อาชีวศึกษาในสายตาชาวบ้าน

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
เมื่อเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก็มักจะมีข่าวความขาดแคลนวิศวกรและช่างฝีมืออยู่เสมอ พอถึงช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาก็จะมีข่าวบัณฑิตตกงานเป็นของคู่กัน

เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือมี economic boom ระหว่างปี 2529-2535 การขาดแคลนวิศวกรและช่างฝีมือก็เป็นข่าวใหญ่ เป็นเหตุให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิค ทุกแห่งได้รับงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนนิสิตนักศึกษาที่ต้องการเข้าเรียน

ต่อมาวิทยาลัยเทคนิคก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชมงคล โรงเรียนฝึกหัดครูก็ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา และต่อมาก็ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ต่อมาก็มีการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ชาวบ้านให้สมญาว่าเป็นเอ็มไอทีของเมืองไทย เป็นสถาบันเทคโนโลยีไม่ใช่มหาวิทยาลัย เพราะไม่จำเป็นต้องมีทุกสาขาวิชาอย่างมหาวิทยาลัยเขาเป็น

อย่างไรก็ตาม ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ก็มีการจัดชั้นวรรณะของการศึกษาทางด้านวิศวกรรมและอาชีวศึกษาอยู่ดี ส่วนที่อยู่ข้างบนยอดก็จะเป็นมหาวิทยาลัยดั้งเดิม อันได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าที่ตั้งขึ้นใหม่ ต่อมาก็จะเป็นมหาวิทยาลัยราชมงคล และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะปัจจัยหลายอย่างไม่ใช่คุณภาพของหลักสูตร และคณาจารย์เท่านั้น แต่อาจจะรวมถึงความเก่าแก่ ความเป็นแห่งเดียวไม่มีสาขาหรือวิทยาเขตหลายแห่ง ที่ตั้งกระจายว่าอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก

เมื่อมีมหาวิทยาลัยภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เกิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทุกแห่งก็มีวิศวกรรมศาสตร์และ

ก็เป็นที่นิยมของผู้สมัครเข้าเรียน หน่วยงานของรัฐรวมทั้งบริษัทเอกชนก็นิยมรับบรรจุเข้าทำงานและได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ส่วนผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลและราชภัฏก็จะได้รับเงินเดือนแรกเข้าต่ำกว่าวุฒิการศึกษาในกรณีที่ผู้รับเป็นบริษัทเอกชน โดยที่ผู้สมัครเข้าทำงานก็ยินดีและยอมรับการเลือกปฏิบัติดังกล่าว

การแบ่งชั้นวรรณะในระบบการศึกษา แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำและความมีหน้ามีตา โดยยึดถือเอาความสามารถเป็นหลัก แทนที่จะให้ความสำคัญกับสถานศึกษาที่ผู้นั้นสำเร็จการศึกษามาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสถานศึกษาในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามพลังของตลาด แม้ว่าอาจจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของคณาจารย์ผู้สอนอยู่บ้าง

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด คุณภาพของคณาจารย์ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในส่วนกลาง ต่างจังหวัดที่เป็นจังหวัดใหญ่ ต่างจังหวัดที่เป็นจังหวัดเล็ก โรงเรียนเอกชนที่เป็นของคริสตจักรและของเอกชนแท้ ๆ

ชื่อเสียงเกียรติยศของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่สังคมให้ความเชื่อถือ โรงเรียนมัธยมหลายแห่งกลายเป็นโรงเรียนที่นักเรียนเรียนดี เด็กทั่วประเทศมีความปรารถนาที่จะเข้าโรงเรียนเช่นว่า ก็เลยได้นักเรียนที่มีความสามารถสูงมาเข้าเรียน เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้วก็เกิดการแข่งขันกันเองในห้องเรียนตามธรรมชาติ ทำให้เกิดความตั้งใจ เกิดความขยันทำการบ้าน ทำการฝึกฝนด้วยตนเอง ไม่ใช่เกิดจากความแตกต่างของไอคิว หรือมันสมอง หรือความเป็นอัจฉริยะ หรือพรสวรรค์ ซึ่งมีไม่มากความนิยมหรือชื่อเสียงของสถานศึกษาของรัฐ จะได้รับความนิยมและความเชื่อถือมากกว่าโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยที่ไม่แสวงหากำไร

สังคมไทยนั้นให้ความสำคัญกับผู้มีการศึกษามากพอ ๆ กับการให้ความสำคัญกับฐานะทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งร่ำรวย แม้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงระบบการศึกษา แต่การเข้าถึงระบบการศึกษาอาจจะมีได้หลายทาง เพราะรัฐได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างทั่วถึง มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ และพยายามจะให้เท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ดังนั้น บิดามารดาคนไทยเกือบทุกคนต่างก็มีความประสงค์จะส่งเสียลูกหลานให้ได้เล่าเรียนในระดับสูงสุดที่สติปัญญาและฐานะการเงินที่ตนจะส่งเสียได้ หากไม่สามารถจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ ก็จะพยายามส่งเสียให้ได้เข้าศึกษาในสถานศึกษาของเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าของรัฐในสมัยก่อน หากเป็นบุตรหลานของครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี

ก็นิยมส่งบุตรหลานของตนไปเรียนที่อังกฤษ หรืออเมริกา ตั้งแต่ชั้นมัธยมหรือชั้นปริญญาตรี แต่ถ้าจะประหยัดลงมาบ้างก็ส่งบุตรหลานของตนไป

เรียนที่ฟิลิปปินส์ หรือประเทศอินเดีย ซึ่งมีโรงเรียนประจำของอังกฤษที่ฝึกหัดบุตรหลานชาวอินเดียให้มารับราชการในรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งที่เป็นรัฐบาลที่อินเดียเอง

หรือที่พม่า มลายู สิงคโปร์หรือแอฟริกาใต้ และอื่น ๆ ที่ประชากรเป็นคนผิวขาว ซึ่งต้องให้ข้าราชการชาวผิวขาวที่ส่งมาจากอังกฤษ สำหรับคนไทยที่บิดามารดาส่งไปเรียนหนังสือที่ฟิลิปปินส์

ก็ดี อินเดียก็ดี ก็ถือว่ามีฐานะทางสังคมดีกว่าผู้ที่จบการศึกษาในประเทศ และมักจะเลือกผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ส่วนประเทศฝรั่งเศส ซึ่งระบบการศึกษาเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าจะเข้าเรียนตามหลักสูตรที่จัดไว้ให้นักเรียนชาวฝรั่งเศสเรียน ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าหลักสูตรที่จัดไว้ให้นักศึกษาที่มาจากประเทศอาณานิคมเรียน และปริญญาก็ไม่เหมือนกัน ปริญญาเอกที่ให้กับผู้ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรที่จัดไว้ให้นักศึกษาฝรั่งเศสเรียน มักจะเรียกว่า ดุษฎีบัณฑิตแห่งรัฐ Docteur d’Etat ส่วนปริญญาเอกที่จบจากหลักสูตรที่จัดไว้ให้นักศึกษาประเทศอาณานิคม หรือนักศึกษาจากต่างประเทศเรียน มักจะเรียกว่า ดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัย หรือ Docteur d’Universite แต่คนไทยก็ไม่นิยมไปเรียน อาจจะเป็นเพราะไม่ถนัดภาษาฝรั่งเศส รวมทั้งระบบการศึกษาของฝรั่งเศสไม่เหมือนกับของไทย

การที่ค่านิยมของคนไทยที่ให้คุณค่ากับปริญญา มากกว่าความสามารถหรือความรู้ มากกว่าการใช้แรงงานหรือทักษะในการทำงาน เมื่อมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งจึงมักจะได้ยินเสียง

เรียกร้องต่าง ๆ จึงมีการยกฐานะโรงเรียนอาชีวศึกษา, วิทยาลัยอาชีวศึกษาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยหมด ทุกสถาบันจึงมีการศึกษาถึงขั้นปริญญาตรีเป็นอย่างน้อยทุกสถาบัน

การจะเปลี่ยนความรู้สึกและจะเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน ในเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะของสถาบันการศึกษาในประเทศ การให้การยกย่องนักเรียนนอก หันมาให้การยอมรับนับถือการศึกษาในประเทศให้มากขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการจะยกฐานะการยอมรับนับถือนักเรียนที่จบการศึกษาจากภายในประเทศให้มากขึ้น เรื่องหนึ่งคือความสามารถในการพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษ ซึ่งบัดนี้เป็นภาษาสากลไปแล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องสู้นักเรียนจากประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หรือแม้แต่ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสให้ได้

บริษัทห้างร้านที่ต้องการช่างระดับกลาง ที่ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาชั้นปริญญา ก็ต้องเสียเวลารับบัณฑิตที่จบชั้นปริญญา แต่มีความรู้ความสามารถเท่ากับนักศึกษาที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเท่านั้น เมื่อมีการสอบแข่งขันวัดผลการศึกษา เราจึงมักได้ยินว่าผู้ที่จบการศึกษาในประเทศไทยจะมีคุณภาพต่ำกว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้านเสมอ

การอ้างว่าภาษาต่างประเทศของเราไม่ดีเพราะเราไม่เคยเป็นอาณานิคมของต่างประเทศ ไม่ควรนำมาอ้างอิงอีกต่อไป ควรจะต้องให้ความสำคัญกับครูผู้สอนภาษาต่างประเทศให้มากกว่านี้ ถ้าครู

ผู้สอนภาษาอังกฤษยังพูด ยังอ่าน ยังเขียนภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศนั้นไม่ได้ จะมีปัญญาสอนเด็กไทยให้รู้ภาษาต่างประเทศได้อย่างไร

การจะเปลี่ยนทัศนคติของสังคมไทย จากค่านิยมที่ต้องให้ลูกหลานได้เรียนถึงขั้นปริญญาก็น่าจะค่อย ๆ เลิก เพราะเป็นการสูญเสียและสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ การเริ่มต้นทำธุรกิจหรือการเข้าทำงานควรจะมุ่งให้ความสำคัญกับทักษะอาชีพหรือความสามารถมากกว่าปริญญา


การให้การยอมรับนับถือในทักษะวิชาชีพของการเป็นช่างต่าง ๆ ควรจะได้รับการยอมรับนับถือมากกว่านี้ เพราะเป็นอาชีพที่ขาดแคลน แม้ว่าจะได้ค่าตอบแทนดีกว่าก็ตามแต่คงเป็นไปได้ยาก