รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2018

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

 

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้เป็นของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันทั้ง 2 คน อันได้แก่ ดร.พอล เอ็ม. โรเมอร์ (Paul M. Romer) กับ ดร.วิลเลี่ยม ดี. โนร์ดเฮาส์ (William D. Nordhoues) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และวิทยาลัยธุรกิจสเติร์น แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ (Stern School of Business, NYU, New York, USA)

ดร.วิลเลี่ยม ดี. โนร์ดเฮาส์ เกิดเมื่อปี 1941 ที่เมืองอัลมูเกิก มลรัฐนิวเม็กซิโก สำเร็จปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1967

ดร.พอล เอ็ม. โรเมอร์ เกิดเมื่อปี 1955 ที่เมืองเดนเวอร์ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา สำเร็จปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 1983 จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา

ผลงานที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันทั้ง 2 ท่านได้รับรางวัลโนเบลก็คือ การต่อยอดทฤษฎีการจำเริญทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Growth Theory ของ ดร.โรเบิร์ต โซโลว์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์

ดร.โซโลว์ได้ให้คำอธิบายปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร โดยปกติก็ด้วยมีการออมให้เพียงพอกับการลงทุนที่สม่ำเสมอตลอดเวลา

ดร.โรเมอร์และ ดร.โนร์ดเฮาส์ ได้อธิบายต่อยอดทฤษฎีของ ดร.โซโลว์อีก 2 ด้าน คนละด้าน หากต้องการให้ระบบเศรษฐศาสตร์เจริญเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้งในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของโลกมีความเจริญเติบโตขึ้นอย่างมากในระยะเวลาเพียงไม่นานมานี้เอง คือประมาณเพียง 150 ปีมานี้เอง เมื่อเทียบกับระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

การที่เศรษฐกิจและสังคมเจริญก้าวหน้ามาเรื่อย ๆ ในระยะเพียงศตวรรษเศษ ๆ ที่ผ่านมา ก็เพราะสังคมสะสมความรู้เกือบทุกอย่างทั้งในด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การบริหารจัดการ ระบบตลาดและการแก้ไขขจัดอุปสรรคขัดขวางการทำงานของตลาด ทำให้มนุษย์สามารถผลิต สามารถแจกจ่ายผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยทรัพยากรธรรมชาติเท่าเดิม มนุษย์สามารถปรับปรุงเทคโนโลยีทำให้สามารถผลิตและแจกจ่ายได้มากขึ้น ๆ

การสะสมความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ดร.พอล โรเมอร์ พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกเจริญก้าวหน้ามาได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนมีความอยู่ดีกินดีมากขึ้นตามลำดับ และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตด้วย จากการสะสมความรู้ทางเทคโนโลยีกับข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะเดียวกันนอกจากความรู้จะถูกสะสมข้ามเวลาไปในอนาคตแล้ว ความรู้ยังแพร่กระจายออกไประหว่างภูมิภาคทั่วโลกด้วย ทำให้ความเป็นอยู่ ความสามารถในการผลิต สามารถแพร่ข้ามพรมแดนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย ผ่านการซื้อขายในตลาด ถ้ากลไกตลาดไม่ถูกขัดขวาง

หน้าที่ของรัฐบาลหรือผู้วางนโยบาย จึงควรตระหนักว่าทุกอย่างมีราคา ถ้ารัฐบาลจะต้องจ่ายจากภาษีอากรของประชาชนเพื่อให้มีการเพิ่มพูนความรู้ก็ควรจะต้องจ่าย เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา

ค่าใช้จ่ายในการวิจัย ค่าใช้จ่ายในการวิจัยของบริษัทเอกชนควรได้รับการยกเว้นจากภาษีมากกว่าค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ขณะเดียวกันการให้การคุ้มครองกับผู้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ จากการลอกเลียนแบบในระยะเวลาที่สมควร เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดนวัตกรรม แต่ก็ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองในระยะเวลาหนึ่งเพื่อป้องกันการผูกขาดเทคโนโลยีที่ตนค้นพบ จนไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้กลไกตลาดทำงาน

การสะสมความรู้นั้นอาจจะสร้างขึ้นได้ด้วยมูลเหตุจูงใจอย่างอื่น ไม่ควรจะพึ่งเฉพาะกลไกตลาดเป็นมูลเหตุจูงใจให้ รัฐบาลก็ดี มหาวิทยาลัยก็ดี นักวิชาการก็ดี ที่ทุ่มเทความสามารถในการทำงานวิจัยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ชาวโลก เพราะต้องการชื่อเสียง ต้องการให้ผลงานของตนได้รับการยอมรับจากสังคม ต้องการลงพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีชื่อของโลก ได้รับรางวัลเกียรติยศเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกต่าง ๆ เช่นรางวัลโนเบล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้มีการสะสมความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น สมัยก่อนความรู้ก้าวหน้าช้ามาก เพราะไม่มีมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้เกิดการสะสมความรู้

ในขณะที่มนุษย์สะสมความรู้ในการผลิตตลอดเวลาที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมในการผลิตที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด บางอย่างใช้แล้วก็หมดไป เช่น แร่ธาตุ โลหะ ป่าไม้ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ แม้ว่าการสะสมความรู้จะทำให้การจัดการดีขึ้นก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินี้ มนุษย์ก็กำลังทำลายตัวเอง

อย่างไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ เช่น ห่วงโซ่อาหาร การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ หรือการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศที่มีผลในทางลบกับชีวิตความเป็นอยู่และความสามารถในการผลิตของมนุษย์

การนำเอาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ามาอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ รวมทั้งความเจริญทางเศรษฐกิจของโลก เข้ามาเป็นสาขาหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ เช่นเดียวกับการสะสมความรู้ดังที่กล่าวมาแล้ว

โดย ดร.โรเมอร์สนใจในเรื่องการสะสมความรู้ในเรื่องการเจริญของเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ดร.โนร์ดเฮาส์ สนใจว่าในขณะที่มีการใช้ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยี มนุษย์ก็กำลังทำลายเศรษฐกิจ จากผลกระทบทางลบของการใช้เทคโนโลยีไปด้วยในขณะเดียวกันการที่มนุษย์ใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างมหาศาล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นต้น มนุษย์กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นลบ

และเป็นต้นทุนอย่างมหาศาลกับสังคมมนุษย์ ดังนั้น ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ควรถูกเรียกเก็บภาษีที่เรียกว่า carbon tax ผู้ที่ปลูกป่า รักษาป่า ก็ควรได้รับการชดเชย carbon credit หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากคลื่นมหาสมุทร ควรได้รับการชดเชย เพื่อลดภาวะโลกร้อน

ทฤษฎีความจำเริญเศรษฐกิจหรือ Economic Growth Theory เป็นการวิเคราะห์การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาไปในอดีตและในอนาคตระยะยาว ซึ่งไม่เหมือนกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หากมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการคลัง มิได้นำมิติเวลาระยะยาวเข้ามาเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ ซึ่งต่างกับทฤษฎีความจำเริญทางเศรษฐกิจ

ผู้ที่มีผลงานทางทฤษฎีความจำเริญทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์เอ็ดมุนด์ เฟลป์ส (Edmund Phelps) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จากผลงานที่ทำในขณะที่สอนอยู่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ที่แสดงให้เห็นว่าหากต้องการจะให้ประเทศมีการเจริญเติบโตได้ในอัตราสูงในระยะยาว อัตราการออมและการลงทุนจะต้องเป็นอันเดียวกัน ปกติอัตราการออมของครัวเรือนจะสูงกว่าอัตราการลงทุน ดังนั้น การลงทุนของภาครัฐบาลจึงมีบทบาทสำคัญที่จะรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ผลงานของ ดร.โรเมอร์และ ดร.โนร์ดเฮาส์ จึงเป็นคำตอบว่านโยบายและมาตรการของรัฐบาล มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้เกิดการสะสมความรู้ ความเข้าใจเทคโนโลยี ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และความรู้ความเข้าใจผลในทางลบต่อสภาพธรรมชาติ ต่อสภาพภูมิอากาศของเมือง ต่อเศรษฐกิจและสังคม หรือก่อให้เกิดมลพิษ รวมไปถึงการเกิดก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จนเกิดการเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานสกปรกมาเป็นพลังงานที่สะอาด โดยรัฐต้องยอมจ่ายเพื่อลดสภาวะดังกล่าว

การเรียกร้องให้มีมาตรการลดภาวะทางลบในระยะยาวของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยาก ต้องอาศัยความร่วมมือกันของประเทศอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ เช่นก๊าซเรือนกระจกทุกประเทศ แต่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศออกมาอย่างเห็นแก่ตัวว่าเขาไม่เชื่อ และจะไม่ออกมาตรการที่เป็นภาระกับอุตสาหกรรมของอเมริกันตามปฏิญญาปารีสที่กำลังเจรจากันอยู่ ขณะเดียวกันจีนกลับเป็นประเทศที่สนับสนุนเรื่องนี้

การให้รางวัลโนเบลแก่ ดร.โรเมอร์และ ดร.โนร์ดเฮาส์ น่าจะทำให้เกิดจิตสำนึกกับโดนัลด์ ทรัมป์บ้าง

ขอออกนอกเรื่องสักหน่อย