เงินบาทแข็ง

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง”

เมื่อปี 2540 ประเทศไทยก็เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการตรึงค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลก 10 สกุล แต่ในความเป็นจริงในตะกร้าเงินเช่นว่า มีเงินดอลลาร์สหรัฐเสียร้อยละ 85 อีก 15 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินเยน เงินยูโร เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเท่ากับว่าค่าเงินบาทก็ยังผูกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ดี จนเกิดวิกฤตการณ์การเงินอย่างที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

เมื่อมีการประกาศว่าเงินบาทจะลอยตัวอย่างมีการจัดการ หรือ managed float ก็เกิดปัญหาอยู่เสมอ ในยามที่ค่าเงินดอลลาร์ผันผวนเมื่อเทียบกับเงินเยนและเงินสกุลหลัก ซึ่งบัดนี้รวมทั้งค่าเงินหยวนที่ยังไม่ได้เปิดเสรีของจีนด้วย

ที่แปลกใจอยู่เสมอก็เพราะ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมากล่าวแก้ตัวอยู่เสมอว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนหรือแข็งเมื่อเทียบกับค่าเงินของคู่แข่งและคู่ค้าไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก อัตราดอกเบี้ยไม่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทและการส่งออก ทั้ง 2 ประโยคดังกล่าว

สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินของไทยไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์มหภาคของประเทศ ซึ่งเป็นประเทศเล็กและเปิดอย่างประเทศไทย เพราะในตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคที่คนท่องจำมา เป็นตำราที่อ้างอิงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่ สัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศต่อรายได้ประชาชาติมีสัดส่วนที่ไม่สูง

สำหรับเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจประเทศเล็กและเปิด ทั้งในภาคส่งออกนำเข้าสินค้าและบริการ มีระบบการเงินที่เปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี เพราะจากการเปิดเสรีทางการเงิน การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศไทย สำหรับประเทศไทยที่การส่งออกสินค้าและบริการมีมูลค่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการเกินความต้องการของตลาดภายในประเทศถึงร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ มีกำลังการผลิตเหลือเฟือ ต้องอาศัยตลาดต่างประเทศในการระบายสินค้า และสามารถรับนักท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

เมื่อร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติได้มาจากการผลิตสินค้าส่งออกและขายบริการและสิ่งของให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 30 ล้านคน การส่งออกและการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญกับประเทศไทยมาก หากปีใดการส่งออกดี เศรษฐกิจก็จะเฟื่องฟู ถ้าปีใดการส่งออกและการท่องเที่ยวไม่ดี เศรษฐกิจเราก็จะซบเซาข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้า เราไม่สามารถกำหนดได้เอง แต่ถูกกำหนดโดยตลาดโลก ดังนั้น การที่นักการเมืองเสนอว่าจะทำให้ราคาข้าว ยางพารา อ้อย และน้ำตาล รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมมีราคาสูง ก็มีทางเดียวคือเอาภาษีที่เก็บจากประชาชนทุกคนผ่านทางภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ภาษีขาเข้า ไปอุดหนุนสินค้าส่งออก เช่น นโยบายรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งที่จริงไม่ใช่จำนำ เป็นการซื้อ เพราะราคาที่รับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ซึ่งย่อมเป็นที่คาดได้ว่าเกษตรกรจะไม่ไถ่ถอนสินค้าที่รัฐบาลประกาศรับจำนำ

ด้วยเหตุนี้ รายรับจากการส่งออกที่รับมาเป็นเงินดอลลาร์เมื่อนำมาเปลี่ยนเป็นเงินบาท ผู้ส่งออกได้รับเงินบาทเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ผู้ส่งออกก็จะได้รับเงินบาทน้อยลง เช่น เมื่อตอนตัดสินใจส่งออกตามราคาตลาดโลก เงินบาท 35 บาทเท่ากับ 1 ดอลลาร์ แล้วส่งออกสินค้ามูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ พอนำดอลลาร์มาแตกเป็นเงินบาทก็จะได้เงินบาท 350 ล้านบาท หากต่อมาเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ มูลค่าจากการส่งออก 10 ล้านดอลลาร์เช่นเดิม เมื่อรับมาแตกเป็นเงินบาทก็จะได้เงินบาทเพียง 300 ล้านบาท ก็อาจจะขาดทุน ถ้าตนต้องแข่งขันกันซื้อสินค้าภายในประเทศที่เชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศ รอบหน้าตนก็จะลดราคาซื้อจากเกษตรกรลง

ในขณะเดียวกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินบาทสูงกว่าดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ในตลาดโลก เงินทุนต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าก็จะไหลเข้ามาในตลาดทุนของไทย เมื่อเงินดอลลาร์ไหลเข้า ค่าเงินดอลลาร์ก็จะอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินบาท หรือค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ด้วยเหตุผลเช่นว่า อัตราดอกเบี้ยจึงมีความสัมพันธ์กับค่าเงินบาท ผ่านทางการเคลื่อนย้ายเข้าออกของเงินดอลลาร์ ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินบาทภายในประเทศสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ เมื่อหักความเสี่ยงแล้ว เงินดอลลาร์ก็จะไหลเข้ามาทำให้เงินบาทมีค่าแข็งขึ้น

