการส่งออกข้าวหอมมะลิมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ข้าวคุณภาพต่ำที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดลดลงเรื่อย ๆ แต่ยอดรวมแล้วการผลิตสินค้าเกษตรทุกตัวมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่าชาวนาผู้ผลิตข้าว “ไม่ได้ขาดทุน”

เพราะถ้าหากขาดทุน การผลิตควรจะลดลง เป็นไปไม่ได้ที่ชาวนาจะยอมอดทน ยอมขาดทุนปลูกข้าวมาตลอด 4-5 ปี และยังจะผลิตปลูกข้าวต่อไปในอนาคตด้วย

มาตรการต่าง ๆ ที่อ้างว่าออกมาช่วยชาวไร่ชาวนาโดยใช้งบประมาณขาดทุนมหาศาล เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของชาวนาที่เป็นหัวคะแนนของรัฐบาลรับไปแจกจ่ายให้กับชาวนาในสังกัดชาวนาโดยทั่วไป ไม่ได้ประโยชน์โพดผลอะไรเลย

เมื่อจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในระหว่างวันที่ 24 ก.พ. ถึง 5 พ.ค. 2562 คงจะต้องคอยดูว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ จะชูนโยบายอะไรเป็นนโยบายหลักของพรรคตัวเอง ที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง

ทางเศรษฐกิจนั้นยังนึกไม่ออกว่าพรรคการเมืองจะเสนออะไร ทั้งในแง่การเงินการคลัง การลดช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจน การพัฒนาประเทศของเรามาไกลมากแล้ว จำนวนคนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น จำนวนคนจนจริง ๆ มีน้อยลงมากที่ให้มาลงทะเบียนคนจนจำนวน 11 ล้านคน ก็ไม่แน่นักว่ามาตรการจะตรงกับเป้าหมาย การออกคูปองให้ไปซื้อได้ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งผู้ที่จัดหาและผลิตสินค้าสนองความต้องการของร้านธงฟ้าก็ยังสงสัยว่าจะโปร่งใสแค่ไหน เรื่องคงจะแดงขึ้นสักวันหนึ่ง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองจากนี้ไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ก็คงจะเงียบ ๆ เหงา ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจของรายย่อยแย่ลงเกือบทุกสาขาอาชีพ ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งในต่างจังหวัด แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูด สื่อมวลชนที่เคยเป็นปากเสียงให้กับประชาชนก็เงียบ ไม่มีใครกล้าออกมาพูด

เพราะกลัวถูกด่า หรือไม่ก็เห็นดีเห็นงามไปกับเขา