“ทรัมป์” กับ “สี” จะลงเอยอย่างไร

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจนกลายเป็นสงครามน้ำลาย ยังไม่มีใครทราบว่าจะลงเอยกันอย่างไร จะลงเอยโดยการฟาดฟันกันไฟจนถึงที่สุด หรือจะรบกันไปเจรจากันไป หรือรบกันไปและมีการหยุดพักรบทีละ 3-4 เดือน เพื่อรอให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีเวลาหายใจ ตรวจสอบความเสียหายของตนและฝ่ายตรงกันข้ามว่าผู้ใดเสียหายเท่าใด แล้วดูว่าจะหยิบอาวุธอะไรขึ้นมาสู้กันต่อดู ๆ ไปก็เหมือนกับการทำสงครามด้วยอาวุธที่ทั้ง 2 ฝ่ายพุ่งใส่กัน ต่างฝ่ายต่างสร้างความเสียหายให้แก่กันทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าจะว่าไปโดยคิดเป็นจำนวนเงิน หรือจำนวนสินค้าจากที่แต่ละฝ่ายผลิต ฝ่ายที่เคยได้เปรียบทางการค้าซึ่งน่าจะได้แก่ประเทศจีน น่าจะเป็นฝ่ายที่เสียหายมากกว่า เป็นฝ่ายที่เสียเปรียบทางการค้ามากกว่า ทั้งที่เป็นสินค้าและบริการ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ถ้าประเทศต่าง ๆ โดยทฤษฎีเลิกทำมาค้าขายกัน กลับไปต่างคนต่างอยู่ กลายเป็นสังคมโรบินสัน ครูโซ หรือ autarky ที่ไม่ต้องพึ่งพาใครอย่างที่ประธานาธิบดีมอนโรแห่งสหรัฐอเมริกาเคยประกาศ แต่ในที่สุดก็ต้องโดดออกมาร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1

แต่การทำสงครามการค้าครั้งนี้ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แต่ละฝ่ายไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศของตนอย่างเปิดเผยเหมือนกับการทำสงครามด้วยอาวุธผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นผลประโยชน์ที่เห็นเป็นตัวเป็นตนจับต้องได้ ต่างกับผลประโยชน์ทางการเมืองที่มีองค์ประกอบที่ซับซ้อน จับต้องไม่ได้และมักจะกระจุกตัวอยู่กับชนชั้นนำจำนวนไม่มากที่เป็นผู้นำพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคและผู้นำทางทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ แม้จะไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองเหมือนกับชนชั้นปกครองที่สามารถควบคุมผู้นำทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน และเป็นผู้นำที่มีเชื้อสายยิวเป็นส่วนใหญ่ที่ควบคุมและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ อยู่เบื้องหลังนโยบายการให้กู้ยืมเพื่อการพัฒนาของธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่กำลังเห็นจีนเป็นประเทศคู่แข่งในการเป็นผู้นำของโลก

การที่จีนเริ่มเข้ามาท้าทายความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านอาวุธและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แม้ในด้านอาวุธจีนประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนยังตามอเมริกาไม่ทัน แต่สงครามการค้าและการเงินนั้นจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐและของโลก ความพยายามผลักดันเงินหยวนให้เป็นที่ยอมรับ ให้เป็นเงินที่ชำระหนี้กันได้ในวงการค้าระหว่างประเทศ ให้ใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสำหรับธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ แต่ขนาดของธุรกรรมที่ทำโดยเงินหยวนก็ยังค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจีนจะได้ตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศแห่งเอเชีย แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ยินว่าได้มีบทบาทเข้ามาแทนที่ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียเท่าใดนัก คงต้องใช้เวลาอีกนาน

การที่เงินหยวนของจีนจะเข้ามามีบทบาทแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเข้ามาแทนที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ โดยสหรัฐสามารถบีบบังคับให้ซาอุดีอาระเบียและประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง ให้ยอมรับเงินดอลลาร์สหรัฐชำระหนี้การซื้อน้ำมันของตนและประเทศอื่นในบริเวณอ่าว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อประเทศในกลุ่มอาหรับต้องรับเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็มีแต่เงินดอลลาร์สหรัฐที่จะชำระหนี้เพื่อการนำเข้าสินค้าจากอังกฤษและยุโรป ความต้องการเชื้อเพลิงปิโตรเลียมก็เพิ่มขึ้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็สิ้นสุดลง

โดยการเข้าร่วมสงครามของสหรัฐอเมริกา หลังจากฐานทัพที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกโจมตี พร้อม ๆ กับการล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ การสูญเสียทองคำอย่างมหาศาลของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ อังกฤษจึงตัดสินใจให้เงินปอนด์สเตอร์ลิงออกจากมาตรฐานทองคำ

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ต้องสูญเสียทองคำอย่างมหาศาลในการตรึงค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ หลังจากการทำสงครามกับเวียดนามอันยืดเยื้อและพ่ายแพ้ในที่สุด ต้องถอนกำลังออกจากเวียดนาม