เมื่อเงินบาทแข็งขึ้นก็กระทบต่อรายรับของผู้ส่งออก กล่าวคือได้เงินบาทน้อยลง เมื่อตลาดทั้งตลาดเป็นอย่างนี้ การรับซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพารา อ้อยและน้ำตาล ก็จะต่ำลง ผู้รับภาระขั้นสุดท้ายก็คือ เกษตรกรทั้งหลายในด้านผู้ส่งออก เพื่อให้ธุรกิจเดินไปได้ก็ต้องดำเนินการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อไม่ต้องเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน เมื่อต้องส่งมอบสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยผู้ส่งออกก็จะเอาใบสั่งซื้อจากต่างประเทศไปขายดอลลาร์ ณ อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดซื้อขายดอลลาร์ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้สามารถซื้อขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน เมื่อถึงกำหนด 3 เดือน ผู้ส่งออกก็จะได้รับเงินบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ตนขายล่วงหน้าไว้

ผู้นำเข้าก็เช่นเดียวกัน เช่น ผู้นำเข้าน้ำมันดิบเพื่อป้อนโรงกลั่น หรือผู้นำเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบ ก็จะนำคำสั่งซื้อไปซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าจากธนาคารพาณิชย์ ผู้ส่งออกนำมาขายล่วงหน้าไว้ ธนาคารพาณิชย์ก็จะเป็นคนกลางในการซื้อขาย ถ้าปริมาณดอลลาร์ที่ขายล่วงหน้าของผู้ส่งออกมีน้อยกว่าปริมาณการซื้อล่วงหน้าของผู้นำเข้า อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าของเงินบาทกับเงินดอลลาร์

กล่าวคือดอลลาร์ก็จะแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท และในทางกลับกัน ถ้าปริมาณที่ขายล่วงหน้ามีมากกว่าปริมาณเงินดอลลาร์ที่ผู้นำเข้าต้องการซื้อ ค่าเงินดอลลาร์ก็จะอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ซึ่งเท่ากับว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และเนื่องจากการส่งออกมีมูลค่าประมาณร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ มูลค่าการนำเข้าก็มีมูลค่าประมาณร้อยละ 65 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

ดังนั้น มูลค่าการส่งออกและการนำเข้ารวมกันก็ประมาณร้อยละ 135 ถึงร้อยละ 140 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เงินบาทที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการจะได้รับ และเงินบาทที่จะต้องจ่ายโดยผู้นำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ จึงขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง

ในที่สุดก็กระทบต่อรายได้ประชาชาติ รายได้ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรโดยตรง เป็นรายได้ของครัวเรือน เป็นรายได้ของชาวไร่ชาวนา ชาวสวนยาง กระทบต่อไปถึงกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศ อำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศ กระทบต่อยอดขายของภาคบริการ อันได้แก่ การค้าส่ง-ค้าปลีก การขนส่ง การผลิตสินค้าของภาคอุตสาหกรรม

เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีผลต่อค่าเงินบาท ค่าเงินบาทมีผลต่อการส่งออกและนำเข้า ถ้าค่าเงินบาทอ่อน ส่งออกก็จะเพิ่มขึ้น นำเข้าก็จะลดลง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะดีขึ้น ส่งผลให้การขยายตัวของรายได้ประชาชาติมีอัตราสูงขึ้น เมื่อรายได้ประชาชาติสูงขึ้นเพราะการขยายตัวของการผลิต ความต้องการแรงงานก็จะสูงขึ้น เมื่อความต้องการแรงงานสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็จะสูงขึ้น รายได้ของคนทำงานก็จะดีขึ้น รายได้ดีขึ้นก็จะไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคมากขึ้นไปเอง

ถ้าการส่งออกไม่ดี เศรษฐกิจของครัวเรือนไม่ดี โครงการ “ช็อปช่วยชาติ” ก็ล้มเหลว โดยเจ้าของความคิดก็ยังงงและไม่เข้าใจ ลำพังลดภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวไม่มีผลอะไรต่อการตัดสินใจให้ใช้จ่ายเพื่อบริโภค หรือจะเก็บไว้เป็นเงินออม ทั้ง ๆ ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำติดดินในยามนี้ ผู้คนก็ยังออมมากขึ้น

การที่นโยบายอัตราดอกเบี้ย นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน มีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง อันได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ จึงต้องมีการถ่วงดุลระหว่างธนาคารกลางกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงการคลังต้องทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินควรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีคลัง การเข้าสู่ตำแหน่งและการอยู่ในตำแหน่งของผู้ว่าการ ธปท. ควรเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีคลังเป็นผู้เสนอ

การคานอำนาจระหว่างกระทรวงคลังกับธนาคารกลางจึงจะเกิดขึ้น ไม่ควรเอาแบบอย่างของสหรัฐอเมริกา หรือที่ไหน ๆ เพราะ ธปท.มีความสามารถไม่พอ เท่าที่เห็นมาก็สร้างวิกฤตการณ์ให้กับประเทศหลายครั้งหลายหนแล้ว เพราะอวิชชาของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะ

ถึงเวลาทบทวน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว