นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

 

ทุก ๆ ปี ความร้อนของเดือนเมษายนในเมืองไทย มักจะมาควบคู่กับความร้อนทางการเมืองและความร้อนทางนโยบายเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของประเทศทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาคครัวเรือน รายได้จากผลิตภัณฑ์เกษตรโดยตรง หรือรายได้จากอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร รายได้จากการขนส่ง จากการค้าส่งค้าปลีก รวมทั้งการส่งออก ซึ่งมีมูลค่าประมาณร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือรายจ่ายประชาชาติและรายได้ประชาชาติ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่มองบัญชีคนจะด้าน ทุกอย่างที่กล่าวมาต่างพร้อมใจกันชะลอตัวลง

ที่ร้องเพลงออกอากาศอยู่ทุกวี่ทุกวันว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” บัดนี้ก็นานเกินรอแล้ว เข้าปีที่ 5 แล้วก็ยังมองไม่เห็นวี่แวว ไม่อยากนึกว่าถ้าอยู่ต่ออีก 4 ปี 8 ปี หรือ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นวิทยานิพนธ์จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจชาติจะเป็นอย่างไร

ถ้าเปรียบเทียบการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในอาเซียน และเกือบต่ำที่สุดในเอเชีย เป็นปรากฏการณ์ที่ประเทศไทยไม่เคยพบมาก่อน เพราะสมัยที่ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเป็นดาวรุ่งของอาเซียนและของโลก จนได้รับสมญาว่าจะเป็น “เสือตัวที่ห้า” ของเอเชีย ต่อจากไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง

แต่บัดนี้ประเทศไทยกลับกลายเป็นคนป่วยของอาเซียนแทนประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยย่ำแย่เพราะประธานาธิบดีมาร์กอส แปลงตัวจากนักประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง กลับไปเป็นรัฐบาลเผด็จการ โดยมี พล.อ.เวียร์ เป็นแม่ทัพบก คอยค้ำบัลลังก์ให้

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เห็นได้ชัดจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้า ทั้งจากภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ยังเหลือแต่ภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้น ที่จะเป็นแรงหนุนไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล ทำให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศใด ๆ ในโลกทั้งหมด ถ้านับตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา เงินไหลเข้าประเทศทั้งที่เป็นเงินได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวแล้ว เงินทุนยังไหลเข้ามาซื้อหลักทรัพย์ในรูปพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ของบริษัทมหาชน และหุ้นสามัญของบริษัทที่ถูกจัดอันดับในระดับสูง สามารถลงทุนได้

แม้ว่าจะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจปกครองประเทศที่เป็นระบอบเผด็จการทหาร แม้ว่าจะได้ออกแบบให้ดูเหมือนว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยเพราะมีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้ง “หลอก ๆ” เพราะอย่างไรเสีย การสืบทอดอำนาจเผด็จการของผู้นำคนเดิม โดยอาศัยเสียงจากสมาชิกวุฒิสภามาร่วมลงคะแนนเสียงในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นอันเชื่อได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาจะต้องยกมือลงคะแนนเสียงให้หัวหน้า คสช. ผู้ยึดอำนาจจากประชาชน จัดตั้งและสืบทอดระบอบเผด็จการต่อไปอีกวาระหนึ่ง

รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นหลังมีการประกาศผลการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ก็คงจะมีหน้าตาไม่ต่างจากรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เรามองเห็นกันอยู่

ด้วยเหตุนี้ นโยบายและมาตรการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ที่รัฐบาลประกาศออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบาย “ประชานิยม” ที่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบต่อไป เพราะเป็นมาตรการ “แจกเงิน” เพื่อการใช้จ่ายบริโภค

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ เซอร์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เสนอให้กับประเทศอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือ ตั้งงบประมาณในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือ infrastructure เช่น ถนนหนทาง ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน รวมตลอดทั้งรัฐบาลลงทุนเองในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่อาจจะไม่กำไรแต่สร้างงานได้มาก เช่น เหมืองถ่านหิน โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานผลิตเครื่องจักรขนาดหนัก โครงการท่าเรือเดินสมุทรและอื่น ๆ โดยใช้วัตถุดิบจากประเทศเมืองขึ้น และใช้ตลาดประเทศเมืองขึ้นเป็นที่ระบายสินค้าสำเร็จรูป

ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินให้ประชาชนบริโภค กลายเป็นสังคมบริโภคนิยม แทนที่จะเป็นประเทศที่เน้นการออมทรัพย์เพื่อสนับสนุนการลงทุนของตนเอง ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยนั้นยังต้องพึ่งพาเงินออมจากประชาชนอีกมาก ตรงกันข้ามกับประเทศที่เจริญ มีรายได้สูง

