ผลต่อเศรษฐกิจ

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

หลายคนที่คุยด้วย กังวลว่าสถานการณ์ที่การเมืองเจอทางตัน ถ้านายกรัฐมนตรีคนเดิมจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น สมาชิกวุฒิสภาจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 250 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มาออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่มีปัญหา คงทำได้แม้จะอธิบายเรื่องความชอบธรรมลำบาก คงอ้อมแอ้มถู ๆ ไถ ๆ ไปด้วยการอ้างจำนวนคะแนนเสียงดิบที่มากกว่า 8 ล้านเสียง ซึ่งไม่มีประโยชน์เพราะต้องนับจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว วุฒิสภาไม่ได้มาร่วมออกเสียงลงคะแนนในญัตติต่าง ๆ เพื่อจะให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องได้เสียงข้างมากในสภาล่าง สมาชิกสภาสูงที่ต้องเสียงบประมาณเงินเดือน เบี้ยประชุม ค่าเดินทางภายในประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายจ้างผู้ช่วยเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมาประชุมรัฐสภาหรือการประชุมร่วมทั้ง 2 สภาแล้วก็หมดหน้าที่ จะมีอีกทีก็ตอนพิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากไม่เห็นชอบซึ่งไม่ค่อยจะมี ก็จะต้องเข้าขบวนการประชุมร่วมกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่เกิดบ่อยนัก

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลหวังผลเลิศเกินไป รัฐบาลจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคพลังประชารัฐ ใช้พลังอำนาจรัฐและพลังอำนาจเงิน ดูดอดีต ส.ส.จากพรรคต่าง ๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่น ๆ การที่พรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพร้อมกับตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น คะแนนเสียงกลับไปอยู่กับพรรคอนาคตใหม่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ไปที่พรรคพลังประชารัฐหรือ พปชร. อย่างไรก็ตาม การจับกลุ่มพรรคการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ กับฝ่ายสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ หลายฝ่ายก็คาดว่ารัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพ การวิ่งเต้น “ขายตัว” ของสมาชิกสภาผู้แทนก็คงจะเกิดขึ้นหนัก การลงมติในญัตติสำคัญ เช่น การผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน หรือ พ.ร.บ.สำคัญอื่น

รัฐบาลก็ต้องจ่ายเงิน ต่อมาจึงมีการเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจพรรคขับไล่ ส.ส.ที่ไม่ปฏิบัติตามมติของพรรคได้ และเมื่อถูกพรรคขับไล่ออกต้องหาพรรคใหม่ภายในเวลากำหนด มิฉะนั้นก็ขาดจากสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพื่อปูทางให้มีการทำรัฐประหารรอบสองถ้าโอกาสเปิดการเมืองจึงดูวุ่นวาย เพราะจะมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อกระแสหลักอยู่ทุกวัน รัฐบาลถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่เสนอกฎหมายใด ๆ เพื่อให้สภาอนุมัติ เพราะถ้าไม่แจกซองกันก็อาจจะไม่ผ่านสภาได้ ทั้งที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา แต่สภาที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนก็มีชีวิตอยู่ได้จนเกือบครบวาระอยู่เสมอ จะถูกยุบก็เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี พอย่างเข้าปีที่ 4 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมักจะไม่ปฏิบัติตามมติพรรค เข้าลักษณะที่พูดกันว่าเข้าสู่ภาวะ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” การเมืองจึงไม่สงบ ดูสับสนวุ่นวาย

ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องออกตามพันธกรณีกับประชาคมโลก เช่น พันธะกับองค์การค้าโลก กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือพันธกรณีกับประเทศคู่ค้าที่เราไปลงนามในข้อตกลงทางการค้าการลงทุนและภาษีอากร เมื่อมีรัฐบาลเผด็จการทหาร สภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นก็จะเร่งผ่านกฎหมายที่คั่งค้างมาจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมากในเดือนสุดท้ายก่อนจะหมดอายุลง อาจจะต้องผ่านร่าง พ.ร.บ.เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายจำนวนมากถึง 250-300 ฉบับ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่หลายคนกังวลว่ารัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพในสายตาของชาวต่างประเทศและนักลงทุน จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว หรืออาจจะถึงขั้นชะงักงันหรือถดถอย ความกังวลเช่นนี้มีอยู่เสมอ ความจริงอาจจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มาก

เศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งระบบนั้นขับเคลื่อนโดยเอกชน เพราะระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจที่เสรีและเปิด เอกชนผู้ผลิต คนกลาง ผู้ส่งออก จะเป็นผู้ผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า ส่วนระบบราชการมีขั้นตอนควบคุมให้ใบอนุญาตและยุ่งยากเสมอ เพราะความไม่โปร่งใสและความมีประสิทธิภาพต่ำกว่าภาคเอกชน จนมีคำพูดประชดมาจากภาคเอกชนว่า “เศรษฐกิจไทยโตตอนกลางคืนเพราะเป็นเวลาที่ข้าราชการนอนหลับ” ซึ่งทำความขุ่นเคืองให้กับข้าราชการดี ๆ จำนวนไม่น้อย

ถ้าหากเศรษฐกิจไทยโตตอนกลางคืน หยุดชะงักตอนกลางวันเพราะข้าราชการตื่นขึ้นมาทำงาน การจะมีรัฐบาลช้าหรือเร็วจึงไม่มีผลอย่างไรกับเศรษฐกิจ เพราะระบบเศรษฐกิจก็ยังคงเดินหน้าต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน

แต่ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองต้องมีผลงาน นักการเมืองก็จะผลักดันให้ข้าราชการทำงาน ธุรกิจก็เดินหน้าเติบโตไปทั้งกลางวันและกลางคืนผลต่อเศรษฐกิจนั้นอยู่ที่ระบบ ถ้าเป็นระบอบเผด็จการที่เศรษฐกิจอยู่กับข้าราชการซึ่งกลัวต่อการตัดสินใจ เพราะถ้าไม่ตัดสินใจก็คือไม่ทำอะไรก็ไม่มีความผิด การตัดสินใจดำเนินการตามนโยบายอาจจะมีผิดมีถูก สู้เลือกแนวทางไม่มีผิดไม่มีถูกดีกว่า

หลายคนไปดูงานที่สิงคโปร์ กลับมาก็ชมเชยสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นที่เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะการมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ เพราะเป็นการปกครองโดยพรรคการเมืองที่เด่นเพียงพรรคเดียว เช่นเดียวกับไต้หวันและเกาหลีใต้ จึงอยากให้ประเทศมีระบบการเมืองแบบเดียวกับสิงคโปร์ โดยรัฐบาลเผด็จการ พรรคประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นใบ้ไปหมดทั้งประเทศ

การมีเสถียรภาพทางการเมืองนั้น ควรจะเป็นเสถียรภาพของระบบการเมืองมากกว่าเสถียรภาพของรัฐบาล ระบบการเมืองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ควรจะเป็นระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพมากที่สุด

ระบอบการเมืองแบบเผด็จการเป็นการปกครองโดยคนคนเดียวหรือ 3 คนของประเทศไทย จะเป็นระบอบการปกครองที่มีเสถียรภาพน้อยที่สุด การมีวุฒิสภาที่แต่งตั้งพรรคพวกตัวเอง เพื่อเป็นการค้ำบัลลังก์ของตนเอง ย่อมมีความจำเป็น เพราะถึงแม้จะใช้ความได้เปรียบในระบบผู้กุมอำนาจรัฐ แต่ก็ยังไม่อาจจะเอาชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้งทั่วไปได้

การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร มีพันธะทางใจว่าตนจะต้องจัดเลือกตั้งให้พรรครัฐบาลชนะทั้งระบบเขตและระบบรายชื่อ การตั้งเป้าหมายเช่นนี้แทนที่จะมุ่งไปสู่ความโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรม สมัยนี้ทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศคอยดูอยู่ อีกทั้งโทษทางอาญามีอยู่สูง การไม่สามารถประกาศคะแนนแต่ละหน่วยได้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามีการรวมคะแนนที่มิชอบด้วยกฎหมาย

เศรษฐกิจได้ปรับตัวชะลอลงตั้งแต่มีการทำปฏิวัติรัฐประหาร ผสมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกของไทยลดลง ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับมาอีกก็คงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก คงซบเซาต่อไป โอกาสฟื้นมีน้อย

การจะอยู่หรือไปของรัฐบาลเผด็จการทหาร น่าจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่เป็นไปในทางบวก เพราะการบริหารราชการโดยข้าราชการประจำมีแนวโน้มที่จะไม่กล้าตัดสินใจ ถ้าหากสังคมแน่ใจว่ารัฐบาลเผด็จการทหารจะไม่สืบต่ออำนาจ จะปล่อยให้ประชาชนกำหนดทิศทางและชะตากรรมของตนเอง เศรษฐกิจน่าจะคึกคักขึ้นทันที การบริโภคจะมีมากขึ้น การลงทุนจะมีมากขึ้น เพราะความเสี่ยงในการที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนจะลุกฮือขึ้นต่อต้าน และถ้ามีการใช้กำลังเข้าปราบปรามจนเลือดตกยางออก ก็หมายถึงความพ่ายแพ้ทางการเมืองของฝ่ายเผด็จการทหาร

การพ่ายแพ้ทางการเมืองของฝ่ายเผด็จการทหารจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในสายตาประชาชน และประชาคมโลก ถ้าฝืนเพื่อจะต้องชนะให้ได้ก็ต้องดำเนินการอย่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม ถ้าจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดในอนาคตอันใกล้ก็ควรจะลาออกไปเสีย การกลับมาโดยใช้เล่ห์กล ใช้อำนาจรัฐ เอาเปรียบฝ่ายอื่น การสั่งองค์กรอิสระให้กระทำการหรือไม่กระทำการ รังแต่จะเกิดความเสี่ยงกับเขาเหล่านั้น

รัฐบาลอาจจะโกหกคนบางคน บางเวลาได้ แต่จะโกหกคนทั้งหมดตลอดเวลานั้น ไม่อาจจะทำได้ไปเสียเถิดเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น