แม้ว่าโดยทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเสรีทางการเงินระหว่างประเทศ จะสร้างประโยชน์ให้กับทั้ง 2 ฝ่าย แม้ว่าประโยชน์ที่ได้จากการค้าขายกันอาจจะไม่เท่าเทียมกัน ในระยะสั้นเพียงแต่ว่าใครจะได้เปรียบในการผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่ากันและใครจะเสียเปรียบเชิงเทียบในการผลิตมากกว่ากัน ซึ่งในกรณีนี้อเมริกาน่าจะเสียเปรียบเชิงเทียบเมื่อเทียบกับจีนในการผลิตสินค้าและบริการ แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวอเมริกาได้เปรียบเชิงเทียบในการบริโภคและการไปลงทุนในตลาดจีน ผ่านไปในระยะยาวจีนก็ต้องกลับมาใช้สินค้าที่ทุนอเมริกันเข้าไปลงทุน ดุลการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนก็จะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุล ถ้าสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปจีนก็จะขาดดุลการค้า เมื่อค่าเงินหยวนกับดอลลาร์ปรับตัวเข้าหาค่าที่แท้จริงโดยกลไกตลาด

สมัยนี้การเงินของโลกไม่เหมือนสมัยพระเจ้าเฉียนหลง ซึ่งครองราชย์ในกรุงปักกิ่งราว ๆ รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมัยนั้นจีนค้นพบการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ทั้งลายครามลายเบญจรงค์ที่ประณีตสวยงามและเป็นที่ต้องการของยุโรปเป็นอันมาก เป็นเหตุให้จีนเกินดุลการค้ากับอังกฤษและยุโรปเป็นอันมาก เงินจากท้องพระคลังจากอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ไหลเข้าสู่ท้องพระคลังของพระเจ้าเฉียนหลงเป็นอันมาก ในที่สุดอังกฤษทนไม่ได้จึงนำฝิ่นจากอินเดียมาขาย ทำให้ชาวจีนติดฝิ่นกันงอมแงม ในที่สุดก็เกิดสงครามฝิ่นขึ้น จีนเป็นฝ่ายแพ้ ต้องปิดเมืองท่าและต้องเสียดินแดนหลายแห่งอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว

แต่การพ่ายแพ้ในสงครามการค้ากับจีนในครั้งนี้ สี จิ้นผิง จะทำอย่างเฉียนหลงได้หรือไม่ จะไม่สนใจเห็นจะไม่ได้ สมัยก่อนอังกฤษพยายามเผยแพร่ลัทธิการค้าเสรีอย่างจริงจัง แม้แต่เซอร์จอห์น บาวริ่ง ที่เดินทางมาทำสัญญาทางไมตรีและการค้ากับสยามก็พยายามเผยแพร่ลัทธิการค้าเสรี ถ้าประเทศใดขัดขืนก็ใช้กำลัง กรมพระคลังสินค้าของเราก็ต้องอนุโลมตามความต้องการของอังกฤษ เป็นเหตุให้ราคาข้าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการเปิดพื้นที่ทำนากันอย่างกว้างขวาง ที่ดินทำนามีราคาสูงขึ้น

การปรับดุลยภาพทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน คงต้องนั่งโต๊ะเจรจากัน ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้วิธีทุบโต๊ะ จะขึ้นภาษีขาเข้า จะกำหนดโควตาการนำเข้า ใช้ภาษีบีบบังคับให้ทุนอเมริกาที่ไปลงทุนในต่างประเทศไหลกลับประเทศ เพื่อช่วยให้มีการจ้างคนอเมริกันทำงาน ลดอัตราการว่างงานในสหรัฐซึ่งขณะนี้ก็มีอัตราที่ต่ำอยู่แล้วให้ลงไปอีก

การที่จีนจะเอาแต่ผลิตสินค้าและบริการ มูลค่าการส่งออกเกินดุลและสะสมไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากมาย จนอาจจะกำหนดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการสนองความอยู่ดีกินดีของพลเมืองจีน เมื่อทำมาค้าขายได้กำไรก็ควรจะจับจ่ายใช้สอย บำรุงบำเรอความเป็นอยู่ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย การศึกษาของบุตรหลาน ควรทบทวนนโยบายจำกัดจำนวนบุตร ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มการบริโภคอาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม การพักผ่อนหย่อนใจ จัดการลดอัตราการออมลง กระตุ้นให้ครัวเรือนใช้จ่ายให้มากขึ้น ออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศมากขึ้น

ทางด้านอเมริกาก็ควรจะลดอัตราการขาดดุลงบประมาณลง เพราะการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐเป็นสาเหตุโดยตรงต่อการขาดดุลของประเทศ

การประกาศว่า “อเมริกามาก่อน” ก็ดี “อเมริกาต้องเป็นมหาอำนาจแต่เพียงหนึ่งเดียว” ก็ดี “อเมริกาอยู่คนเดียวได้” ก็ดี “กองทัพอเมริกาต้องไม่แพ้ใคร” ก็ดี “การจะไปตั้งอาณานิคมในดาวพระอังคาร” ก็ดี ล้วนเป็นภาระแก่คนอเมริกันที่ต้องแบกรับภาระภาษีทั้งนั้น ไม่ควรไปขัดขวาง อเมริกาอยากทำอะไรก็ให้เขาทำไป

ไม่นานก็พังเอง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!