“เศรษฐกิจพอเพียง” ยังคงเป็นปรัชญาที่เหมาะสมกับประเทศไทยอยู่ การที่รัฐบาลนี้ใช้เงินจำนวนหลายหมื่นล้านหว่านโปรยพร้อมกับสอนให้ประชาชนระดับรากหญ้าใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ก่อให้เกิดผลอะไรกับเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่การใช้จ่ายเพื่อการลงทุน การบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างสุรุ่ยสุร่ายจะทำให้มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนและวัตถุดิบมาสนองความต้องการการบริโภคเท่านั้น เป็นการกระตุ้นให้คนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น และสนับสนุนการนำเข้าไปสร้างงานให้กับประเทศที่ผลิตของส่งมาขายให้คนไทย จะไม่ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตพัฒนาไปข้างหน้า ซึ่งต่างกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการลงทุนและการส่งออก

การเอาใจเอ็นจีโอ โดยการยกเลิกโรงไฟฟ้าที่อำเภอเทพา ที่จะใช้ถ่านหินจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกที่สุดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถวัดเขม่าและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกำมะถันได้เกือบหมด ทำให้ชาวใต้ต้องใช้ไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะต้องปั่นไฟใช้เอง หรือไฟฟ้าที่ส่งผ่านสายมาไกลจากราชบุรีที่มีความสูญเสียสูงมากเพราะระยะทางไกล เป็นเหตุให้ค่าเฉลี่ยไฟฟ้าทั่วประเทศพลอยมีราคาแพงขึ้นไปด้วย

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กและเปิด ทั้งตลาดสินค้าและตลาดเงินอย่างประเทศไทย ภาวะเศรษฐกิจขึ้นลงจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อก็เป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อของโลก แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการชะลออัตราเงินเฟ้อ โดยการเข้าไปควบคุมราคาก็ทำได้เพียงชั่วคราว เพราะต้นทุนการคลังของประเทศในการชะลอภาวะเงินเฟ้อนั้นสูงเกินกว่าสังคมจะรับได้ ขณะเดียวกันก็ไม่น่าให้เกิดการประหยัดในการบริโภคเพื่อลดความกดดันทางด้านราคา

ในทางกลับกัน ยามที่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง เศรษฐกิจชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาเหล่านี้มักจะมาพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของโลก ซึ่งขณะนี้ถูกผลักดันด้วยสภาพเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐอเมริกา ส่วนยุโรปนั้นความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลกลดลงตามลำดับที่ชะลอตัวลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก ที่เคยขยายตัวในอัตราเลข 2 หลัก ก็ขยายตัวในอัตราที่ลดลง ก็เป็นเหตุให้เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคชะลออัตราการขยายตัวลงทุกประเทศ เพียงแต่ว่าประเทศไทยอัตราการขยายตัวอยู่ในลำดับต่ำสุดของประเทศในภูมิภาค

ในขณะที่กระทรวงการคลังเห็นภัยของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงพยายามผลักดันการส่งออกและการลงทุน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองในเรื่องนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดโลก เป็นเหตุให้มีเงินร้อน หรือ hot money ไหลเข้าเพื่อหากำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เมื่อเงินดอลลาร์ไหลเข้าประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถซื้อเงินดอลลาร์ได้ทั้งหมด เพราะเมื่อซื้อคืนแล้วก็ต้องจัดการออกพันธบัตรหรือดูดซับสภาพคล่องกลับไปซื้อ จะทำให้เกิดการขาดทุนในบัญชีของธนาคาร ธนาคารจึงไม่สู้จะเต็มใจที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ไม่ขึ้นลงอย่างรุนแรง

การดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลก ค่าเงินบาทแข็งเกือบเป็นที่หนึ่งของโลก ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงของการขยายตัวของการส่งออกและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวเลขการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจของทางการจึงต้องทบทวนลดลง จากที่เคยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2562 จะเป็นร้อยละ 4 ก็ลดการคาดการณ์ลงเป็นร้อยละ 3.80

ถ้าสังเกตให้ดี ยามเศรษฐกิจขาลง หรือเศรษฐกิจยังชะลอตัว ยังไม่ฟื้นตัว การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของทางการมักจะสูงกว่าตัวเลขความเป็นจริง แต่ในยามเศรษฐกิจขาขึ้นจะกลับกัน การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมักจะต่ำกว่าความเป็นจริง

การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของทางการ จึงเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจกำลังขึ้นหรือกำลังลง ถ้าทางการทบทวนตัวเลขขึ้นจากตัวเลขการคาดการณ์ ก็แสดงว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ถ้าทางการต้องทบทวนตัวเลขลดลงจากตัวเลขการคาดการณ์ก็แสดงว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาลง เป็นอย่างนี้อยู่เสมอ

แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามเศรษฐกิจขาลงจะไม่ค่อยได้ผล รัฐบาลคงทำได้เพียงพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงเร็วเกินไป การอัดฉีดเงินควรใช้ไปในการลงทุนด้านต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว

ควรกระตุ้นการลงทุนและการส่งออกจะดีกว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เปล่าประโยชน์ เช่น การแจกเงินไปเที่ยวเมืองรอง การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย การไปเที่ยวต่างประเทศ

น่าจะคิดได้ดีกว่านี้